บอยแบนด์หลบไป! แกะห่อของขวัญ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เรื่องเก่าของ “เพลงปีใหม่” ที่ไม่เคยหยุดฮิต

ไม่ใช่สายรุ้งหลากสี ไฟกะพริบ และกล่องของขวัญเท่านั้น ที่เป็นสัญญาณของเทศกาลปีใหม่

ยังมีบทเพลงที่เมื่อได้ยินเมื่อไหร่ กลิ่นอายแห่งการก้าวเข้าสู่ปีใหม่อันแสนสดใสก็ลอยมาอยู่ตรงหน้า

ห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ ไปจนถึงงานสังสรรค์ในหมู่บ้าน ต้องมีเปิดคลอเบาๆ เอาบรรยากาศ ที่ออกละม้ายคล้ายจะพานั่งเครื่องย้อนเวลาไปยังยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยฝีไม้ลายมือของครูเพลงแห่งวงสุนทราภรณ์

กลายเป็นหนึ่งในภาพจำฝังแน่นในใจคนไทยมานานหลายสิบปี ก่อนที่จะมีการแต่งเพลงปีใหม่แบบร่วมสมัยออกมาแบ่งพื้นที่ความนิยม แต่ก็ไม่อาจทาบรัศมีความฮอตของเพลงเก่าอันแสนคุ้นเคย

Advertisement

เพลงเหล่านี้ มาจากไหน? ทำไมยังฮิตไม่เลิกรา?

มาฮัมเพลงปีใหม่ แล้วตามไปแซะเรื่องเก่าๆ ของเพลงปีใหม่ไปพร้อมๆ กัน

สวัสดีปีใหม่ ไฉไลแบบสุนทราภรณ์

เพลงแสนคุ้นหูที่ดูจะขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลนี้ นั่นคือ เพลงสวัสดีปีใหม่ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองไปแล้ว

Advertisement

เพลงนี้แต่งคำร้องโดย ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์

เวอร์ชั่นออริจินอล ร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ ชวลีย์ ช่วงวิทย์ ซึ่งบันทึกเสียงตั้งแต่ พ.ศ.2498 หลังจากนั้นยังมีการบันทึกเสียงใหม่ซ้ำอีก แต่ฉบับเก่ากึ๊กนี้ก็ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย

และนี่คือส่วนหนึ่งของบทเพลงที่ดังขึ้นเมื่อไหร่ ก็ต้องนึกถึงความสุขของเทศกาลปีใหม่ทุกครั้ง โดยอยู่ยั้งยืนยงผ่านปีใหม่มาแล้วกว่า 60 ครั้ง และคาดว่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน

สวัสดีปีใหม่แล้ว ผองไทยจงแคล้วปวงภัย

ช่วยกันรับขวัญปีใหม่ เถลิงฤทัยไว้มั่น

สุขศรีปีใหม่หมาย สุขใจและกายรวมกัน

สำราญสำเริงบรรเทิงมั่น สุขสันต์ยิ้มกันไว้ก่อน

สิ่งที่ล่วงแล้วให้แล้วกันไป

อย่าได้ผูกใจอาวรณ์

จับมือกันไว้อวยชัย อวยพร สุขสโมสรเริงรมย์

เรียกได้ว่า ช่างไพเราะชวนเคลิ้มจนสุภาพบุรุษหลายรายอาจอยากใส่น้ำมันแล้วหวีผมเรียบแปล้ ขุดชุดสูทเท่ๆ ใส่ออกไปทำเฟี้ยวกับสาวเปรี้ยวทาปากแดง หรือจะเป็นแนวหวานกระโปรงบานฟูฟ่อง ในฟลอร์ลีลาศรับวันปีใหม่

พี่น้องร่วมชาติ อย่าพลาด “รื่นเริงเถลิงศก”

