ทวิภาษา : นโยบายการศึกษาที่รัฐต้องกำหนด : สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, พจนา อาภานุรักษ์

 

“เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ดีเมื่อเรียนรู้ผ่านภาษาแม่” เป็นคำที่มักจะได้ยินทีมงานจากศูนย์ศึกษาฟื้นฟู ภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวถึงอยู่เป็นประจำ ในฐานะผู้ประสานงานชุดโครงการการจัดการเรียนรู้ด้วยระบบทวิภาษา โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ที่นำระบบทวิภาษาเข้าไปใช้จัดการศึกษาในโรงเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เพื่อฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมที่อยู่ในภาวะวิกฤต

จากข้อมูลของศูนย์ศึกษาฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต พบว่าในประเทศไทยมีกลุ่มคนที่ใช้ภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองเป็นภาษาสื่อสารมากกว่า 60 กลุ่มภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยกลาง ภาษาลาวอีสาน ภาษาคำเมือง ภาษาปักษ์ใต้ ภาษาเขมรถิ่นไทย ภาษามลายู ภาษาส่วย ภาษากะเหรี่ยง และอื่นๆ (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2547) ซึ่งภาษาถิ่นนั้นไม่ได้ถูกสอนในระบบโรงเรียน ทำให้หลายๆ ภาษาเริ่มตกอยู่ในวิกฤต คือ เริ่มจะสูญหายไปเพราะไม่มีกระบวนการรักษาและสืบทอดไว้อย่างเป็นระบบ ส่งผลทำให้ภูมิปัญญา ประเพณี และวัฒนธรรมบางอย่างเริ่มเลือนรางไปจากพื้นที่ จึงมีความพยายามที่จะคิดค้นวิธีการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาษาที่เป็นการเรียนรู้ผ่านภาษาแม่ มีการพัฒนารูปแบบการอ่าน-เขียนภาษาแม่โดยใช้ตัวอักษรไทยบูรณาการเข้ากับวิธีการสอนแบบการใช้คำสั่งและการตอบสนองความเข้าใจด้วยการปฏิบัติและการแสดงท่าทาง หรือ TPR (Total Physical Response) ซึ่งทำให้เด็กเข้าใจการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ยังสามารถนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดได้อย่างเป็นระบบผ่านการสร้างสื่อการเรียนการสอนที่เป็นหนังสือเล่มยักษ์นิทานท้องถิ่น สมุนไพรพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

ซึ่งนอกจากจะเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์แล้วยังทำให้เด็กเข้าใจภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้นด้วย

Advertisement

ในการลงพื้นที่เพื่อสังเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในชุดโครงการทวิภาษา ทีมสังเคราะห์ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยกัน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการรูปแบบการจัดการศึกษาแบบทวิภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 10 หมู่ 3 ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 2) โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยแบบทวิภาษาโดยใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยร่วมจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านโพธิ์กอง ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และ 3) โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ : กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านประจันและโรงเรียนบ้านประจัน จ.ปัตตานี ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาถิ่นสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่สถานการณ์ปัญหาของทั้ง 3 กลุ่มก็ถือได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นภาษาเลอเวอะของกลุ่มชาติพันธุ์เลอเวอะ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งลักษณะของกลุ่มชาติ พันธุ์นี้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหุบเขาที่แยกจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น มีสายเลือดความเป็นชาวเลอเวอะบริสุทธิ์ แต่ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ทำให้คนเลอเวอะตัดสินใจละทิ้งถิ่นฐานและอัตลักษณ์เดิม และนิยมเข้ามาทำงานและตั้งถิ่นฐานในเมือง

