ดุลยภาพดุลยพินิจ : คาถา เย ธัมมาฯ วันพระสารีบุตร : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 หรือวันเพ็ญเดือน 12 นี้เป็นวันคล้ายวันปรินิพพานของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาแห่งพระพุทธองค์

แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันที่หลายชนชาติได้สืบประเพณีลอยกระทงด้วยความตั้งใจดีต่างๆ แต่ก็นับว่ามีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนาด้วย

พระสารีบุตรเป็นพุทธสาวกที่เป็นเลิศในหลายด้านรวมทั้งในทางกตัญญู ดังในประวัติของท่านที่รำลึกถึงผู้มีพระคุณและได้เดินทางไปโปรดมารดาของท่านให้บรรลุโสดาปัตติผลในวันปรินิพพาน

วันนี้จึงเป็นวันที่เหมาะแก่การแสดงความกตัญญูที่พึงมีต่อบิดา มารดา ครอบครัว ชุมชนและสังคมที่ได้เกื้อกูล รวมทั้งการรำลึกถึงพระพุทธคุณ การสร้างคุณความดีและการสนทนาธรรมที่ก่อให้เกิดปัญญาและความรู้

Advertisement

พระสารีบุตรเป็นพุทธสาวกผู้เป็นเลิศทางปัญญา ในขณะที่ในทางพระพุทธศาสนานั้นสัมมาทิฏฐิเป็นมรรคปัญญาซึ่งจำเป็นสำหรับการทำให้การปฏิบัติทั้งหลายพัฒนาไปถูกทาง

การสืบทอดพระพุทธศาสนาจึงต้องอาศัยการเผยแผ่ปัญญาให้อริยมรรคดำรงอยู่ต่อไป

ท่านได้ฟังหลักพุทธธรรมเป็นครั้งแรกจากพระอัสสชิซึ่งเป็นท่านหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ และส่งผลให้ท่านเกิดดวงตาเห็นธรรมและบรรลุโสดาปัตติผล

Advertisement

หลักธรรมนี้เป็นหลักธรรมโดยย่อเรียกว่าคาถา เย ธัมมาฯ ซึ่งต่อมาถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

นับแต่โบราณกาล ชาวพุทธมักจารึกคาถานี้ไว้ที่พุทธศาสนวัตถุเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา เช่น นิยมแสดงไว้ที่พระพุทธพิมพ์แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์หรือกรุต่างๆ เป็นต้น

คาถาเย ธัมมาฯ มีข้อความบาลีคือ


“เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา   เตสํ เหตํ ตถาคโต อาห
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ     เอวํ วาที มหาสมโณ”

โดยมีคำแปลว่า “ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสแสดงเหตุและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้ ฯ”

เรามักรับทราบถึงข้อความในคาถานี้ด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจว่าเป็นข้อความโบราณที่แสดงความเป็นเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ความศรัทธาอาจทำให้ลูกหลานชาวพุทธมิได้สนใจนักว่าทำไมหลักธรรมดังกล่าวจึงสามารถทำให้บุคคลหนึ่งบรรลุพระโสดาปัตติผลได้โดยฉับพลันราวปาฏิหาริย์เช่นนั้น

ทำไมนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเชื่อเรื่องเหตุและผลรวมทั้งการเกิดและการตายของชีวิตจึงไม่บรรลุธรรมบ้าง

บุคคลต้องเห็นธรรมแบบไหนจึงจะเข้าสู่กระแสแห่งบรมธรรม

ผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนาคงทราบเหตุผลดีแต่ท่านมักอธิบายอย่างย่อๆ อย่างผู้ที่รู้แล้ว

เช่นอธิบายว่าเมื่ออุปติสสมานพหรือพระสารีบุตรก่อนอุปสมบทได้ฟังแล้ว ก็เห็นว่าทุกสิ่งมีเกิดและมีดับเป็นธรรมดา อันเป็นภาวะอนิจจัง

คาถานี้มีความน่าสนใจว่าทำไมจึงโดนใจท่านและทำให้ท่านมีดวงตาเห็นธรรมรวดเร็วยิ่ง

ในทางพระพุทธศาสนา การบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลเช่นพระโสดาบันเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง แต่สามารถบรรลุได้ตราบใดที่อาศัยอริยมรรค

ส่วนการบรรลุธรรมได้เร็วหรือช้าก็มีสาเหตุที่ตอบได้

หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ ได้อธิบายไว้ชัดว่าปัจจัยที่เมื่อบรรจบพบกันจะทำให้บุคคลบรรลุธรรมมี 3 ประการ ได้แก่ บุพเพกตปุญญตา (บุญบารมีที่มีมาแต่ก่อนว่าเป็นอย่างไร) สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) และสัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ)