จากเพลงปีใหม่ในทำนองชิล..ชิล เขยิบมาขยับแข้งขยับขาใต้โต๊ะ หรือใช้นิ้วเคาะจังหวะให้เร็วขึ้นอีกนิดกับเพลง รื่นเริงเถลิงศก ของครูเพลงท่านเดียวกับเพลงสวัสดีปีใหม่ นั่นคือ ครูแก้วและครูเอื้อ ที่มีตัวโน้ตและถ้อยคำล้นเหลือในการเนรมิตบทเพลงแห่งความสุข แถมฟังแล้วฮึกเหิมด้วยประโยคพี่น้องร่วมชาติที่จะร่วมกันกวาดต้อนความสุขจากทุกอณูในผืนแผ่นดินไทย

วันนี้ วันดี ปีใหม่ ท้องฟ้า แจ่มใส พาใจ สุขสันต์

ยิ้มให้กัน ในวัน ปีใหม่ โกรธเคือง เรื่องใด จงอภัยให้กัน

หมดสิ้น กันที ปีเก่า เรื่องทุกข์ เรื่องเศร้า อย่าเขลา คิดมัน

ตั้งต้น ชีวิต กันใหม่ ให้มัน สดใส สุขใหม่ ทั่วกัน

รื่นเริง เถลิง ศกใหม่ รื่นเริง เถลิง ศกใหม่

ร่วมจิต ร่วมใจ ทำบุญ ร่วมกัน

ทำบุญ กันตาม ประเพณี กุศล ราศี บรรเจิด เฉิดฉัน

พี่น้อง ร่วมชาติ เดียวกัน พี่น้อง ร่วมชาติ เดียวกัน

ขอให้ สุขสันต์ ทั่วกัน เอย

นอกจากความไพเราะเสนาะโสตประสาทแล้ว เพลงนี้ยังซ่อนประเด็นที่น่าสนใจคือ คำว่า “เถลิงศก” ซึ่งจริงๆ แล้ว เดิมใช้กับการเข้าสู่ศักราชใหม่ในเดือนเมษายน คือ ช่วงสงกรานต์นั่นเอง

ต่อมาเมื่อมีการนับเข้าสู่ปีใหม่แบบสากล ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ซึ่งเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อไม่ถึง 80 ปีมานี้เอง คำนี้จึงถูกนำมาใช้ในบริบทของปีใหม่ตามแบบสากล เรื่องมีอยู่ว่า หากย้อนเวลากลับไปในอดีต คนไทยไม่เคยกู่ร้องคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ในวันแรกของเดือนมกราคม เพราะปีใหม่เดิมของชาวอุษาคเนย์ คือเดือนเมษายน โดยมีการกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา แต่ไม่ได้รับรู้แพร่หลาย

ต่อมาในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการประกาศให้มีงานรื่นเริงในวันขึ้นปีใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2477 ที่กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก และกระจายไปในต่างจังหวัด

เรื่องราวยังไม่จบ เพราะหลังจากนั้นได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธาน มติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมา

นับเป็นอีกเพลงที่บันทึกประวัติศาสตร์แห่งการเถลิงศกไว้ในเนื้อร้องโดยไม่เจตนา

รำวงปีใหม่ ลูกผสมแบบ “ไทยๆ” ในลุคอินเตอร์

แม้ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะมีความพยายามปรับทัศนคติให้ประชาชนชาวสยามมีความเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย มารยาท จนถึงการนับปีใหม่แบบสากล แต่วัฒนธรรมรำฟ้อนที่มีมาก่อนเก่าก็ถูกเอามาใช้ให้ครึกครื้นแบบไม่ขัดเขิน บวกกับเสียงร้องไชโยและเนื้อหาที่มาแนวบุญกุศล ก็ส่งผลให้เพลงนี้ฮอตฮิตมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ผสมผสานได้มันส์ขนาดนี้ต้องยกความดีให้ สมศักดิ์ เทพานนท์ ผู้แต่งคำร้อง และ ธนิต ผลประเสริฐ ผู้มอบทำนองสนุกถึงใจ