กอปรกับโรงเรียนรัฐในพื้นที่ก็ไม่ได้มีการสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนที่ช่วยเสริมพลัง
อัตลักษณ์เลอเวอะอย่างยั่งยืน เมื่อระบบทวิภาษาที่เข้าไปช่วยปลุกปั้นให้เกิดวิธีการสอนที่เป็นการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม มีการทำสื่อการสอนที่เป็นนิทานพื้นบ้านของชาวเลอเวอะเองแล้ว ก็ยังไม่สามารถต่อสู้กับระบบการศึกษาจากส่วนกลางที่เน้นภาษาไทยเป็นหลัก เนื่องด้วยกลไกการเปลี่ยนผู้บริหารมีส่วนอย่างมากต่อการทำให้การใช้ทวิภาษาในพื้นที่ไม่มีความต่อเนื่อง เด็กเล็กกลับมานั่งเรียนแบบขาดความสัมพันธ์ว่างเปล่า ผลสัมฤทธิ์ตกต่ำเช่นเดิม

Advertisement

ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์เขมรที่ใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยบริเวณบ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ กลับทำให้เห็นภาพความงอกงามของการธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ท้องถิ่น จากการพูดคุยกับ “แม่แจ๊บ” คุณประชุมพร สังข์น้อย อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์กอง ที่มีการรับระบบทวิภาษาเข้าไปใช้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียน แต่เดิมเริ่มต้นที่ใช้ในระดับประถมศึกษาและขยายมาสู่ระดับปฐมวัย ในพื้นที่นี้เราเห็นพลังของคนในชุมชนท้องถิ่นที่มีความพยายามต้องการให้ลูกหลานเขมรถิ่นไทยรู้จักตัวตนและสืบทอดอัตลักษณ์ของตนเอง

ในขณะเดียวกันก็สามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างมั่นใจและเข้าใจมากยิ่งขึ้นด้วยระบบทวิภาษา

ทั้งครูและคนในชุมชนต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่าระบบทวิภาษานี่แหละที่เป็นคำตอบของการศึกษาในพื้นที่ เพราะสามารถเป็นช่องทางพัฒนาเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นนโยบายของจังหวัด ส่งเสริมการสร้างคนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจในประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัมพูชาได้อีกด้วย

ในส่วนของภาษามลายูถิ่นไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการตอบคำถามกับคนในพื้นที่ถึงการนำระบบทวิภาษาเข้าไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มีตั้งคำถามกับระบบทวิภาษาว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามกลืนวัฒนธรรมหรือไม่ ด้วยวิธีการเรียนภาษามลายูแต่เป็นตัวอักษรไทย ในขณะที่อีกฝั่งก็เห็นว่าทำไมต้องให้คนไทยเชื้อสายมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้คงอัตลักษณ์มลายูไว้ เพราะมองว่าเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้สะท้อนอยู่ในพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนที่โรงเรียนบ้านประจัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบผลการทดสอบระดับชาติ O-NET ของ น.ร.โรงเรียนบ้านประจันซึ่งเรียนด้วยระบบทวิภาษากับโรงเรียนคู่เทียบแล้วนั้น น.ร.โรงเรียนบ้านประจันมีผลคะแนนการทดสอบเฉลี่ยสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด นี่อาจจะเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าระบบทวิภาษานั้นเป็นไปเพื่อการเปิดประตูการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่ ไม่ใช่เรื่องความพยายามในการกลืนชาติหรือเรื่องความมั่นคงของรัฐที่เข้าใจผิดกันมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี การจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาษาสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีโอกาสแสดงความเป็นตัวตนอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมพหุวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ทางศูนย์ศึกษาฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้ผลงานวิจัยในประเด็นการฟื้นฟูภาษาวิกฤตต่างๆ เหล่านี้ในการผลักดันให้เกิดนโยบายภาษาแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการส่งเสริมให้เกิดสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

ถึงกระนั้นก็ตาม ยังคงจำเป็นต้องมีการทำงานเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนต่อในเรื่องของการพัฒนาคนในสังคมให้มีทักษะในการยอมรับ การเรียนรู้ และการทำความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ใช่การถือเอาภาษา วัฒนธรรมของตนเองเป็นใหญ่แล้วใช้ความเป็นคนส่วนใหญ่กดทับอัตลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรมอื่น เพราะการยอมรับและทำความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมสันติสุขและงดงามในหมู่มวลมนุษยชาติท่ามกลางกลุ่มภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นอย่างประณีต

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
พจนา อาภานุรักษ์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image