เราควรเดินสายกลางในทุกเรื่องรวมถึงการเดินสายกลางด้วย คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน

คำถามชวนปวดหัวทำนอง “เราเป็นใคร เกิดมาเพื่ออะไร ทำไมมาอยู่ตรงนี้” เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยากแต่ในบางครั้งความสนุกไม่ได้อยู่ตอนที่รู้คำตอบค่ะ กระบวนการไปให้ถึงคำตอบน่าตื่นเต้นกว่าเยอะ มีนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งแวะมาตามนัดติดตามอาการ ครั้งนี้เขามีสีหน้าเศร้าหมองค่ะ ครั้งแรกสุดที่พบเขาเมื่อปีก่อนเขามีปัญหาขาดเรียน สอบตก ซึ่งที่จริงคือไม่ไปสอบมากกว่า แต่ละวันครุ่นคิดวนเวียนแต่ว่า “เราเกิดมาทำไม ในเมื่อทุกคนเกิดมาก็ต้องตายและในแต่ละวันเขาไม่ได้รู้สึกอยากมีชีวิตอยู่ การตายวันนี้กับการตายในอีกหลายสิบปีให้หลังจะต่างกันตรงไหน” เมื่อลองตั้งคำถามท้าทายไปว่าการอยู่อาจไม่ได้มีค่าอะไรสำหรับตัวคุณ แต่การจากไปของคุณจะทำให้คนที่รักคุณต้องเสียใจแน่ๆ ก็จะมีคำตอบตามมาว่า “พ่อแม่จะเสียใจแต่ก็ไม่นานหรอก ทุกคนต่างก็ต้องประสบกับความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กันทั้งนั้น” โดยสรุปคือต้องรับประทานยารักษาซึมเศร้าค่ะ หลังกินยาอย่างสม่ำเสมอ อาการก็ดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถไปเรียนได้และเรียนจบผ่านขึ้นชั้นปีต่อไปได้จนกระทั่งครั้งนี้กลับดูแย่ลงไปกว่าทุกครั้งเพราะลืมกินยาไป 2-3 วัน

“ผมคิดเรื่องชีวิตมา 2-3 วันจนนอนไม่หลับครับ ผมยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ไม่ได้อยากตายนะครับแต่แค่ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร”

“หมอเคยเห็นหลายคนก็หาความหมายให้ชีวิตจากเรื่องใกล้ตัวหรือเรื่องง่ายๆ นะคะ อย่างเช่น อยู่เพื่อให้เรียนจบ อยู่เพื่อรอทดแทนบุญคุณพ่อแม่”

“ผมไม่เห็นว่ามันมีคุณค่าอะไรกับผมเลย เมื่อคืนพอผมคิดเรื่องนี้แล้วผมก็นอนไม่หลับ ผมก็เลยไปเสิร์ชเน็ตหาวิธีตาย”

Advertisement

“แล้วคุณทำยังไงต่อ”

“ผมก็เลยลองทำตามในเน็ต เอาเชือกมาผูกคอตามที่เขาแนะนำ”

นักศึกษาหนุ่มยังพูดด้วยสีหน้าเรียบเฉยไม่เหมือนคนที่เพิ่งพยายามจะผูกคอเมื่อคืนนี้เลยค่ะ เหลือบไปดูที่คอก็ไม่เห็นรอยไหม้จากเชือกรัด ที่สำคัญคือเขายังมีชีวิตอยู่มาหาหมอได้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี

Advertisement

“เกิดอะไรขึ้นหลังคุณผูกคอคะ”

“ผมทรมานมากแล้วผมก็ตกใจรีบดึงเชือกออก เสร็จแล้วผมก็ได้สติ นึกถึงพ่อแม่ คิดว่าถ้าเราตายไปพ่อแม่จะเสียใจขนาดไหน ผมตกใจว่าตัวเองทำไปได้ยังไงทั้งที่ผมไม่ได้อยากตาย ผมแค่ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม”

หนุ่มน้อยบอกว่าจะไม่ทำอีกแล้วค่ะ เพราะพบว่าต่อให้อยู่ระหว่างความเป็นกับความตายก็ไม่ทำให้ได้คำตอบว่ามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร กลับได้คำตอบว่า ความตายของเขาจะทำให้คนที่เขารักต้องเสียใจ แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องตายเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามว่า “มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” นะคะ บางครั้งคำถามก็ไม่จำเป็นต้องตอบสนองด้วยการ “หาคำตอบ” เราตอบสนองต่อคำถามด้วยการ “ช่างมัน” ก็ได้

