เจาะลึกทิศทางปี 61 จากมุมมองนักวิชาการ ‘วิกฤตความยากจน-ธุรกิจยุค 4.0-การเมืองหลังเลือกตั้ง’

สำหรับปี 2560 เป็นอีกปีหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเเละเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย

หลายเรื่องยังคงทิ้งปมปัญหาค้างคาต่อเนื่องเเละส่งผลกระทบไปถึงปี 2561

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดา “นักวิชาการ” สาขาวิชาต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมนำเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมาใช้คาดคะเนถึง “ผล” ที่จะเกิดขึ้นใน “อนาคต”

กระทั่งได้บทสรุปที่น่าสนใจในทุกเเง่มุม ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ เเละด้านการเมือง

Advertisement

เเละทิศทางที่น่าจับตามองในปี 2561

วิกฤตความยากจนใน ‘สังคมไทย’ กับความท้าทายเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’


จากวาทะเด็ดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวเอาไว้ในงานสัมมนาไทยแลนด์ 2018 “จุดเปลี่ยนและความท้าทาย” ตอนหนึ่งว่า ‘ในปีนี้ (พ.ศ.2561) คนจนจะหมดประเทศ’ ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เรียกได้ว่าเป็นวาทะส่งท้ายปีที่แสนจะร้อนแรง

Advertisement

แต่ถึงกระนั้นก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางด้านสังคมของประเทศไทยในอีกทางหนึ่ง

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ช. กล่าวว่า ปัญหาคนจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมจะแก้ปัญหาได้ค่อนข้างลำบาก เพราะถึงแม้ว่าจะมีการคืนประชาธิปไตยให้กับการเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงไม่มีความแน่นอนและไม่ได้ช่วยคลี่คลายปัญหาทางการเมือง เนื่องจากปัญหาทางการเมืองนั้นส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้น ในเมื่อการเมืองไม่ชัดเจนจึงยังคงมองไม่เห็นภาพว่าสังคมไทยในปี 2561 จะมีทิศทางไปในทางใด

“วาทกรรมคนจนหมดประเทศเป็นการขายฝัน คือพูดได้ แต่ยังไม่บอกหรืออธิบายว่าจะทำให้คนจนหมดประเทศได้ยังไง และการที่แจกเงินให้ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือที่เราเรียกว่า ‘การสงเคราะห์’ ซึ่งได้มาจากภาษีของประชาชน แต่ไม่เคยปรับเข้าสู่มิติอื่นๆ จะช่วยแก้ปัญหายังไง” รศ.ดร.วรวิทย์กล่าว

และว่า “สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือ ควรคิดว่าทุกคนจะมีรายได้อย่างพอเพียงได้อย่างไร ซึ่งผมมองว่าหากประชาชนมีรายได้ขั้นต่ำที่พอเพียง จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้เขาสามารถไปหางานทำได้ ไม่ใช่การไปแจกให้คนจน 1,000 บาท แล้วไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คนจนก็จะจนอยู่เหมือนเดิม”

ด้านแรงงาน รศ.ดร.วรวิทย์กล่าวว่า จากกระแสโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคหลังอุตสาหกรรม (Post-industrial society) ซึ่งเป็นสังคมของข้อมูลข่าวสาร คนที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานคือคนที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และมีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าความต้องการแรงงานแบบใหม่ก็จะไม่เหมือนแบบเก่าแล้ว เช่น การทำงานในธนาคาร จะเห็นได้ว่าพนักงาน 1 คนทำหน้าที่หลายอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นจ่าย-ถอน-ฝาก ตลอดจนดำเนินการด้านธุรกรรมการเงินที่ขยายไปสู่แอพพลิเคชั่นทางมือถือ เพราะฉะนั้น จึงต้องการแรงงานที่มีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย

“แล้วคนส่วนใหญ่ที่มีทักษะแบบเก่าจะไปไหน จุดนี้คือความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางรายได้ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนไปสู่สังคมใหม่ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย”

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์พิเศษคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่

เมื่อโลกเปลี่ยนไปแบบนี้ จะเห็นได้ว่า คนจนก็จนลง คนรวยก็จะรวยขึ้น เพราะมันไม่มีตรงกลาง มีแค่ ‘คนที่ทักษะเป็นที่ต้องการ และคนส่วนใหญ่ที่ทักษะมันปรับใช้ไม่ได้’ ส่งผลให้คนจนก็ไม่สามารถจะหลุดออกมาจากวงจรความจนได้เพราะเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ หรือทักษะไม่เป็นที่ต้องการ ต้องไปทำงานแบบพาร์ตไทม์ ซึ่งไม่ต้องใช้สกิลล์มาก บางคนจึงอาจจะต้องทำอาชีพสองอย่างคือในระบบและนอกระบบ เป็นต้น

