ความแตกต่างกันระหว่าง‘เศรษฐกิจ’ของรัฐบาลและ‘เศรษฐกิจ’ของประชาชน :โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

เป็นที่ค่อนข้างชัดเจนว่าประเด็นที่รัฐบาลและสาธารณชน (the public) มีความคิดเห็น ตลอดจนความรู้สึก ที่แตกต่างกันมากที่สุด ก็คือประเด็นว่าด้วย “เศรษฐกิจ” ในบริบทของสภาพหรือภาวะ (economic condition) ความแตกต่างดังกล่าวนี้ได้เป็นประเด็นทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็พูด “คนละเรื่องเดียวกัน” ที่ไม่มีวันเข้าใจซึ่งกันและกัน ฝ่ายรัฐบาลโทษว่าบางส่วนของสาธารณชนมีความประสงค์ร้ายโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน, ขณะที่มีผู้วิเคราะห์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของรัฐบาลมิได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงของประชาชนส่วนใหญ่

โดยสรุปก็คือ รัฐบาลยืนยันว่า “เศรษฐกิจ” ดีขึ้นแล้วและกำลังที่จะดียิ่งขึ้นเป็นลำดับ, ขณะที่สาธารณชนแย้งว่า “เศรษฐกิจ” ยังไม่ดี และยังมองไม่เห็นว่าจะดีขึ้นอย่างไร และเรื่อง “ปากท้องของประชาชน” นั้นเป็นปัญหาที่รัฐบาลล้มเหลวในการดูแลแก้ไข

ตรงนี้เป็นประเด็นทางการเมืองที่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเสียแล้วที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างไม่พึงสงสัย

หากจะถามนักเศรษฐศาสตร์ในฐานะนักวิชาการ ก็จะได้คำตอบว่าเศรษฐกิจของเมืองไทยขณะนี้ก็พอไปได้ เพราะบรรดาตัวเลขต่างๆ ที่ใช้ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ อัตราการขยายตัว, อัตราการส่งออก, ภาวะตลาดหลักทรัพย์, การลงทุนจากต่างประเทศ, และแม้กระทั่ง “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค” ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของประชาชน ก็ไม่มีปัญหาและมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น แต่หากจะถามในฐานะที่เป็นสามัญชน ก็อาจจะได้รับคำตอบว่า “เศรษฐกิจ” ก็ยังไม่ดีสักเท่าไหร่ เพราะเงินทองก็ยังหายาก และค่าครองชีพก็สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะที่ต้องเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น

Advertisement

แต่ถ้าหากนักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกถามเป็นตัวผมเอง คำตอบก็คือ ตั้งแต่เกิดมาผมยังไม่เคยได้ยินสาธารณชนกลุ่มใดบอกว่า “เศรษฐกิจดี” สักครั้งเดียว จะถามใครเมื่อใด ต่างก็บอกว่า “เศรษฐกิจไม่ดี” เสมอไป พ่อค้าใช้คำว่า “ไม่มีกำไร”, ส่วนคนทั่วไปยืนยันความเดือดร้อนจาก “ของแพง” หรือ “เป็นหนี้” มากขึ้น

สาเหตุของความแตกต่างกันในทรรศนะ, ความคิดและความรู้สึกก็คือรัฐบาลและสาธารณชนมีข้อมูลและความเข้าใจในเรื่องของ “เศรษฐกิจ” ที่แตกต่างกัน รัฐบาลมองเศรษฐกิจในภาพรวม อาทิ อัตราการขยายตัว, การค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศ, อัตราแลกเปลี่ยน, ความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์, การลงทุน, และแม้กระทั่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการใช้จ่าย ฯลฯ, ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ประชาชนคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก, ไม่สนใจ และไม่ได้สัมผัส

เรื่องของ “เศรษฐกิจ” ที่สาธารณชนสัมผัส, รู้สึก, และกังวลใจก็คือ ค่าครองชีพสูงขึ้นตลอดเวลา, รายได้ไม่พอกับรายจ่าย, หนี้สินที่เพิ่มขึ้นและไม่มีทางชำระให้หมดสิ้น ฯลฯ, ซึ่งเป็นความทุกข์ของการดำรงและดำเนินชีวิต, เมื่อสมทบกับการตกงาน, ของขายไม่ออก หรือราคาตกต่ำ, การเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ, ก็ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะไม่ทราบว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใด, สำหรับบางคนและบางครอบครัว, สถานการณ์มีความเลวร้ายยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

Advertisement

ดังนั้น เมื่อได้ฟังบุคคลในรัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจดีและกำลังดีขึ้นและดีขึ้น และอีกไม่นานเกินรอ คนยากคนจนก็จะหมดสิ้นแผ่นดินไทย และประเทศไทยก็จะเข้าสู่เมืองเนรมิตที่เรียกว่า “ไทยแลนด์ 4.0” สาธารณชนที่กำลังอยู่ในความทุกข์ย่อมจะมี “ความเครียด” ทับถมทวีคูณ และสถานภาพดังกล่าวนี่คือสาเหตุที่รัฐบาล “สอบตก” ทุกครั้งที่มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทั้งๆ ที่รัฐบาลก็ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งก็แสดงสัญญาณว่าฟื้นตัวขึ้นแล้ว

หากจะเปรียบเทียบก็คล้ายๆ ว่าคนไข้กำลังได้รับความทุกข์ทรมาน แต่แพทย์บอกว่าตรวจแล้ว ไม่มีสิ่งใดผิดปกติ คนไข้วิตกไปเอง, อย่างใดก็อย่างนั้น

เพื่อสกัดกั้นมิให้ความแตกต่างกันระหว่าง “เศรษฐกิจ” ของรัฐบาลและ “เศรษฐกิจ” ของสาธารณชนบานปลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่สงบได้ยาก ผมขอแนะนำรัฐบาลให้ลองปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) เลิกกล่าวว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี กล่าวแต่เพียงว่ารัฐบาลจะพยายามทำทุกอย่างที่พึงทำได้ให้ประชาชนส่วนใหญ่คลายทุกข์

(2) เลิกกล่าวอ้างถึงข้อมูลในภาพรวมต่างๆ อาทิ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ, การส่งออก, การลงทุนจากต่างประเทศ, ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ฯลฯ ซึ่งสาธารณชนไม่เข้าใจ

(3) เลิก “จินตนาการ” เกี่ยวกับเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยในอนาคต ทั้งไกลและใกล้ อาทิ การที่ความยากจนจะหมดสิ้นแผ่นดินไทย, การ “ปลดกับดัก” อะไรต่างๆ, การเปลี่ยนการผลิตสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง, แม้กระทั่งเรื่อง “นวัตกรรม” ต่างๆ ที่ต้องการขีดความสามารถพึ่งตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรองรับ, และแม้กระทั่ง “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งดูคล้ายกับ “เงา”

(4) เน้นย้ำและทำตามนั้นอย่างจริงจังในการคลายทุกข์เศรษฐกิจของสาธารณชน อันได้แก่ ปัญหาค่าครองชีพ, รายได้ไม่พอกับรายจ่าย, หนี้สินที่เพิ่มพูน และอื่นๆ ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนเหล่านี้เป็นปัญหาเชิง “โครงสร้าง” ที่จะต้องพิจารณาแก้ไขที่พื้นฐาน มิใช่ด้วยนโยบายและมาตรการแบบ “ครอบจักรวาล” และด้วย “วาทกรรม” ที่ฉาบฉวย

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image