รื้อกองขยะ/รื้อบ่อขยะ : โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

กว่า 20 ปีของการทำงานในแวดวงขยะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว พบกับการมีส่วนร่วมและการต่อต้านคัดค้านแม้กระทั่งการข่มขู่นานารูปแบบ ปัญหาขยะจึงไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิชาการหรือปัญหาทางเทคนิค มันรวมเอาปัญหาเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาการเมือง

ภารกิจแรกของแผนที่เส้นทางหรือ Roadmap การจัดการขยะ คือจัดการกับขยะตกค้างสะสมในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะ 6 จังหวัดที่ถูกระบุว่ามีขยะตกค้างสะสมมากในลำดับต้นๆ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครปฐม สระบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ในเดือนสิงหาคม 2557 จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถูกจัดให้เป็นจังหวัดนำร่องการจัดการขยะในระยะเร่งด่วน โดยการสั่งปิดกองขยะที่ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จัดการรื้อกองขยะเก่าที่มีปริมาณขยะสะสมมานับสิบปีมากกว่า 160,000 ตัน ขนย้ายไปฝังกลบในสถานที่ฝังกลบที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ในตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล ซึ่งมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะในระยะต่อไปโดยรัฐบาลมอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับผิดชอบในการลงทุนและดำเนินการ เพื่อให้เป็นศูนย์จัดการขยะต้นแบบ

สำหรับจังหวัดสมุทรปราการที่มีขยะตกค้างสะสมในบ่อขยะขนาดใหญ่ของเอกชนถึง 3 แห่งในพื้นที่ตำบลแพรกษาและตำบลแพรกษาใหม่ กรมควบคุมมลพิษได้ประเมินว่าปริมาณขยะตกค้างสะสมรวมกันมากกว่า 10 ล้านตัน มากเพียงพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ดังนั้น การจัดการขยะตกค้างสะสมที่นี่จึงต่างจากพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นเพียงการย้ายกองขยะสะสมไปกำจัดในที่ฝังกลบใหม่ ส่วนที่สมุทรปราการเป็นการดำเนินการโดยเอกชนโดยรื้อบ่อขยะด้วยเครื่องจักร เครื่องร่อนและสายพานคัดแยก นำเอาขยะส่วนที่เผาไหม้ได้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า

การรื้อแบบนี้จะต้องมีเครื่องจักรที่ทำหน้าที่แยกขยะโดยทั่วไปจะใช้อุโมงค์ร่อน Trommel Screen หรือแท่นตะแกรงร่อน Vibrating Screen

Advertisement

แรกทีเดียววัตถุประสงค์ของการรื้อหลุมขยะเก่าคือการยืดอายุการใช้งานของพื้นที่ฝังกลบ เป็นการรื้อเพื่อคัดแยกวัสดุที่ยังพอนำเอาไปรีไซเคิลได้กับขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายแล้วไปใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินหรือ Soil Conditioner (ไม่เรียกว่าปุ๋ย เพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน) เมื่อวัสดุเหล่านี้ถูกแยกออก ขยะส่วนที่เหลือที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้จะถูกนำกลับไปกลบในพื้นที่เดิม ทำให้ได้พื้นที่สำหรับการฝังกลบกลับคืนมา การรื้อหลุมขยะแบบนี้เรียกว่าการฟื้นฟูสถานที่ฝังกลบ Site Rehabilitationเคยดำเนินการมาแล้วหลายแห่ง เช่น สถานที่ฝังกลบของเทศบาลนครหาดใหญ่ในช่วงปี 2540-2541 ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและการออกแบบจากกรมควบคุมมลพิษ

และต่อมาดำเนินการอีกครั้งในระหว่างปี 2547-2548 สถานที่ฝังกลบของเทศบาลนครสงขลาด้วยความช่วยเหลือของหน่วยงาน Danida ประเทศเดนมาร์ก ในช่วงปี 2546-2549 และในปี 2550 สถานที่ฝังกลบของเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อใช้พื้นที่ฝังกลบเดิมก่อสร้างอาคารสำหรับโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน

การรื้อกองขยะเพื่อนำเอาขยะไปใช้ประโยชน์ เช่น ในกรณีของบ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ เหมือนกับการทำเหมือง คือการขุดเอาแร่ไปใช้ประโยชน์ เราจึงเรียกการรื้อกองขยะเช่นนี้ว่า Landfill Mining หรือการทำเหมืองจากบ่อขยะ ส่วนการรื้อแล้วร่อนเอาขยะเก่าออกเพื่อเอาพื้นที่ฝังกลบกลับคืนมาใช้ประโยชน์เรียกว่า Landfill Rehabilitation เช่น กรณีของเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครสงขลาและเทศบาลนครนครราชสีมา

Advertisement

การรื้อเพื่อคัดเอาวัสดุมาใช้ประโยชน์หรือ Landfill Mining ควรมีโครงการต่อเนื่องให้สอดคล้องกับการร่อนและแยกวัสดุเหล่านั้นออกมา เช่น โครงการปรับคุณภาพวัสดุปรับปรุงดินให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้สามารถนำไปใช้สำหรับภาคการเกษตรได้ หรือโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับวัสดุที่เผาไหม้ได้ที่แยกออกมา ประโยชน์ที่ได้จากโครงการต่อเนื่องจะช่วยทดแทนต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการรื้อ ส่วนการรื้อเพื่อเอาพื้นที่กลับคืนก็จะได้ผลตอบแทนที่สามารถยืดอายุการใช้งานพื้นที่ฝังกลบออกไป

จากการรื้อบ่อขยะในหลายพื้นที่ พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพของการรื้อร่อนคือ สภาพอากาศในระหว่างการทำงาน ไม่ควรทำงานในช่วงฝนตกหรือวางแผนทำงานในฤดูฝน เพราะน้ำและความชื้นของขยะและดินทำให้เครื่องจักรไม่สามารถแยกวัสดุและดินได้ ผลผลิตที่ได้รับก็จะมีความชื้นมากไม่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน หรือหากต้องทำงานในช่วงฤดูฝนก็ต้องวางแผนให้เครื่องร่อนอยู่ในอาคาร

อีกปัจจัยหนึ่งคือ วิธีการฝังกลบและประเภทของดินที่ใช้กลบขยะ หากการฝังกลบใช้ดินเหนียวปิดคลุมขยะรายวัน การคัดแยกขยะด้วยเครื่องจักรจะทำได้ยาก วัสดุที่คัดแยกก็มีดินปนเปื้อนมาก กรณีเช่นนี้ ต้องใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนดำเนินการสูงขึ้นเช่นกัน

การรื้อกองขยะนอกจากจะมีต้นทุนแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกด้วย ในระหว่างการรื้อจะพบกับปัญหาน้ำเสีย ฝุ่นและกลิ่น ดังนั้นการทำโครงการไม่ว่าจะเป็น Landfill Mining หรือ Landfill Rehabilitation จะต้องมีการสำรวจ ศึกษาออกแบบ กำหนดวิธีการทำงานวางแผนปฏิบัติการ และกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบ หากการรื้อเพื่อนำขยะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงก็ต้องมีโครงการต่อเนื่องรองรับที่แน่นอน หรือทำสัญญากับผู้ต้องการใช้ด้วยระยะเวลาที่เหมาะสมคุ้มกับต้นทุน

แผนที่เส้นทาง Roadmap ได้กล่าวถึงการจัดการกับขยะตกค้างสะสม เร่งรัดให้ท้องถิ่นยกเลิกการเทกอง และตั้งงบประมาณเพื่อการรื้อร่อนขยะ แต่มีเพียงคำบอกเล่าว่าภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการ ขายได้ หรือจะมีโรงไฟฟ้าที่ต้องการขยะเป็นเชื้อเพลิง เวลานี้ มีท้องถิ่นหลายแห่งจัดงบประมาณรื้อกองขยะเพื่อผลิตเชื้อเพลิง RDF และหลายท้องถิ่นได้รับงบประมาณให้ก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักรผลิตเชื้อเพลิง RDF จากขยะโดยที่ยังไม่เห็นโครงการต่อเนื่อง หรือไม่มีการทำสัญญากับผู้ที่ต้องการใช้

การรื้อกองขยะโดยไม่มีแผน ไม่มีการศึกษา ไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กำลังสร้างปัญหาใหม่ให้กับวงการขยะของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่มีเตาเผาทิ้งร้างเป็นซากอยู่ในท้องถิ่นและเขตอุทยานแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image