“ผมมองแนวโน้มของโลก จะพบว่ามีความเหลื่อมล้ำในทุกประเทศสูงขึ้น ช่วงกลางระหว่างรายได้ที่คนจะเอื้อมถึงหายไป กลายเป็นการแบ่งชั้นระหว่างคนรวยกับคนจน คนรวยกระจุกตัวกัน คนจนก็กระจุกตัวกัน”

นอกจากนี้ รศ.ดร.วรวิทย์ทิ้งท้ายไว้ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่ไม่มีแรงงานเหลือเฟืออีกต่อไปแล้ว เพราะแรงงานส่วนใหญ่ของไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ตลอดจนอัตราการเกิดของเราลดลงจาก 6 เหลือ 4 และในปัจจุบันเหลือแค่ 1.2

“เมื่อเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ การจะแก้ปัญหาความยากจนยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คุณต้องจ่ายบำนาญมากขึ้น แต่คุณจะเก็บเงินสมทบได้น้อยลง ถ้าเกิดคุณอยู่ในระบบเดิมที่ยังไม่คิดว่าจะปรับยังไง นี่คือปัญหาชุดใหญ่”

‘เศรษฐกิจ’ ยุคดิจิทัล กับเทรนด์ธุรกิจ ไทยแลนด์ 4.0

ตราบใดที่เรายังต้องกิน ต้องใช้ ต้องทำงาน อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน “เศรษฐกิจ” ก็ยังคงเป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญในชีวิต

และเพื่อคาดการณ์เศรษฐกิจภาพรวมในปี 2561 รวมถึงเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาแรง อันจะนำไปสู่ลู่ทางการวางแผนชีวิตที่ชัดเจนขึ้นในปีหน้า จากมุมมองของผู้รู้จริงอย่าง ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ธนวรรธน์คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 19 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ที่มีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยปัจจัยสนับสนุนหลักคือนโยบายของรัฐบาล ทั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โครงการอีอีซี ประกอบกับทิศทางธุรกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ธนวรรธน์ได้เสริมให้เห็นถึงแง่มุมอีกด้านว่า ยังมีปัจจัยที่น่ากังวลในยุคดิจิทัลอยู่ อาทิ ความน่าเชื่อถือในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัย โครงข่ายของการให้บริการอินเตอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม การหลอกขายสินค้าและบริการ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการค้าออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งหากปรับปรุงปัญหาข้างต้นได้ ก็จะส่งผลต่อการเติบโตที่ดีเพิ่มมากขึ้น

“ประเทศไทยถือว่าก้าวเข้าสู่ระบบ 4G อย่างรวดเร็วและเต็มประสิทธิภาพ เห็นได้จากการใช้อินเตอร์เน็ต การเข้าสู่ข้อมูลเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นต่างๆ มีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งสะท้อนมาจากการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ ที่มียอดขายประมาณ 2-3 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และหากเปรียบเทียบสัดส่วนต่อจีดีพีในระยะ 2 ปีข้างหน้าหรือในปี 2563 อาจจะอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 4 ของจีดีพี”

“ดังนั้น ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์จะมีส่วนสำคัญมากขึ้น ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐในปีหน้าประมาณ 1-2 แสนล้านบาท เมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น การซื้อขายจับจ่ายก็จะมีมากขึ้นด้วย” นายธนวรรธน์กล่าว

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

เมื่อถามถึงเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาแรงในปี 2561 ธนวรรธน์ไล่เรียงให้ฟังดังนี้

อันดับ 1 ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์ (ผู้ให้บริการโครงข่าย)

อันดับ 2 ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม

อันดับ 3 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ

อันดับ 4 ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว

อันดับ 5 ธุรกิจด้านปิโตรเคมีและพลาสติก และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์

อันดับ 6 ธุรกิจโมเดิร์นเทรด ธุรกิจบริการทางด้านการเงิน และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

อันดับ 7 ธุรกิจร้านขายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์

อันดับ 8 ธุรกิจด้านการศึกษาและธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

อันดับ 9 ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านความเชื่อทางโหราศาสตร์

และอันดับ 10 ธุรกิจวัสดุรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจร้านเสริมสวย

เป็นธุรกิจที่มีเเนวโน้มจะ “รุ่ง” ของปีนี้

จับกระเเส ‘การเมือง’ และทิศทาง ‘รัฐบาล’ หลัง ‘การเลือกตั้ง’

ปีที่ผ่านมาเคยถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช). ผ่อนคลายการควบคุมให้กลุ่มการเมืองและนักกิจกรรมได้หายใจหายคอสูดกลิ่น “เสรีภาพ” คล่องขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

