สิ่งที่น่ากลัวกว่าเทคโนโลยี”ดิจิทัล” : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

การมาถึงของเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับกันจ้าละหวั่น จากพฤติกรรม “ผู้บริโภค” ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้าไม่อยากโดนกลืนหายไปในคลื่นสึนามิ “ดิจิทัล” ก็ต้องปรับตัวปรับองค์กร บริษัทใหญ่หลายแห่งโดนสั่นคลอน แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นโอกาสของคนตัวเล็ก

ยุคดิจิทัลไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า”

ในปี 2015 “ซิสโก้” บริษัทเครือข่ายไอทีชั้นนำของโลกได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารในองค์กรธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก พบว่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงเหล่านั้นเชื่อว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า องค์กรระดับ Top 100 ของโลกจะหายไปถึง 40%

โดยธุรกิจที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1.ธุรกิจสื่อและบันเทิง 2.สินค้าและบริการด้านเทคโนโลยี 3.ธุรกิจค้าปลีก 4.บริการการเงิน และ 5.ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

Advertisement

ขนาดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียังหนีไม่พ้น นับประสาอะไรกับธุรกิจอื่นๆ

ว่ากันว่าเทคโนโลยี “ดิจิทัล” นี่ละที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในโลก

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ที่มาร่วมแชร์ความคิดเห็นในเวทีสัมมนาประจำปีของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ “Thailand 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย” เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ก็พูดถึงเรื่องนี้ไว้เช่นกัน

Advertisement

“ในสิบปีมานี้ โลกเปลี่ยนอีกครั้ง ใครมีแพลตฟอร์มที่ดีเป็นผู้ชนะ แพลตฟอร์มมาพร้อมเทคโนโลยีดิจิทัล “สมาร์ทโฟน” ในมือผู้บริโภค บริษัทอย่างเฟซบุ๊ก, กูเกิล และอาลีบาบา แม้แต่ LINE ที่เพิ่งเกิดใหม่มีรายได้มหาศาล ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่”

“สมชัย” มองว่า แม้เทคโนโลยี “ดิจิทัล” จะเข้ามาทำลายล้างสิ่งเดิม แต่ก็สร้างโอกาสมากมาย ดังนั้น “อย่ากลัว” แต่ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร เช่น การอินเตอร์เฟซไปหาลูกค้าหรือการหาแพลตฟอร์มที่เหมาะสมเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ

การมีระบบวิเคราะห์ข้อมูล (ดาต้าอนาไลติกส์) ก็สำคัญ เพื่อให้เข้าใจ รู้จักลูกค้าให้มาก ให้จริง และสร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม ซึ่งต้องทำให้ “เร็ว” เพราะยุคนี้ “สปีด” เป็นสิ่งสำคัญ ทำอะไรไปแล้วดี คนอื่นทำตามแน่นอน

“สมชัย” อ้างถึงข้อมูลของบริษัทวิจัย “การ์ทเนอร์” ที่พูดถึงแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะมาในปีหน้าว่ามี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่าอินเทลลิเจนซ์ (intelligence) อะไรก็ตามที่สร้างความฉลาด กลุ่มที่ 2 เทคโนโลยีดิจิทัล และกลุ่มที่ 3 คือ Mesh เครือข่ายใหม่ๆ เช่น บล็อกเชน

อินเทลลิเจนซ์ที่พูดกันมากคือ artificial intelligence & robots หรือเอไอ ปัญญาประดิษฐ์ ที่มนุษย์สร้างให้สิ่งไม่มีชีวิต คิดและทำได้เหมือนคน และอาจทำได้ดีกว่ามนุษย์ด้วย เพราะคำนวณสิ่งที่ยากซับซ้อนได้เร็วกว่า ทำงานซ้ำซากที่คนทำแล้วเบื่อ เช่น ในอเมริกาวางขาย AI ของอเมซอน “Alexa” สั่งงานได้ด้วยเสียง หรือในเอไอเอสที่เริ่มใช้แชตบอทตอบคำถามง่ายๆ กับลูกค้า

ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) สำคัญมาก ตรงที่ทำให้รู้จักลูกค้าได้ดีขึ้น บริษัทที่เก่งเรื่องนี้มากคือเฟซบุ๊กและกูเกิล

