‘ซีนิค มาราธอน จันทบุรี 2017’ พิชิตเส้นทางด้วยสองขา เก็บภาพประทับใจด้วยสองตา พาหมูดุดคืนถิ่น

เมื่อกระแสคนรักสุขภาพเริ่มมาแรงขึ้น การวิ่งมักเป็นกีฬาชนิดแรกที่ถูกนึกถึงเพราะทำได้ง่ายและไม่อาศัยอุปกรณ์มาก จนหลายคนเริ่มหลงใหลวิ่งไปไกลอย่างกู่ไม่กลับ บางคนต้องวิ่งทุกวันไม่อย่างนั้นเป็นอันหงุดหงิด บางคนข้ามขั้น ยอมเสียทั้งเงิน ทั้งเวลา เพื่อลากสังขารตัวเองออกไปยังงานวิ่งในยามเช้าวันพักผ่อน ประชากรนักวิ่งเริ่มก่อตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับงานวิ่งยามเช้าวันอาทิตย์ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดไม่สนฤดู นักวิ่งต่างฉุดตัวเองลุกขึ้นจากเตียงตั้งแต่เช้ามืด ยืดเส้นยืดสาย พร้อมใบหน้างัวเงียก่อนจะขยับเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มพร้อมสู้เลนส์กล้องของช่างภาพก่อนออกตัว

บรรยากาศเหล่านี้เกิดขึ้นอีกครั้งที่งาน “ซีนิค มาราธอน จันทบุรี 2017” ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่งทางบริษัท เรซอัพ เวิร์ก จำกัด ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้ผลักดันให้เป็นการวิ่งเชิงท่องเที่ยวที่สอดแทรกแนวคิดอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งงานนี้มีสโลแกนว่า “พิชิตเส้นทางด้วยสองขา เก็บภาพประทับใจด้วยสองตา” บนเส้นทางอันงดงามของถนนเฉลิมบูรพาชลทิตริมทะเลตะวันออก นักวิ่งจะได้รับชมทั้งวิวภูเขาและทะเลสลับกันตลอดเส้นทาง และปิดท้ายด้วยภาพพระอาทิตย์ขึ้นพอดีที่เส้นชัยหากเราวิ่งเร็วพอ

นอกจากการวิ่งเชิงท่องเที่ยวจะช่วยฟื้นฟูความอ่อนล้าให้ร่างกายและจิตใจแล้ว นักวิ่งทุกคนจะได้รับเหรียญและกระเป๋าผ้าลายหมูดุด หรืออีกชื่อหนึ่งที่เราคงคุ้นหูกว่าคือ พะยูน ที่จริงแล้วพะยูนยังมีอีกหลายชื่อที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น หมูน้ำ วัวทะเล เงือก ดูหยง หรือดูกอง และเงินส่วนหนึ่งจะได้ช่วยสมทบฟื้นฟูชีวิตให้พะยูนในโครงการอนุรักษ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกด้วย อาจเป็นเพราะพะยูนมีรูปร่างหน้าตาที่น่ารักและน่าสงสารในคราวเดียวกันหรืออย่างไรไม่ทราบ การได้ช่วยเหลือมันทำให้เรารู้สึกจั๊กจี้หัวใจไม่น้อย ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันจำนวนพะยูนได้ลดลงไปเรื่อยๆ จากอดีตมีพะยูนกว่า 1,000 ตัว แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 250 ตัว โดยธรรมชาติพะยูนจะออกลูกได้คราวละไม่มากและยังมีช่วงเว้นห่างในการตั้งท้องแต่ละครั้งถึง 3-7 ปี อีกทั้งมลพิษที่ถูกปล่อยทิ้งและการทำประมงอวนรุนได้ทำลายหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของพะยูน หรือพะยูนบางตัวที่โชคร้ายก็ถูกเรือชนจนต้องด่วนจากโลกนี้ไป

Advertisement

จากจำนวนประชากรพะยูนที่ถดถอย ประกอบกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มักเชื่อว่าของหายากนั้นมีค่ายิ่ง พะยูนจึงถูกล่าเพื่อกินเนื้อด้วยความเชื่อเรื่องยาโด๊ป น้ำมันใช้ทาแก้ปวดเมื่อย น้ำตาใช้เป็นยาเสน่ห์ เขี้ยวใช้ทำหัวแหวน ส่วนกระดูกใช้เป็นเครื่องราง หรือนำมาฝนผสมกับมะนาวใช้กินแก้พิษจากการถูกเงี่ยงของปลาแทง คงไม่เกินไปนักหากกล่าวว่า พะยูนถูกมนุษย์แยกทุกชิ้นส่วนไม่เหลือไว้แม้แต่เศษเสี้ยวชีวิต

ย้อนกลับมาที่เรื่องงานวิ่ง คณะผู้จัดได้เล็งเห็นว่าทางกฎหมายอย่างเดียวคงไม่สามารถอนุรักษ์พะยูนไว้ได้ สิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วยคือ การให้ความรู้ ความเข้าใจ โดยเน้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับพะยูนมากที่สุด

Advertisement

“เราเน้นให้นักวิ่งและชุมชนได้ประโยชน์ รวมถึงการอนุรักษ์หมูดุดก็สำคัญ การได้มาเห็นธรรมชาติจริงๆ จะสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากอนุรักษ์ไว้ อย่างน้อยก็เพื่อที่จะได้มีวิวสวยๆ ให้วิ่งมองต่อไปในอนาคต” นายอลงกรณ์ เจียมอนุกูลกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท เรซอัพ เวิร์ก จำกัด ได้บอกเล่าถึงทรรศนะเบื้องหลังของงานนี้

เนื่องจากมีนักวิ่งกว่า 4,000 คน ที่พักใกล้ๆ ต่างเต็มแน่นเอี้ยดในคืนก่อนแข่ง บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความครึกครื้น ท่ามกลางสายลมโชยอ่อนริมชายหาด พ่อค้าแม่ค้าต่างเข็นรถเข็นมารายล้อมงานเพื่อความมั่นคงทางอาหารของนักวิ่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ยังได้เสริมสร้างความร่วมมือของนักเรียน นักศึกษา ที่คอยบริการตามจุดให้น้ำ รวมถึงคนในพื้นที่ที่คอยให้กำลังใจตามสองข้างทาง ซึ่งทุกคนได้แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพในการต้อนรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

“จ.จันทบุรีนับตั้งแต่ชายทะเลขึ้นมา มีทะเล ภูเขา และป่าไม้ที่สำคัญ เรียกได้ว่ามีธรรมชาติครบครัน อยากให้ทุกคนได้รู้จัก งานนี้นอกจากทุกคนจะได้ออกกำลังกายแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งยังได้ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติของพวกเราไว้ ทุกคนได้รับประโยชน์ ที่พักใกล้ๆ ก็เต็ม คนมาจับจ่ายในพื้นที่มากขึ้น” นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวชื่นชมการจัดงานในครั้งนี้

พูดได้อย่างเต็มปากว่า งานนี้นอกจากนักวิ่งจะได้ออกกำลังกาย พร้อมๆ กับการท่องเที่ยวในบรรยากาศคึกคักของคนรักสุขภาพแล้ว ทุกคนยังได้ช่วยเหลือต่อชีวิตฝูงหมูดุด และได้ร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image