กลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาจะเป็นภัย ต่อความมั่นคงของพม่าได้มากเพียงใด? โดย : ลลิตา หาญวงษ์

แฟ้มภาพจากเอเอฟพี

หลังหมอกที่ปกคลุมรัฐยะไข่เริ่มจางลง ฤดูมรสุมที่กำลังจะผ่านไปพร้อมๆ กับความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาระลอกล่าสุดที่เพิ่งจะลดระดับความรุนแรงลงไปบ้าง และการปะทะทางความคิดระหว่างชาวพุทธในพม่า สื่อต่างชาติ และประชาคมโลกจะเริ่มจืดจางลง เราก็จะเริ่มเห็นการรายงานข่าวที่ใช้หลักการและเหตุผลเป็นตัวตั้งมากขึ้น และเริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธของชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่เพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ใหม่ๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ในขณะที่ชาวพุทธในพม่าส่วนใหญ่เหมารวม (stereotype) ว่าชาว “โรฮีนจา” คือผู้อพยพจากบังกลาเทศที่อพยพเข้ามาในรัฐยะไข่ทางตะวันตกเฉียงหนือของพม่าอย่างผิดกฎหมาย และพยายามผลักให้คนมุสลิมหน้าแขกๆ กลุ่มนี้เป็น “เบงกาลี” มากกว่า “โรฮีนจา” ชาวโรฮีนจากลับมองว่าตนมิใช่ผู้อพยพผิดกฎหมาย หากแต่บรรพบุรุษของพวกตนเข้ามาตั้งรกรากในรัฐยะไข่หลายชั่วคน บางครอบครัวมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าบรรพบุรุษเคยทำงานเป็นข้าราชการให้กับรัฐบาลอังกฤษในยุคอาณานิคม หรือเคยเป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่งในรัฐยะไข่หรือตามเมืองใหญ่ๆ ในพม่ามาก่อน

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธในพม่าหวาดกลัวและเกลียดชังชาวโรฮีนจามากขึ้น นอกจากจะเกิดจากอคติด้านชาติพันธุ์และศาสนาที่มีอยู่ก่อนแล้ว ยังมาจากการปรากฏตัวของกลุ่มติดอาวุธของชาวโรฮีนจาในนาม “อาร์ซา” (ARSA) หรือกองกำลังปลดปล่อยชาวอาระกันโรฮีนจา (Arakan Rohingya Salvation Army) ชื่อของ ARSA นี้เป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งปรากฏขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม เมื่อมีกองกำลังติดอาวุธซุ่มโจมตีป้อมตำรวจและกองกำลังรักษาดินแดนของพม่าถึง 30 แห่ง เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารฝั่งพม่าเสียชีวิตถึง 12 คน เรียกได้ว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจและท้าทายอำนาจรัฐมากที่สุดในรอบหลายปี เมื่อข่าวการลอบโจมตีกองกำลังฝั่งพม่ากระจายออกไปและสังคมพม่าทราบแน่ชัดว่าเป็นฝีมือของกองกำลังโรฮีนจา กองทัพและประชาชนชาวพุทธในยะไข่จึงโต้ตอบโดยการบุกเผาทำลายและสังหารชาวโรฮีนจา จนมีชาวโรฮีนจาเสียชีวิตหลายร้อยศพ ฝ่ายชาวพุทธในยะไข่ยืนยันว่าการกระทำนี้เป็นการโต้ตอบการกระทำของกบฏชาวโรฮีนจา และเพื่อป้องกันตนเองจากภัยก่อการร้าย

คำว่า “การก่อการร้าย” ผุดขึ้นมาและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสังคมพม่า การกวาดล้างชาวโรฮีนจาที่เกิดจาก “ความหวาดกลัวภัยก่อการร้าย” นี้ ทำให้ชาวโรฮีนจาถึง 5 แสนคน ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ ทั่วโลกให้ความสนใจสถานการณ์การไหลออกครั้งใหญ่ (exodus) ของชาวโรฮีนจาในคราวนี้ และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมากเป็นพิเศษ จนทำให้ประเด็นปัญหาเรื่องความมั่นคงของพม่าและการก่อการร้ายกลายเป็นประเด็นรองลงไป เมื่อไม่นานมานี้ สื่อและนักวิชาการต่างชาติเริ่มพูดถึงขบวนการก่อการร้ายในพม่ามากขึ้น และเป็นที่มาของคำถามสำคัญว่า ARSA จะเป็นภัยต่อความมั่นคงในพม่าได้จริงหรือ

กลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อปรากฏการซุ่มโจมตีป้อมตำรวจไม่ต่างกับในปีนี้ แต่ดูเหมือนว่าการลอบโจมตีกองกำลังของพม่าในปีนี้จะมีความรุนแรงมากกว่าหลายเท่าตัว สังคมพม่าหวาดกลัวเป็นพิเศษว่า ARSA จะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรก่อการร้ายระดับโลกอื่นๆ ทั้งอัลกออิดะห์ และกลุ่มรัฐอิสลามไอเอส รัฐบาลพม่าเชื่อว่าการลอบโจมตีกองกำลังพม่าและการสังหารชาวพุทธในรัฐยะไข่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามตั้ง “รัฐอิสลาม” ขึ้นในรัฐยะไข่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 2 เมือง ได้แก่ เมืองหม่องด่อ และบูตีด่อง

Advertisement

ในขณะเดียวกัน ARSA ที่นำโดยอะตาอุลเลาะห์ อาบู อามาร์ จูนูนี หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “อะตา อุลเลาะห์” ชาวโรฮีนจาที่เกิดและเติบโตที่ปากีสถานและซาอุดีอาระเบีย ก็ออกมาปฏิเสธว่า ARSA มิได้มีความสัมพันธ์หรือได้รับการสนับสนุนจากองค์กรก่อการร้ายนอกประเทศ และยืนยันว่าการโจมตีกองกำลังพม่ามีขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลพม่าและทั่วโลกหันมาสนใจสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในหมู่ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ที่รังแต่จะย่ำแย่ลง และต้องการให้รัฐบาลพม่าคืนสัญชาติให้กับชาวโรฮีนจาทุกคน แต่แม้ผู้นำ ARSA จะออกมายืนกรานว่ากลุ่มของตนมิได้มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายอิสลามอื่นๆ แต่เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักหนังสือพิมพ์ที่คร่ำหวอดในวงการการเมืองเรื่องชาติพันธุ์ในพม่าอ้างรายงานลับชิ้นหนึ่งว่า อะตา อุลเลาะห์มีความสัมพันธ์กับขบวนการก่อการร้ายภายนอกพม่าอย่างแน่นอน

คำถามต่อมาคือ สังคมพม่าควรจะตื่นกลัวกับกลุ่ม ARSA มากน้อยเพียงใด และการก่อการร้ายครั้งใหญ่เกิดขึ้นได้หรือไม่ในพม่า? ในอันที่จริง ขบวนการติดอาวุธของชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่มีมาหลายสิบปีแล้ว แต่ที่เพิ่งกลายเป็นปัญหาสร้างความหวาดวิตกให้ชาวพุทธทั้งในรัฐยะไข่และทั่วพม่า ก็เพราะการลอบโจมตีกองกำลังพม่าทั้งในปี 2016 และ 2017 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระแสฝ่ายขวาที่มาแรงทั่วโลก และการเข้ามาของรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซูจี ซึ่งทำให้ชาวพม่ามีเสรีภาพในการแสดงความคิดมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การปลุกปั่นและการกระตุ้นความเกลียดชังชาวมุสลิมในรัฐยะไข่จึงเกิดขึ้นในวงกว้างและรวดเร็ว และรัฐบาลเองก็มิได้สกัดกั้นหรือห้ามปรามการปลุกกระแสให้เกลียดชังชาวโรฮีนจาจนนำไปสู่การสังหารหมู่ดังกล่าว

ในปัจจุบัน ARSA มีกำลังพลน้อยมาก น่าจะไม่เกิน 500 คน และไม่ได้เป็นนักรบที่ผ่านการฝึกทางการทหารอย่างดีเหมือนกับขบวนการก่อการร้ายอื่นๆ แต่ถึงกระนั้น ลินท์เนอร์ตั้งข้อสังเกตว่านักรบ ARSA แทรกซึมเข้าไปปะปนกับชาวโรฮีนจาและค่อยๆ บ่มเพาะความเกลียดชังให้กับหนุ่มสาวโรฮีนจาเพื่อลุกขึ้นมาสู้กับพม่า เราไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนที่ความรุนแรงระลอกใหม่จะเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ แต่หากความชิงชังรัฐบาลและกองทัพพม่าสุกงอมเต็มที่พร้อมๆ กับแนวคิดในการทำสงครามศาสนา หรือญิฮาด ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮีนจา เราอาจจะได้เห็นความรุนแรงครั้งใหม่ในอีกไม่นาน หากแต่กองทัพพม่าแตกต่างจากกองทัพในประเทศอื่นตรงที่หน่วยสืบราชการลับ หรือ “MI” ของพวกเขามีประสิทธิภาพสูงมาก และให้ความสำคัญกับการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” มากกว่าปรัชญา “วัวหายล้อมคอก” โอกาสที่ ARSA จะแทรกซึมเข้าไปและก่อการร้ายแบบเต็มรูปแบบคงจะเกิดขึ้นได้ยาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image