ทว่าความเป็นจริงคือ “ล็อกการเมือง” ยังคงแน่นหนา ไม่หวั่นเสียงต่อว่า-ทักท้วง

“ล็อก” ที่ว่า คือบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. ซึ่งออกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 อาทิ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจกรรม หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ทำให้การชุมนุมทางการเมืองกลายเป็นเรื่องต้องห้าม

อย่างไรก็ดี ช่วงปลายปีเริ่มได้เห็นการขยับเขยื้อนจากทั้งนักการเมืองและภาคประชาชนทวงสัญญา “ขอเวลาอีกไม่นาน”

รองศาสตราจารย์ตระกูล มีชัย รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อภาพรวมของการเมืองในปีนี้ว่าเป็นปีที่ประเทศไทยมีเงื่อนไขพิเศษ ประชาชนจึงเข้าใจในเหตุผลของ คสช. ที่จำเป็นต้องเลื่อนโรดแมปประชาธิปไตยออกไป แต่เรื่องที่ชวนให้รู้สึกผิดหวังคือการที่ข้อกฎหมายบางประการถูกแก้ไขโดยขาดความเป็นมาตรฐานเดียวกัน

“ทั้งที่กติกาตาม รธน.ถูกยอมรับมาตั้งแต่การทำประชามติ เหตุใดบุคคลที่เกี่ยวข้องจึงไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตาม การพยายามตีความเข้าข้างตัวเอง ขาดกระบวนการและกลไกมาตรฐาน ผมคิดว่าไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของระบบนิติรัฐ” รศ.ตระกูลกล่าว

รศ.ตระกูลชี้ว่า สัจวาจา คือหัวใจสำคัญของประเด็นการเมืองปีหน้า ที่จะชี้ขาดคุณค่าความเป็นผู้นำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

“สัจวาจาของผู้นำที่ลั่นวาจาไว้ต่อสาธารณะทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะสามารถขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนั้นได้หรือไม่ อย่าลืมว่าในปีนี้เริ่มมีการสะสมความไม่พอใจ ความไม่เข้าใจ ความผิดหวัง ถ้าเกิดปีหน้ายังพยายามที่จะสร้างประเด็นให้คนผิดหวังอีก อันนี้อันตราย อย่างน้อยที่สุดความชอบธรรมของการที่จะอยู่ในอำนาจนั้นหมดไปเลย”

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์รั้วจามจุรีวิเคราะห์ต่อไปว่า โครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันวางไว้ เป็นการผสมผสานรูปแบบรัฐบาลสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร กับสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ก็มีข้อแตกต่างในแง่เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ยังคาดการณ์ผลการเลือกตั้งได้ว่าจะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก ก่อให้เกิดรัฐบาลผสมและการต่อรองทางการเมืองอย่างเข้มข้น จนอาจนำไปสู่ทางตันของการเมืองไทยในที่สุด

“ลักษณะของการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้มันสุ่มเสี่ยงมากที่จะทำให้เกิด ‘ภาวะชะงักงันทางการเมือง’ หรือ Deadlock ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นอย่างไร มันเดินไม่ได้ รัฐบาลผสมเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะเป็นคนละแบบกับในยุคพลเอกเปรม เพราะยุคนั้นมีวุฒิสมาชิกสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตอนนี้มีวุฒิสมาชิกก็จริง แต่ทำได้เพียงเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น”

รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อถามต่อไปถึงโอกาสในการจับมือกันของ 2 พรรคใหญ่ รศ.ตระกูลชี้ว่าเป็นไปได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างระแวงต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่เป็นสมาชิกของตัวเอง ครั้งนี้จึงเป็นทีของพรรคเล็กที่จะสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง

“พรรคใหญ่พรรคหนึ่งอาจจะประกาศว่าขอเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว ค้านทุกรูปแบบ ส่วนพรรคอันดับสองอาจจะค้านในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย การเดินเกมการเมืองแบบนี้ ทำให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลอาจเป็นพรรคขนาดกลาง หรือพรรคที่แยกตัวออกมา หรือพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าสมมุติฐานเป็นไปอย่างที่กล่าวข้างต้น พรรคเล็กๆ จะมีพลังต่อรองทางการเมืองมากในเรื่องการผ่านกฎหมาย ผ่านงบประมาณ หรือขอตำแหน่ง ดังนั้น ระบบการเจรจามันจะเกิดขึ้น

รศ.ตระกูลทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า ในอนาคตที่บ้านเมืองปราศจากมาตรา 44 รัฐบาลขาดอิสระในการดำเนินนโยบายเพราะถูกกำกับโดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามที่ระบุใน รธน. ผู้นำรัฐบาลใหม่จะทนกับสภาวะการต่อรองทางการเมืองซึ่งจะเกิดขึ้นเต็มรูปแบบได้หรือไม่

หากทนไม่ได้ กระบวนการต่อรองไม่บรรลุผล

การเมืองไทยก็ยากจะไปรอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image