เฝ้าสดับ ศึกการเมือง แนวปะทะเริ่มปะทุ อุ่นเครื่องก่อนลุกเป็นไฟ

คล้ายๆ กับว่าไม่มีอะไรซับซ้อน แต่แท้จริงแล้วมีหลายอย่างปรากฏร่องรอยให้เห็น

เมื่อพรรคการเมืองรวมตัวกันกดดัน คสช. ให้ “ปลดล็อก” คำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีผลต่อการจัดการพรรคตามบทบัญญัติใหม่ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่เพิ่งประกาศใช้

พ.ร.ป.ที่มีบทเฉพาะกาลกำหนดเวลาให้พรรคการเมืองปรับปรุง หากไม่ทำให้ทันเวลามีผลเป็นลบ

บางข้อไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ บางข้อถึงขนาดยุบพรรค

Advertisement

เส้นตายแรกที่กำหนดไว้คือ วันที่ 5 มกราคม 2561 ทุกพรรคต้องจัดระเบียบสมาชิกใหม่ตามที่กำหนด แต่พรรค การเมืองทำไม่ได้ เพราะไม่อาจฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

นี่คือเหตุผลที่ได้ยินพรรคการเมืองอ้างว่าต้อง “ปลดล็อก”

ขณะที่ คสช.มองต่างมุม เพราะอ้างสถานการณ์บ้านเมืองยังคงความเคลื่อนไหวของผู้ไม่หวังดี จึงประวิงเวลาการปลดล็อกให้พรรคการเมืองประกอบกิจกรรม

Advertisement

แรกเริ่มมีข้อแนะนำว่า ให้พรรคการเมืองขอขยายเวลากับ กกต. ก็ไร้ปัญหา แต่ กกต.ไม่รับลูก ยืนยันว่าต้องทำตามกำหนด

เรื่องราวบานปลายถึงขั้นมีข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.ป.พรรค การเมือง

เท่านั้นเอง คสช. ก็โดนโจมตีว่า “สมคบคิด” 

มีเป้าหมายเพื่อยืดโรดแมปเลือกตั้ง

แต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ประชุมกับ

สมาชิก คสช.

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ออกมาแถลงข่าวด้วยตัวเองว่า จะใช้ ม.44 เพื่อขยายเวลาให้พรรคการเมืองทำตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลออกมายืนยันว่า ม.44 ประกาศใช้ช่วงต้นมกราคม 2561

ใช้ก่อนวันที่ 5 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายแรก

การตัดสินใจใช้ ม.44 ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนให้แก้ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองต้องขยับถอย

แม้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หนึ่งในผู้เสนอให้แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองยังยืนยัน แต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่สนับสนุนแนวทางนี้ก็ “ติดธุระ” งดการเข้าพบ สนช.

อย่างไรก็ตาม เมื่อฟังคำให้สัมภาษณ์ของ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ที่ว่าหากไม่มีวิธีอื่นก็อาจต้องแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง

นี่ยังแสดงว่า ทางเลือกด้วยวิธีแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังมี

ห้วงการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช. ในกรณีการ “ปลดล็อก” ได้ปรากฏ “ควัน” ขึ้นมาให้แลเห็น

นั่นคือ ข่าวการตั้งพรรคประชารัฐ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นหัวหน้า

ตามข่าว พรรคการเมืองใหม่นี้จะเป็นพรรคหัวหอกของ คสช. ที่จะอยู่หลังการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อข่าวปรากฏขึ้นมา ทั้งนายสมคิด และฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างออกมาปฏิเสธ

แต่โบราณว่าไว้ “มีควันก็ต้องมีไฟ”

การตั้งพรรคทหารขึ้นมาเพื่อรองรับ คสช.หลังการเลือกตั้งย่อมมีความเป็นไปได้ และการเลือกให้นายสมคิดเป็นหัวหอกก็มีเหตุผล เพราะที่ผ่านมานายสมคิดมีแนวคิดเชิงพัฒนาประเทศโดดเด่น และยังคุ้นเคยกับวิถีการเมืองมาแล้ว

ยิ่งเมื่อมีการเร่งเปิดโฉมหน้านายสมคิดออกมา “ก่อนไก่โห่” 