โดยบุคคลจำนวนหนึ่งสามารถบรรลุธรรมได้เร็ว เรียกว่า อุคฆฏิตัญญู ซึ่งเปรียบเสมือนดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว รอเพียงแค่แสงสว่างที่จะทำให้เกิดการเบ่งบานขึ้นมา

ในพระมหาสติปัฏฐานสูตร การเจริญจิตให้เกิดสติ สัมปชัญญะและความเพียรในการลดละกิเลส ก็คือการเดินมรรคเข้าสู่สัมมาทิฏฐิและสัมมาวายามะทั้งสองปัจจัยนี้นั่นเอง

เรื่องบุญบารมีที่มีมาแต่ก่อน ชาวพุทธมักเห็นว่าการบรรลุธรรมของบุคคลจำนวนมากในสมัยพุทธกาลเป็นเพราะมีบุญบารมีสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติ ทำให้บุคคลเหล่านั้นเข้าใจธรรมได้อย่างกระจ่างแจ้งโดยเร็วหรือทำให้ได้รับคำสอนที่ตรงอุปนิสัยจากพระพุทธองค์โดยตรง

ที่จริงแล้ว พระพุทธศาสนามีการอธิบายถึงบุพเพกตปุญญตาโดยรวมถึงบุญบารมีที่กระทำไว้ก่อนหน้านั้นในชาติปัจจุบันด้วย มิใช่หมายเฉพาะในอดีตชาติเท่านั้น

การอธิบายเช่นนี้น่าเชื่อถือมากเพราะพระพุทธศาสนามิใช่ลัทธิกรรมเก่า

โดยประวัติแล้ว อุปติสสมานพเกิดในตระกูลพราหมณ์และสนใจแสวงหาโมกขธรรมแห่งการหลุดพ้น จึงเข้าศึกษาในสำนักของสัญชัยปริพาชก แต่ก็ไม่เชื่อมั่นจึงได้หันไปหาสำนักอื่นๆ จนพบกับพระอัสสชิ

ในยุคสมัยนั้น พราหมณ์จำนวนไม่น้อยศึกษาพระเวทแล้วกลับหันไปสนใจแสวงหาโมกขธรรม สำนักที่สนใจโมกขธรรมก็มีเป็นจำนวนมาก สำนักเหล่านั้นขาดวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องและมักเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นผู้ตัดสินว่าผู้ใดจะบรรลุโมกขธรรมได้หรือไม่และเมื่อใด จำนวนหนึ่งเช่นพระปัญจวัคคีย์เชื่อว่าสามารถรอคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะอุบัติขึ้นก็ได้

บางสำนักที่มีวิธีปฏิบัติสืบทอดมาก่อนยุคพระเวทหรือตั้งแต่ยุคอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุมักเน้นการเจริญฌาน เช่นสำนักของท่านอาฬารดาบส ท่านอุทกดาบส นิครนถ์กุมารบุตรและนิครนถ์นาฏบุตรซึ่งสืบสายจากนิครนถ์กุมารบุตร

ส่วนพวกปริพาชกเป็นผู้ถือศีล ว่ากันว่าแต่งกายเรียบร้อย มีการเกล้าผม ไม่ปล่อยกายเปลือยหรือรกรุงรัง และสนใจการตระเวนประชันปรัชญาความรู้

เมื่ออุปติสสปริพาชกอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกซึ่งไม่เชื่อว่าสรรพสิ่งมีแก่นสารอันใด สำนักนี้มีการเจริญฌานหรือไม่นั้นไม่มีการระบุไว้ แต่ก็มีการเจริญฌานในหมู่พวกปริพาชกบางส่วน

แคว้นมคธเป็นแคว้นที่เจริญทางการค้า มีผู้สัญจรพบปะกันมาก และอยู่ใกล้กับเขตรอบนอกของชาวอารยัน ซึ่งเป็นแหล่งของดาบส มุนีหรือพราหมณ์โบราณที่แสวงหาโมกขธรรม

สำนักของท่านอาฬารดาบสอยู่ในป่าแคว้นมคธ สำนักของท่านอุทกดาบสอยู่ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ สำนักของนิครนถ์กุมารบุตรเป็นที่นับถือทั้งในแคว้นมคธและแคว้นใกล้เคียง

การเจริญฌานน่าจะเป็นที่สนใจปฏิบัติกันมากสำหรับผู้แสวงหาโมกขธรรมดังกล่าว

การสันนิษฐานว่าอุปติสสปริพาชกได้ฝึกฝนการเจริญฌานมาบ้างแล้วจึงน่าจะรับฟังได้

พื้นฐานที่พร้อมทางด้านศีลและสมาธิช่วยให้ท่านเกิดธรรมจักษุเมื่อได้ฟังคาถาพระอัสสชิ