“คนกวนเกลียวไขปรัชญา” (Neji no Hitobito) เล่ม 1 เป็นการ์ตูนแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Beyond ราคา 150 บาท ซึ่งถือว่าแพงมากเมื่อเทียบกับการ์ตูนทั่วไป แต่ยินดีจ่ายให้คนแปลเลยค่ะ มีศัพท์ทางปรัชญาเยอะมาก เรื่องนี้กล่าวถึง “เนจิ ยามาโตะ” เด็กหนุ่มธรรมดาที่จู่ๆ เขาก็รู้สึกขุ่นมัวขึ้นในใจระหว่างนั่งเรียนในห้องเรียน เขาถามตัวเองว่า “ทำไมผมถึงเป็นตัวผม” “ทำไมผมถึงมาอยู่ที่นี่” แล้วจู่ๆ ก็เกิดความรู้สึกกลัวความคิดประหลาดของตัวเองขึ้นมา เขามีความคิดแบบนี้มาตั้งแต่เด็กแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้คำตอบเพราะทุกครั้งที่ยังคิดไม่ถึงสุดทาง ท้องเขาจะหิวและจบด้วยการกินข้าวแกงกะหรี่อย่างเอร็ดอร่อย ส่วนคำถามโลกแตกก็กลายเป็นว่าช่างมันไป

ในการ์ตูนตอนถัดๆ มายังมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นตัวเรา จุดกำเนิดของสรรพสิ่ง ใครสมควรได้เป็นเจ้าของ ใครสมควรได้รับอภิสิทธิ์ และดูเหมือนทุกตอนจะทำให้เราได้คำตอบว่า “ไม่มีคำตอบ’ สำหรับคำถามเหล่านี้ มีแต่ “กระบวนการหาคำตอบ” ซึ่งสิ่งนี้มีคุณค่ากว่าตัวคำตอบด้วยซ้ำ การ์ตูนเรื่องนี้คือการยกวิชาปรัชญามาพูดให้สนุกขึ้นนั่นเองค่ะ

คุณมารี เอลลิส บรรณาธิการเว็บไซต์ www.medicalnewstoday.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสารในวงการสุขภาพได้เขียนบทความในวันฮัลโลวีนเรื่อง “Know thyself” (รู้จักตัวเอง) คุณมารีบอกว่านี่คือคติพจน์สำคัญของนักปราชญ์ชาวกรีกโบราณและมีการถกกันอย่างกว้างขวางในสังคมยุคนั้น โดยมีความเชื่อว่าการรู้จักตัวเองเป็นบันไดขั้นแรกสู่การเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ คำถามว่าตัวเองเป็นใครน่าจะเป็นคำถามที่ตอบได้จากหลายมุม อาจเป็นทางร่างกาย จิตใจ หรือจิตวิญญาณ ในวันฮัลโลวีนตัวเราอาจเป็นไปตามหน้ากากที่เราใส่ เช่น แม่มด สัตว์ในเทพนิยาย หรือคนเลี้ยงสิงโต การรู้จักตัวเองหมายถึงเราสามารถถอดหน้ากากตัวเองออกได้ คำถามคือเราต้องถอดกี่ชั้น เรามีหน้ากากพ่อแม่ หน้ากากเจ้านาย หน้ากากลูกน้อง หน้ากากลูกที่ดี เพื่อการถอดหน้ากากนี้เราจึงต้องการปัญญาค่ะ เธอเชื่ออย่างนั้น

คุณมารียกตัวอย่างคำพูดของออสการ์ ไวลด์ “Everything in moderation, including moderation.” เราควรเดินสายกลางในทุกเรื่องรวมถึงการเดินสายกลางด้วย หมายถึงเราควรใช้ชีวิตอย่างพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป แต่ก็ไม่ต้องเป็นแบบนี้ตลอดเวลาก็ได้ เราอาจใช้ชีวิตอย่างสุดโต่งได้ในบางครั้งเหมือนกัน เป็นคำพูดที่ชวนให้คิดถึงเนจิ ยามาโตะ ค่ะว่าหลังจากเขาขบคิดเรื่องชีวิตอย่างสุดโต่งแล้วเขาก็มักลงเอยด้วยการกินข้าวแกงกะหรี่แล้วคิดว่าช่างมัน ถือเป็นการกลับสู่ทางสายกลางได้อย่างน่าชื่นชม

บางครั้งเมื่อเหน็ดเหนื่อยกับการหาคำตอบให้กับคำถามโลกแตกสักเรื่อง ลองปล่อยวางแล้วคิดว่าช่างมันค่ะ เราไม่จำเป็นต้อง “มีคำตอบ” ให้กับทุกคำถาม แต่เรา “หาคำตอบ” ให้กับทุกคำถามได้ค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image