กระแสข่าวเช่นนี้ น่าจะมีอะไรในกอไผ่

ทั้งนี้เพราะแวดวงการเมืองมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.ต้องวนเวียนอยู่บนเวทีการเมืองต่อไปหลังการเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์จึงตระเวนออกไปยังจังหวัดต่างๆ และพบปะโชว์ตัวต่อประชาชน

นโยบายภาครัฐในปี 2561 จึงมุ่งเน้นที่เศรษฐกิจ “ฐานราก” ซึ่งก็คือคน “รากหญ้า”

การปลุกปั้น “ประชารัฐ” ก็คล้ายคลึงกับนโยบาย “ประชานิยม”

แต่ละอย่างเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นแนวโน้มการอยู่ต่อ เพียงแต่จะอยู่ต่ออย่างไร

หนึ่ง อยู่ต่อด้วยการยืดโรดแมป คือ ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

สอง อยู่ต่อโดยพรรคการเมืองเก่ารวมตัวกันเชิญ พล.อ. ประยุทธ์ และ คสช.มาเป็นรัฐบาล ตามรูปแบบสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

สาม มีพรรคเป็นของตัวเอง และสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

ดังนั้น หากวิธีการแรกไม่สามารถทำได้ การเลือกวิธีการที่สองและสามก็สามารถทำให้ “อยู่ต่อ” ได้

แนวโน้มในขณะนี้ จึงเล็งไปที่วิธีการที่สาม ยิ่งเมื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายเป้าประสงค์ของบทเฉพาะกาลใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่เกรงว่าพรรคใหม่จะเสียเปรียบพรรคเก่า

เท่ากับว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองสนับสนุนพรรคใหม่ให้สู้กับพรรคเก่าได้

ถ้า คสช.จะมีพรรคใหม่ พ.ร.ป.ฉบับนี้ก็เอื้อให้ไม่เสียเปรียบพรรคเดิม

ปรากฏการณ์การเมืองในขณะนี้จึงสะท้อนภาพการขับเคี่ยวกันอย่างสุดฤทธิ์

ด้านหนึ่งคือการขจัดเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ออกไปทีละเล็กทีละน้อย พร้อมกันนั้นก็กีดกันมิให้ทักษิณและเครือญาติกลับมา

ด้านหนึ่งคือการช่วงชิงการนำกันเองระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายพรรคการเมืองที่เหลืออยู่

ด้านหนึ่งคือการจัดระเบียบอำนาจการสั่งการภายใน

การต่อสู้ช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบตามบทบัญญัติของกฎหมายลูกหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือ พ.ร.ป. จึงทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

การรีเซตกรรมการองค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมไปถึงการจัดระเบียบโครงสร้างองค์กรใหม่ย่อมมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบ

ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

ย่อมมีความขัดแย้ง

การติดดาบเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. รวมไปถึงการเปลี่ยนวิธีการโชว์ทรัพย์สินให้นักการเมือง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นคนในแวดวง “แม่น้ำ 5 สาย” ที่ไม่ถูกห้าม

ย่อมมีความหมายต่อการปฏิบัติหลังจากรัฐบาลใหม่อุบัติขึ้น

เช่นเดียวกับการชิงไหวชิงพริบในการปฏิบัติตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองที่กำลังบานปลายกลายเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

ทุกอย่างคือการขับเคี่ยวทางการเมือง ทุกความขับเคี่ยวหมายถึงอำนาจที่จะได้รับหลังจากนี้

และจากความเคลื่อนไหวของ คสช. รัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองในช่วงปลายปี 2560 ทำให้สรุปได้ว่า การปะทะกันรอบใหม่ในแวดวงการเมืองเริ่มต้นขึ้นแล้ว

เชื่อว่าในปี 2561 ที่จะถึง การต่อสู้ทางการเมืองของคู่ขัดแย้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

ยิ่งใกล้วันที่รัฐธรรมนูญกำหนด ยิ่งใกล้วันที่ต้องเลือกตั้ง

การปะทะกันระหว่างขั้วอำนาจที่แลเห็นจะเพิ่มอุณหภูมิขึ้น

เพียงแต่จะมีขึ้นในระดับ “อบอุ่น” หรือ “ลุกเป็นไฟ” ทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับการจัดการ

ทุกจังหวะก้าวทางการเมืองในวันนี้และวันข้างหน้า

ยังต้องเฝ้าระวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image