เคลื่อนไปใน ‘ปล่อยวาง’ : คอลัมน์เริงโลกด้วยจิตรื่น

ในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ผู้รู้บางคนแนะนำว่า ให้ลืมเรื่องเศร้า ให้จำเรื่องสุข ให้คิดถึงเรื่องราวที่ทำให้ชื่นบาน และลบเรื่องที่ทำร้ายจิตใจไปเสียจากความคิด

บางคนบอกว่าให้วางจิตไว้กับปัจจุบันขณะ อย่าปล่อยให้หลุดไปอยู่กับอารมณ์แห่งอดีต

หนทางนี้จะทำให้ชีวิตดี

ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้น อารมณ์ที่ดี ย่อมนำพาให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ดี

Advertisement

เพียงแต่ว่าบ่อยครั้งชีวิตไม่ง่ายขนาดนั้น

ลองดูเถอะ แค่ได้ยินเพลงเก่าๆ สักเพลง บางทีความรู้สึกเศร้าเทเข้ามาท่วมทันในใจ โดยแทบไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าทำไมเป็นเช่นนั้น

ยิ่งกดความรู้สึกนั้นให้หายไป คิดจะกระตุ้นความเริงร่ามาให้หัวใจ กลับยิ่งเศร้างลึกเข้าไปอีก หรือไม่ก็สับสนกลายเป็นเพ้อเจ้อ แปลกแยกระหว่างที่เป็นจริงกับที่อยากจะเป็นไป

Advertisement

กระทั่ง ถึงจุดหนึ่งที่ฟังมองความเป็นไปในใจเงียบๆ เฝ้าดูโดยไม่กระตุ้นด้วยความอยากให้เป็นอย่างโน่นอย่างนี้ แม้จะเศร้าก็ปล่อยให้เศร้านั้นไหลไปโดยไม่ไปกำหนด กดดันให้เป็นอย่างอื่น

เมื่อนั้น เพลงเก่าจะเล่าความหวังเป็นภาพออกมาให้เห็น ว่าความเศร้านั้นผลิกดอก งอกรากมาจากเรื่องราวใด

อาจจะเป็นความผิดหวัง ความพลั้งพลาดบางอย่างที่ฝังใจ แต่เวลากลบไว้ทำให้มองไม่เห็น

เป็นความผิดหวัง พลั้งพลาดที่เราเองกลบฝัง สร้างเกราะป้องกันไว้ไม่ให้มาทำร้ายความรู้สึก และที่สุดลืมเลือนไป จนวันหนึ่งเสียงเพลงบางเพลงกระตุกให้เชื่อมร้อยกลับสู่ความทรงจำนั้น

เริ่มจากรับรู้อารมณ์แบบไม่เข้าใจว่าเศร้าเพราะอะไร และหากไม่เข้าไปพยายามหาทางหลีกหนี อารมณ์นั้นจะนำสู่เรื่องราวที่ลืมเลือนไป

เหมือนปรารถนาให้เราจัดการเสียใหม่

ทว่า บางเรื่องอาจแค่คิดใหม่ แล้วเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบหากจะแก้ไขต้องย้อนเวลาไปเปลี่ยนแปลงการกระทำ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

เหมือนว่า หากเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์นั้นไม่ได้ ความเศร้าไม่มีหนทางที่จะจางหาย

เหตุการณ์อย่างเก่า ย่อมสร้างอารมณ์อย่างเก่า ผุดขึ้นมาทุกครั้งที่เกิดการกระตุ้นเตือน เชื่อมโยงเข้าไป แม้กระทั่งเสียงของเพลงบางเพลง

คล้ายจะเป็นอย่างนั้น หลีกหนี กลบฝังได้ชั่วคราว หาเรื่องราวรื่นรมย์มาปกปิดไว้ได้ในบางครั้ง แต่ที่สุดแล้วในวันใดวันหนึ่งอารม์นั้น เรื่องราวนั้นจะผลุดขึ้นมาโบยตีความรู้สึกอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า

คล้ายเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ทว่าศาสดากลับมีวิธี

บางนั้นแนะให้เรียนรู้การให้อภัย เริ่มจากอภัยกับสิ่งอื่น คนอื่นที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเรา สะสมอภัยทานนั้นให้หนักแน่น กระทั่งวันหนึ่งถึงความสามารถที่จะให้อภัยตัวเองได้

ความผิดหวังที่คนอื่นสร้างให้ เราอภัยให้เขา

ความพลั้งพลาดที่เรากระทำ เราอภัยให้ตัวเอง

หากถึงความสามารถที่จะอภัยได้อย่างสมบูรณ์ไม่หลงเหลืออารมณ์ใดติดค้าง ย่อมเป็นการปลดอารมณ์หมองหม่นนั้นทิ้งไป โดยไม่ใช่การกลบฝัง ปิดบัง หลีกหนี

เป็นแค่การปล่อยให้เรื่องราวเหล่านั้น เจือจางไปตามวิถีแห่งกฎอนิจจัง เกิดขึ้นแล้วดับไป

เพียงแต่ สติสัมปชัญญะ และสมาธิ ต้องฝึกมาถึงจุดที่รับแรงสะเทือนจากเรื่องราวต่างๆ ได้โดยไม่ก่อความคิดต่างๆ ขึ้นมาปกป้องตัวเอง

แค่ปล่อยให้เป็นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image