“เทคโนโลยี AR คือการที่เราใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ภาพที่เห็นวิลิศมาหราขึ้น ดีขึ้น จากบ้านเล็กเป็นบ้านใหญ่ และมองด้วยแว่น ส่วน VR คือภาพเสมือนจริง AR กับ VR สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา ส่วน IOT-Internet of Things คือการทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ติดต่อกันได้ เอไอเอสเริ่มให้บริการแล้วกับบริการจองที่จอดรถ มีการคาดการณ์ว่า ไทยมีประชากร 60 กว่าล้านคน มีเบอร์มือถือ 90 กว่าล้าน หรือ 140% แต่ในอีก 5 ปี เบอร์โทรศัพท์จะเพิ่มขึ้นจาก IOT คนหนึ่งจะมีซิมอย่างน้อย 7 ชิ้น อยู่ที่รถ, นาฬิกา และอุปกรณ์ในบ้านต่างๆ”

อีกเทคโนโลยีที่จะมาแรงในปีหน้าคือ Mesh เป็นเน็ตเวิร์กกิ้งใหม่ที่เกิดขึ้นในโลก อาทิ บล็อกเชน มี “บิตคอยน์” ที่โลกการเงินกลัวมากว่าจะเป็นสกุลเงินใหม่ ล่าสุดก็มีของใหม่อีกแล้วที่จะมาแทนบล็อกเชน

“ผมก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ที่จะสื่อให้เห็นคือ ขนาดคนที่เป็นผู้นำหลักยังมีคนที่จะมาท้าทายอีกมาก”

ในมุมมองของซีอีโอ “เอไอเอส” การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ถือเป็นความท้าทาย และว่า

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง มี 3 อย่างที่ต้องทำ อันดับแรกคือ digital platform หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเข้ามาของดิจิทัล ฉะนั้น จงใช้ให้เป็นประโยชน์ 2.human capital “คน” เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเพิ่มขีดความสามารถใหม่ และ 3.transform แม้เป็นองค์กรที่แข็งแรง เป็นผู้นำตลาด ก็ต้องปรับตัว เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่บริษัทใหญ่ๆ ล้มได้ภายในไม่กี่ปี เพราะปรับตัวไม่ทัน

“เอไอเอส” เองประกาศว่าจะปรับเปลี่ยนตนเองจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไปสู่การเป็นผู้ให้บริการ “ดิจิทัล” ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

“ส่วนที่เราแข็งแรงอยู่เดิมคือมือถือ เป็น wireless infrastructure ส่วนที่ 2 ที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาคือ fixed broadband ถัดมาคือ digital service แอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์แพลตฟอร์ม ได้แก่ วิดีโอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์, IOT, โมบายมันนี่, คลาวด์คอมพิวเตอร์ และพาร์ตเนอร์แพลตฟอร์ม และชัดเจนว่าเราต้องการเป็นพี่ใหญ่ที่จะเป็นรากฐานช่วยอุตสาหกรรมอื่นให้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลไปด้วยกัน เป็นอีโค่ซิสเต็ม ด้วยลูกค้า 40 ล้านเลขหมาย ที่สามารถส่งสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปถึงมือลูกค้าที่จ้องมือถืออยู่ทุกวัน”

ซีอีโอ “เอไอเอส” ย้ำว่า ดิจิทัลทำลายล้างหลายสิ่ง และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จริง แต่ไม่ใช่ “ปัญหา” เป็น “โอกาส” ของคนรุ่นใหม่และคนที่ปรับตัวได้ เพราะการใช้เทคโนโลยี “ดิจิทัล” ลดต้นทุนมหาศาล เช่น การขยายร้าน ขยายสาขา ถ้ามีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ดี ก็ไม่ต้องลงทุนสาขา

แต่ใครที่ยังอยู่ในคอมฟอร์ตโซนและทำแบบเดิมมาตลอด จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกใหม่ให้ได้

“มีคนพูดถึงกันมากว่า สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาจะฆ่าเรา อย่าไปพัฒนา AI ให้เก่งกว่านี้เลย แต่ผมเชื่อว่า ไม่มีใครเจ้าเล่ห์กว่ามนุษย์อีกแล้ว อย่างไรมนุษย์ก็จะชนะ เพราะมนุษย์มีปัญญา มีจิตวิญญาณ แต่ AI ไม่มี ดังนั้น ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในสิ่งที่เราไม่อยากทำหรือทำได้ยาก อย่าไปกลัวเทคโนโลยี อย่ากลัวดิจิทัล”

“มนุษย์” เรานี่ละที่น่ากลัวกว่าเทคโนโลยี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image