3,000ปี ลพบุรีไม่เคยร้าง “ขรรค์ชัย-สุจิตต์” ชวนทอดน่องเมืองละโว้ ค้นต้นกำเนิดอยุธยา

ไม่ปล่อยให้คอยนาน สำหรับแฟนๆ รายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทัวร์ทอดน่องท่องเที่ยว” ซึ่งมีให้ชมเป็นประจำทุกเดือนผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” โดยในเดือนสุดท้ายก่อนเข้าสู่ศักราชใหม่ ทั้ง 2 ท่านจะชวนไปขุดและค้นต้นกำเนิดของกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ กรุงละโว้ ซึ่งในปัจจุบันคือจังหวัดลพบุรี ที่มากมายไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชวนค้นหา ไม่เพียงวัดวาอารามและวังเวียงงดงามตระการตา แต่ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีย้อนไปไกลถึง 3,000 ปี ซ้ำยังไม่เคยร้างซึ่งผู้คนอีกด้วย

ลพบุรีก่อนพุทธกาล เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชนผู้มีแฟนคลับมากมายที่สมัครใจเรียกเขาว่า “ปู่” เปิดเผยข้อมูลเรียกน้ำย่อยเบาๆ ว่า ลพบุรีเมื่อหลายพันปีที่แล้วมีชุมชนกระจัดกระจายอยู่ตามลุ่มน้ำต่างๆ โดยเฉพาะลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ซึ่งนักโบราณคดีค้นพบแหล่งฝังศพขนาดใหญ่ พร้อมด้วยโบราณวัตถุมากมายนับแทบไม่ถ้วน บ่งชี้ถึงการเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยกันอย่างคึกคักหนาแน่น มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนอื่นๆ ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง ยิ่งในช่วง 2,000 ปีก่อน ซึ่งพัฒนาเข้าสู่ ‘ยุคโลหะ’ ชาวบ้านรู้จักการถลุงเหล็ก ทำเป็นอาวุธและเครื่องใช้

ในส่วนของไลฟ์สไตล์นั้น สุจิตต์บอกว่า คนยุคกระโน้นเขากินข้าว แถมมีเมนู ‘เน่าแล้วอร่อย’ ตามประสาวัฒนธรรมอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พูดง่ายๆ คืออาหารหมักๆ ดองๆ อย่างปลาร้าที่สืบทอดมาถึงเดี๋ยวนี้นั่นเอง

แค่นั้นไม่พอ ยังล่วงรู้ไปถึงความเชื่อของผู้คนว่า ‘นับถือผี’ อีกด้วย

Advertisement

รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ต้องรอชมกันในวันถ่ายทอดสด

“ศาลพระกาฬ” พ.ศ.2476

โถโลโปตีถึงละโว้ ทวารวดีถึงต้นกำเนิดอยุธยา

เขยิบลงมาถึงยุคทวารวดีซึ่งในเอกสารจีนถ่ายถอดเสียงตามสำเนียงแดนมังกรว่า ‘โถโลโปตี’ ในช่วง 1,500 ปีมาแล้ว ชุมชนแถบนี้เริ่มเติบโตเป็น ‘รัฐ’ มีอักษรใช้โดยได้แบบจากอินเดียใต้ ดังที่พบจารึกมากมายซึ่งกลายเป็นจิ๊กซอว์ให้นักประวัติศาสตร์ช่วยกันต่อเป็นรูปเป็นร่าง

นอกจากนี้ยังมีร่องรอยโบราณสถานซึ่งแม้เหลือเพียงฐานราก

Advertisement

ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ปูนปั้น และเศียรพระพุทธรูป แต่ก็ช่วยให้ความกระจ่างถึงการมีอยู่ของชุมชนที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนาแล้ว

ต่อมาในช่วง 1,000 ปีที่แล้ว ‘รัฐละโว้’ ปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ มีข้อสันนิษฐานว่าชื่อรัฐนี้มาจากภาษาพื้นเมือง หมายถึง ‘ภูเขา’ เขยิบลงมาอีกราว 200 ปี คือช่วง 800 ปีก่อน ศูนย์กลางรัฐละโว้ย้ายไปอยู่ที่ “อโยธยาศรีรามเทพ” ต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา ผลักดันและหนุนให้เกิดการสถาปนากรุงสุโขทัย

พูดให้ชัดขึ้นอีกนิด คือ สุจิตต์เชื่อว่า สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก เหตุผลชัดแจ้งจะเป็นเช่นไร ติดตามได้ในรายการ

พระปรางค์วัดมหาธาตุกรุงศรีอยุธยา จากภาพถ่ายสมัย ร.5  มีต้นแบบจากปราสาทขอมในวัฒนธรรมขอมเมืองละโว้

ร้อยพันธุ์เผ่าเหมาเป็น’ขอมพิสัย’

พักเบรกมาฟังเพลงผ่อนคลายจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์แน่นปึ้กกันบ้าง

ในครั้งนี้ สุจิตต์เตรียมโชว์ ‘เพลงขอม’ ซึ่งเจ้าตัวแต่งไว้เองตั้งแต่ พ.ศ.2554 เพื่ออธิบายผ่านท่วงทำนองและคำร้องฟังง่ายว่าขอมคือใคร มาจากไหน อีกทั้งสุดท้ายแล้วคนกลุ่มนี้หายไปไหน ?