ถ้าเราพิจารณาปัจจัยด้านสัมมาทิฏฐิ ความน่าสนใจก็มีมากทีเดียว เพราะสำนักปริพาชกและสำนักอื่นๆ เป็นสำนักที่มีมิจฉาทิฏฐิ อาจจะหนักบ้าง เบาบ้าง

พวกปริพาชกอาจมีมิจฉาทิฏฐิไม่มากเท่าพวกนิครนถ์และพวกอเจลกหรือชีเปลือย แต่ก็ถูกจัดว่ามีความเชื่อในทางมิจฉาทิฏฐิ

อุปติสสมานพในขณะนั้นไม่เลื่อมใสในคำสอนของสัญชัยปริพาชกแล้วและกำลังค้นหาแนวทางที่ถูกต้อง คงมิได้มีมิจฉาทิฏฐิที่แน่นหนากีดขวางทางธรรมของท่าน ท่านมีความรอบรู้และผ่านคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อารยันโดยไม่ยึดถือแล้ว

ในยุคสมัยนั้น บางสำนักเชื่อว่าตายแล้วสูญ ชีวิตมีอยู่เพื่อความสุขความเพลิดเพลิน บางสำนักเชื่อว่ามีการเวียนว่ายตายเกิดแต่ขึ้นอยู่กับคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า บางสำนักเชื่อเรื่องกรรม แต่ไม่มีการกล่าวถึงเหตุปัจจัยของกรรม บางสำนักเชื่อว่าแม้กายจะไม่เที่ยง ทว่าจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่เที่ยงเป็นนิรันดร์ ไม่มีสำนักใดที่แสวงหาโมกขธรรมโดยเห็นว่าจิตมีความไม่เที่ยง

ในฐานะที่เป็นนักบวชปริพาชก ท่านคงผ่านวิวาทะและศึกษาความเชื่อเหล่านี้มามากเช่นกัน

เมื่อท่านฟังคาถาจากพระอัสสชิอย่างมีสมาธิและด้วยความฉลาดหลักแหลม จึงเกิดปัญญาญาณขึ้นมาว่าการเกิด การดับและการเวียนว่ายตายเกิดต่างย่อมมีเหตุ กรรมย่อมมีเหตุ จิตเป็นสิ่งที่ดับลงได้เมื่อเหตุปัจจัยดับลง สรรพสิ่งรวมไปถึงแม้กระทั่งจิตจึงเป็นอนิจจัง ไม่คงทนถาวร

เป็นความตื่นรู้ด้วยความเชื่อมั่นว่าได้พบแนวทางแห่งการหลุดพ้นแล้ว เพราะในยุคนั้นไม่มีลัทธิใดเลยที่กล่าวถึงเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งวิธีการที่จะดับหรือหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ด้วย

การเกิดสัมมาทิฏฐิในขั้นของดวงตาเห็นธรรมต้องมีการน้อมเอาเหตุปัจจัยและความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งที่น้อมรับรู้เข้ามาที่ตนเอง ซึ่งเรียกว่า โอปนยิโก

เกิดปัญญาภายในจิตที่เห็นสภาวะตามความเป็นจริง เห็นทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ เห็นการละหรือดับไปของทุกข์

ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อลี ธัมธโร เคยอธิบายว่าดวงตาเห็นธรรมเป็นภาวะที่จิตเห็นทั้งส่วนที่เป็นการเกิดและดับและส่วนที่ยังไม่เกิดและยังไม่ดับ กล่าวคือเห็นทั้งด้านที่เป็นโลกุตระและโลกียะ อันเป็นญาณที่เรียกว่าโคตรภูญาณ

ในวิปัสสนาญาณ โคตรภูญาณเป็นภาวะที่จิตกำลังข้ามออกจากโลกียะสู่โลกุตระ ลำดับต่อไปจะเป็นมัคคญาณและผลญาณสู่ความเป็นโสดาบัน

นั่นคือ ปกติบุคคลจะเกิดดวงตาเห็นธรรมก่อนแล้วจึงบรรลุโสดาปัตติผล

การสร้างคุณความดีและการตระหนักถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งเป็นการเรียนรู้ที่สาธุชนสามารถได้รับจากประวัติของพระสารีบุตรและหลักธรรมของพระพุทธองค์ซึ่งมีคาถาเย ธัมมาฯ เป็นตัวอย่างอันลึกซึ้ง

การเรียนรู้ที่ทำให้จิตเห็นอนิจจังอยู่เสมอจะช่วยให้บุคคลเห็นความน่ารังเกียจและความน่าเบื่อหน่ายของสภาวะต่างๆ มากขึ้น

ซึ่งจะช่วยขัดเกลาตัณหาหรือความทะยานอยากได้

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image