ไชโย ไชโย ไชโย ฉันร่วมไชโย ต้อนรับปีใหม่

ส่งปีเก่า แล้วเราเริงใจ ถึงวันปีใหม่ เราต้องไชโย

พ้นไปแล้ว ปีเก่า ยิ้มให้เช้า ปีใหม่

หน้าแฉล้ม แจ่มใส ใจมุ่งมั่นไว้)

ร้างไกล ความเศร้าตรม

ต่าง ตักบาตร ทำบุญ เพิ่ม ความอุ่น บาปบุญ

ด้วยบุญ กุศล ทุกคน จึงเปรมปรีด์

พบกันวันนี้ ปีใหม่ ยิ้มสดใส เต็มที่

ต่างร่วมจิต ไมตรี ปีใหม่ เช่นนี้ ล้วนมี ความชื่นชม

ไม่มีขุ่น เคืองใคร

ต่างก็ใฝ่ เริงรมย์ มุ่งความสุขสม นิยม อวยพรกัน

ขออายุ ยืนยั่ง สม ที่หวัง ปองมั่น

ให้ ผุดผ่อง เฉิดฉันท์ มีแต่ สุขสันต์ ทุกวัน ตลอดไป

ไม่มี โรค มาพาน พี่ จงผ่าน โพยภัย อยู่ใน มิ่งใจ สมใน ฤทัยปอง

ไชโย ไชโย ไชโย

ฉันร่วม ไชโย ต้อนรับปีใหม่

ส่ง ปีเก่า แล้วเราเริงใจ

ถึงวัน ปีใหม่ เราต้องไชโย

เพลงสไตล์รำวงนี้ คือสิ่งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้การสนับสนุนในการเป็นหนึ่งในความบันเทิงเริงใจอย่างมีอารยะของสังคมไทยยุคนั้น

สวัสดีปีใหม่ สไตล์สามโทน

ถัดจากยุคสุนทราภรณ์ ไม่ได้มีการแต่งเพลงปีใหม่ออกมาอย่างจริงจัง กระทั่งวงสามโทน ดาวรุ่งในยุค 2530 กว่าๆ ทำคลอดเพลงนี้สู่ตลาดใน พ.ศ.2535 แล้วฮิตมาจนบัดนี้ ส่งผลให้เพลงดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในเพลงฮิตประจำวงตลอดกาล ด้วยจังหวะสนุกสนาน และคำร้องสอดแทรกมุขตลก มองโลกในแง่ดี อันเป็นบุคลิกของวงซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ สุธีรัชย์ ชาญนุกูล (บุ๋มบิ๋ม) ธงชัย ประสงค์สันติ (ธง) และ วิทยา เจตะภัย (ถนอม) ด้วยฝีมือการเรียบเรียงของสุระชัย บุญแต่ง นับเป็นการขอแบ่งพื้นที่เพลงปีใหม่จากวงสุนทราภรณ์ได้อย่างงดงาม

สวัสดี ดี ดี ดี สวัสดี ปี ใหม่

สวัสดี ให้ดี สมใจ สวัสดี ให้ดี จริงจริง

ปี ที่ผ่าน ไปแล้ว มันคลาด มันแคล้ว ก็ดี ถมไป

มี ทั้งเจ็บ ทั้งไข้ ทั้งปวด ดวงใจ ก็ยัง ยืนอยู่

กิน มีอิ่ม บางมื้อ มีอด บางมื้อ ก็ยัง ยิ้มสู้

ถึงมัน จะหนัก จะหนา ก็ตื่น ลืมตา ให้มัน หมดปี

แล้ว ปีใหม่ ก็มา มาเพิ่ม ชีวิต ชีวา ทุกปี

พร ใดที่ ดี ดี ตลอด ปีนี้ ให้ดี แน่นอน

กิน กินได้ กินดี กิน แซ่บ อีหลี มีกิน ไว้ก่อน

นอน นอนหลับ สบาย นอนตื่น สบาย

หายใจ คล่องดี ให้ไทย ทั้งไทย โชคดี

ตลอด ปีนี้ เป็นปี ของไทย

จะเห็นได้ว่าเพลงนี้ใช้ภาษาเรียบง่าย สอดแทรกด้วยถ้อยคำที่เป็น “ภาษาถิ่น” อย่าง “แซ่บอีหลี” สไตล์อีสาน แตกต่างอย่างเด่นชัดกับถ้อยคำของเพลงแนวสุนทราภรณ์ ซึ่งผ่านการเรียบเรียงด้วยภาษาไทยแบบชาวกรุงอย่างพิถีพิถัน