เพลงขอม

“ตัดหิน ต่อหิน แต่งหิน

ฉลุปราสาทหิน เหินเวหา

อักขระ ขมังวิทย์ เรืองฤทธา

บูชา มหาเทพ โหมฟืนไฟ

พวกนี้หรือ คือขอม โจงกระเบน

ร้อยพันธุ์เผ่า เหมาเป็น ขอมพิสัย

ตั้งแต่เมือง ละโว้เจ้า พระยาไป

ถึงทะเล สาบใน กัมพูชา

ล้วนเครือญาติ วัฒน ธรรมขอม

คำนับน้อม พนมพราหมณ์ ศาสนา

ขอมละโว้ เข้ายุค อยุธยา

เปลี่ยนมา สังกัดสยาม ความเป็นไทย”

“ละโว้ได้ชื่อในตำนานว่ากัมโพช ขยายเครือข่ายการค้าภายในขึ้นไปอยู่ลุ่มน้ำปิง-วัง และสาละวิน ลุ่มน้ำโขงถึงเวียงจัน ตำนานมอญเรียก กรอม ตำนานไต-ไท เรียก กล๋อม หรือขอม” สุจิตต์สรุปรวบตึง

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปและปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีอายุกว่าพันปีมาแล้วพบที่อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (ภาพจากวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ม.ค.-มี.ค.2518)

เปิดตำนานเขาสมอคอน พระร่วงเรียนอักษรขอมที่ละโว้

ไม่เพียงหลักฐานจากหลุมขุดค้น และเอกสารหรือจารึกที่ถูกจดจารเท่านั้น ที่มีความสำคัญต่อการไขปมประวัติศาสตร์ ทว่าตำนานที่บอกเล่าปากต่อปากก็ย่อมมีรหัสบางอย่างซุกซ่อนอยู่ ดังเช่นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘เขาสมอคอน’ ซึ่งเล่ากันว่า พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ลงมาเรียน ‘ศิลปวิทยาการ’ ที่สำนัก ‘สุกทันตฤาษี’ เขาสมอคอน นอกเมืองละโว้ ราวหลัง พ.ศ.1700

สุจิตต์เชื่อว่า หนึ่งในศิลปวิทยาการเหล่านั้นก็คือ ‘อักษรขอม’

“เรื่องเล่าทั้งหมดจะจริงหรือไม่จริงพิสูจน์ไม่ได้ แต่รวมๆ แล้ว ตำนาน พงศาวดาร กำลังจะบอกว่าเมืองละโว้เคยเป็นศูนย์กลางทางศิลปวิทยาการในวัฒนธรรมขอมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญมากของยุคอยุธยาและไทยทุกวันนี้ แม้กระทั่งอักษรไทยแบบสุโขทัย ในพงศาวดารเหนือยังบอกว่าได้จากเมืองละโว้”

ภาพลายเส้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตามจินตนาการของจิตรกรฝรั่งเศส

พระนารายณ์หนีขุนนางอยุธยาจ้อง ‘รัฐประหาร’

อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจยิ่งที่ขรรค์ชัยและสุจิตต์จะชี้ชวนให้ขบคิดก็คือ ลพบุรีในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราชซึ่งทรงย้ายมาพำนักที่เมืองแห่งนี้ พร้อมทั้งสร้างพระราชวังอันงดงามเกินบรรยาย เรียกกันภายหลังว่า ‘พระนารายณ์ราชนิเวศน์’ ทว่าเบื้องหลังของความงดงามนั้น คือการเมืองที่เข้มข้น

“พระนารายณ์ย้ายจากอยุธยาไปอยู่เมืองละโว้ แล้วให้ชื่อใหม่ว่าลพบุรี นักประวัติศาสตร์ไทยอธิบายว่า ด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ เตรียมเมืองลพบุรีไว้ต่อต้านการรุกรานของฮอลันดา แต่หลักฐานทั้งหลายไม่สนับสนุนอย่างนั้น กลับพบว่าพระนารายณ์ไปอยู่ลพบุรีเพื่อความมั่นคงทางการเมืองของพระองค์เอง เพราะในอยุธยามีพวกขุนนางคิดยึดอำนาจทำรัฐประหารโค่นล้มตลอดเวลา” สุจิตต์ระบุ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นน่าสนใจอีกมากมาย ทั้งความขัดแย้งระหว่างเชื้อสายละโว้ กับเชื้อสายสุพรรณภูมิ กระทั่งสุพรรณยึดอยุธยา กำจัดละโว้อันเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์สะท้านประวัติศาสตร์อย่างกรณี ‘ท้าวศรีสุดาจันทร์’ แม่หยัวเมือง ไหนจะเรื่องของเมืองลพบุรีที่ ‘ไม่แตก’ ในคราว ‘กรุงแตก’ เมื่อ 250 ปีที่แล้ว

ตัดฉากมาถึงลพบุรียุคใหม่ที่มีการสร้างทางรถไฟสายเหนือผ่านขึ้นไปเชียงใหม่ แล้วกลายเป็น ‘เมืองทหาร’ สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงหลัง พ.ศ.2480

เหล่านี้คือมิติทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

เตรียมรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” ได้ในวันพุธที่ 20 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน เตรียมทอดน่องท่องเที่ยวเมืองลพบุรี พุธที่ 20 ธ.ค.นี้ รับชมได้ผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” 14.00 น.
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image