เพลงสวัสดีปีใหม่สไตล์สามโทน จึงสร้างความแตกต่างด้วยการเข้าถึงใจคนท้องถิ่น ชาวบ้านทุกสารทิศ ด้วยเสน่ห์จากภาษาที่ตรงไปตรงมา เปิดเผย และจริงใจ

พี่เบิร์ดก็มี สวัสดีปีใหม่

มาถึงยุคที่ทำให้เพลงปีใหม่เดินทางมาสู่สายเพลงป๊อป ด้วยเสียงร้องของซุปเปอร์สตาร์อย่าง เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ผู้มอบความร่วมสมัยให้กับเพลงประจำเทศกาล ในอัลบั้มชุดรับแขกเมื่อ พ.ศ.2545

เพลงนี้ฮิตที่ท่อนฮุก ซึ่งเป็นการกล่าวสวัสดีปีใหม่ แล้วอวยพรโดยเน้นไปที่ประเด็นความรักหนุ่มสาวเข้าสไตล์ป๊อปๆแบบวัยรุ่น ที่คอยลุ้นเรื่องเนื้อคู่กันทุกปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

สวัสดี (สวัสดี) สวัสดีปีใหม่ ใครรักใครให้ได้แต่งงานกัน

สวัสดี (สวัสดี) สวัสดีชื่นบาน รักกันไปนานๆ ไม่มีเบื่อ

ใครสบายๆ ขอให้สบายไม่หยุดไม่หย่อน ใครที่ไม่สบายให้หายดี

มีคุณตาคุณยายร่มโพธิ์ร่มไทรดูแลดีๆ ฝากกราบเท้าซักทีก็ชื่นใจ

ใครยังไม่มีงานขอให้มีงานเข้ามาเร็วๆ ใครที่ไม่มีเอวก็แล้วไป

ใครค้าๆ ขายๆ ให้ได้ดีๆ ให้มีกำไร ว่างเมื่อไหร่หาใครให้ซักคน

สวัสดี (สวัสดี) สวัสดีปีใหม่ เอาหัวใจมาสวัสดีกัน

สวัสดี (สวัสดี) สวัสดีชื่นบาน ให้ชื่นใจนานๆ ทั้งปีเลย

หลังเพลงนี้ออกสู่หูแฟนเพลง ก็จัดว่าได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง แต่ไม่มากหากเทียบกับเพลงเก่าของสุนทราภรณ์ และเพลงของวงสามโทน แม้จะได้นักร้องระดับเทพของวงการเพลงไทยมาขับกล่อมก็ตามที

โหยหาอดีต เหตุเพลงใหม่ ไม่ทาบรัศมีสุนทราภรณ์

จะเห็นได้ว่า เพลงประจำเทศกาลปีใหม่เกือบทั้งหมด แต่งโดยสุนทราภรณ์ จัดเป็นเพลงที่มีคำร้องไพเราะ สละสลวย ที่สำคัญยังครองใจคนไทยมานานเกินครึ่งศตวรรษ แม้จะมีวิธีการร้องแบบเก่า คือการบีบเสียงที่เป็นขนบนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเลิกใช้ไปเนิ่นนานเต็มที แถมยังมีค่ายเพลงยุคใหม่พยายามแต่งเพลงให้เทศกาลปีใหม่ออกมา แต่ก็ไม่อาจสู้บารมีเพลงสุนทราภรณ์ ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่การนำศิลปินหนุ่มสาวดาวรุ่งสุดป๊อปมาร้องเพลงเก่าของชาวสุนทราภรณ์ กระแสก็เงียบฉี่ ไม่มีแววฮอต ทำไม?

อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักแต่งเพลง เจ้าของหนังสือ “ดนตรี พื้นที่ เวลา : รวมบทความว่าด้วยการเมือง สังคม และวัฒนธรรมในเสียงดนตรี” และหนังสือ “เสียง เพลง วัฒนธรรม อำนาจ” มองว่าเป็นเพราะกระแส Nostalgia หรือความโหยหาอดีต นอกจากนี้ ยังเป็นเพลงที่ดึงดูดคนฟังให้เข้าถึงได้ง่าย ด้วยการนำความเป็น “สากล” เคลือบ “ดนตรีไทย”

“สุนทราภรณ์เอาเพลงไทยเดิมมาใส่เนื้อร้องใหม่ เลยดึงดูดคนฟังให้เข้าถึงง่าย นำความเป็นสากลเคลือบดนตรีไทยเดิมไว้ เป็นการแปลงร่างเป็นฝรั่งในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ ส่วนความฮิตในปัจจุบัน คิดว่าเป็นเพราะความรู้สึกโหยหาอดีตที่เรียกว่า Nostalgia นอกจากนี้ สุนทราภรณ์เองก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นตัวแทนของความเป็นไทย ทั้งที่เป็นวงสากล ภาพลักษณ์ของวงมีบุคลิกสอดคล้องกับสิ่งที่ชนชั้นนำยุคนั้นต้องการ เช่น เนื้อร้องสละสลวย ทั้งยังออกเสียงร้องในสำเนียงไทยกรุงเทพฯ วรรณยุกต์ไม่เพี้ยน”

อติภพ ภัทรเดชไพศาล

ปีใหม่ ที่ยังก้าวไม่พ้นแนวคิดเก่า?

ความนิยมและการถูกใช้สืบเนื่องยาวนานนี้ อาจต้องย้อนไปเท้าความถึงที่มาของวงสุนทราภรณ์ ซึ่งอติภพบอกว่า ความจริงแล้วก็คือวงดนตรีกรมโฆษณาการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 โดยเอื้อ สุนทรสนาน เวส สุนทรจามร และคณะนักดนตรีวงไทยฟิล์ม ของบริษัทภาพยนตร์ไทยฟิล์มที่ปิดตัวลงไป ต่อมารู้จักกันในนามวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์

วงดนตรีกรมโฆษณาการ มีหน้าที่บรรเลงเพลงทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมและงานสังสรรค์ต่างๆ เช่น งานลีลาศ เต้นรำ ของหน่วยราชการในยุคนั้น โดยเมื่อไปบรรเลงนอกสถานที่ เช่น โรงมหรสพ หรือโรงภาพยนตร์ จะใช้ชื่อว่า วงสุนทราภรณ์ โดยมีสมาชิกทั้งที่เป็นข้าราชการประจำและนักร้องเอกชน

การสร้างสรรค์บทเพลงของวงดังกล่าว จึงมีความ “คาบเกี่ยว” ระหว่างวงของรัฐกับเอกชน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลงานของวงสุนทราภรณ์ถูกสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้นโยบายของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพลงส่วนใหญ่จึงสะท้อนแนวคิด “ชาตินิยม” ตามบริบทสังคมยุคนั้น

ส่วนความนิยมล้นหลาม อติภพบอกว่า ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน ว่าเกิดจากการสนับสนุนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่เพลงทางวิทยุกระจายเสียง ทางการแสดงตามงานต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีวงดนตรีอีก 2-3 วงสำหรับเล่นในงานลีลาศ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนสุนทราภรณ์

“สุนทราภรณ์เป็นวงที่เกิดในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในชื่อวงกรมดนตรีโฆษณาการ เล่นเผยแพร่แนวคิดปลุกใจ แต่เมื่อไปเล่นข้างนอก เช่น โรงมหรสพ จะใช้ชื่อวงสุนทราภรณ์ ดังนั้นจึงมีความคาบเกี่ยวกันระหว่างรัฐบาลกับเอกชน เวลาแต่งเพลงเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ และอื่นๆ จะได้รับการสนับสนุนด้วยการเปิดตามสถานีวิทยุ ตามสถานที่ราชการ เพลงจึงได้รับความนิยมมาก เพราะรัฐบาลสนับสนุน เพลงที่แต่งออกมาก็เป็นเพลงรำวง ที่มีบุคลิกเฉพาะตัว เป็นสัญลักษณ์ความเป็นไทยแบบจอมพล ป.”

ดังนั้น การที่เพลงปีใหม่จากยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังคงฮิตไม่เสื่อมคลาย จึงมีเหตุผลอื่นอีก นอกเหนือจากความรู้สึกโหยหาอดีต และการเป็นเพลงของวงที่เป็นภาพแทนของความเป็นไทย อติภพมองว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นรัฐราชการ ที่ยังไม่มีแนวคิดใดสามารถต่อสู้กับแนวคิดรัฐราชการที่มั่นคง

แม้มีสิ่งใหม่ ก็ไม่อาจทลายกำแพงเดิมที่ถูกสถาปนาขึ้นได้ ทั้งที่เวลาผ่านไปนานเกือบ 80 ปีแล้ว

สุนทราภรณ์ ในยุคมาลานำไทย มีพัฒนาการจากวงดนตรีรัฐ ร้องเพลงปลุกใจตามแนวคิดชาตินิยม ก่อนเข้าสู่ป๊อป คัลเจอร์

เปิดกรุเพลงปีใหม่ “สุนทราภรณ์”

นอกจากนี้ ยังมีเพลงอื่นๆ นับสิบเพลง ที่ฮิตไม่เท่า เหมาหมด โดยสุนทราภรณ์ อาทิ

ไชโยปีใหม่ ฉลองปีใหม่แบบฮึกเหิมสุดสุด โดยเก็บบันทึกสภาพสังคมยุคนั้นไว้ผ่านคำร้องแนวคิดยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม จริงๆ เช่น ขอให้ชาติรุ่งเรือง ไทยกระเดื่อง เดชไกล ให้อำนาจเกริกไกร ให้เป็นใหญ่ไพบูลย์

ส.ค.ส. ส่งความสุขแบบฟรุ้งฟริ้ง ร้องสลับกันหญิงชาย

ลาปีเก่า มาแปลกด้วยเนื้อเพลงแนวโบกมือลาทั้งความทุกข์ที่เคยเจอ และความสุขรื่นรมย์ที่เคยมีในปีที่ผ่านมาด้วยใจอาวรณ์สะท้อนอาลัย

อาลัยปีเก่า ขับร้องโดยพรสุลี วิชเวช น้ำเสียงออดอ้อนอาลัยในปีเก่าชวนเคลิบเคลิ้ม จนไม่อยากให้ถึงปีใหม่เสียอย่างนั้น

ปีใหม่ ขับร้องโดยบรรจงจิตต์ พัฒนาสันต์ ทำนองมันส์พร้อมเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์ เนื้อเพลงชวนให้ส่งท้ายปีเก่าด้วยความหวังที่ว่าปีหน้าจะ “สุขเถอะเหวย” ตบท้ายว่าอย่าทำใจอับเฉา เพราจะพาเราเศร้าอีกปี !

รับขวัญปีใหม่ เนื้อร้องเป็นแนวตัดพ้อหยอกเอินกันพอหอมปากหอมคอ ระหว่างสตรีที่บ่นเรื่องจะขึ้นคานหรือไม่ ยังไม่รู้ ฝ่ายชายก็ร้องรับว่าน้องยังใหม่สะคราญ อย่าห่วงวงปีที่ผ่านไปว่ารักจะกลายเป็นเก่า

ใกล้ปีใหม่ เพลงหวานๆ ที่บ่นเสียดายปีเก่าอันแสนดีงาม เกรงปีใหม่จะไม่เริ่ดเช่นเดิม ขับร้องโดยจิตราภรณ์ บุญญขันธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image