เปิดใจ ‘นพ.จรัส สุวรรณเวลา’ หัวหน้าทีมผ่าตัด ‘ปฏิรูปการศึกษา’ (คลิป)

 

หมายเหตุ : เป็นอีกหนึ่งความหวังของวงการศึกษา หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) โดยมอบให้ นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศัลยแพทย์มือดีของประเทศมาทำหน้าที่นำทีมผ่าตัดใหญ่ระบบการศึกษาไทย “มติชน” ถือโอกาสพูดคุยเจาะลึกถึงปัญหาการศึกษาไทย ความหวัง และความท้าทาย ตลอดจนภารกิจการปฏิรูปการศึกษาภายใต้กรอบเวลาที่เหลืออยู่

๐การทำงานของกอปศ.ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา?
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง กอปศ.เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 มีวาระการทำงาน 24 เดือน ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 6 เดือนเศษ ดังนั้น การทำงานจากนี้ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการรวมทั้งหมด 9 ชุด คือ คณะอนุกรรมการด้านเด็กเล็ก คณะอนุกรรมการด้านกองทุน คณะอนุกรรมการด้านครูและอาจารย์ คณะอนุกรรมการด้านการเรียนการสอน คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างและระบบ คณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านบทบาทภาครัฐและสังคม และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านการปฏิรูปการศึกษา

แต่ละชุดมีคณะทำงานเฉพาะเรื่อง เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้มีผู้ที่เข้ามาร่วมดำเนินการมากกว่า 100 คน นอกจากนี้ ยังรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นสภาพปัญหาการศึกษา ตลอดจนต้นตอของปัญหาและวางเป้าหมายของการปฏิรูปโดยมุ่งแก้ ปัญหาหลักของการศึกษาชาติ ใน 4 ด้าน คือ 1.คุณภาพการศึกษาที่ยังต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน 2.ความเหลื่อมล้ำ และการขาดโอกาสทางการศึกษา 3.ความสามารถในการแข่งขันของชาติต่ำ และ 4.การขาดธรรมาภิบาลในระบบการบริหารจัดการศึกษา

Advertisement

๐ปัญหาการศึกษามีมากกว่าที่คิดหรือไม่?
เป็นที่รู้อยู่แล้วว่าศึกษาไทยมีปัญหามาก แต่ที่พบเพิ่มคือความซับซ้อนของแต่ละเรื่อง ทำให้การแก้ไขต้องมีวิธีการหลายอย่างทับซ้อนกัน วัตถุประสงค์ที่ต้องการหวังว่าปัญหาทั้ง 4 อย่างน่าจะลดลงในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ขั้นตอนในการดำเนินงานจะแบ่งเป็น ผลที่เกิดระยะสั้นใน 2 ปี เท่ากับระยะเวลาของ กอปศ.คือ การออก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่จะพลิกโฉมการศึกษา ในระหว่างนี้มีหลายอย่างที่ดำเนินการอยู่ และหลายอย่างที่ดำเนินการเสร็จแล้ว เช่น ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เร็ว ๆ นี้ รวมถึง ยังมีเรื่องที่กำลังดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ คือ ร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนที่มีความเป็นอิสระหรือโรงเรียนนิติบุคคล นอกจากนั้น จะมีข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งในที่สุดจะไปอยู่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับแก้ไข) ได้แก่ 1.การศึกษาเพื่อสร้างคุณธรรม จริยธรรม เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น 2.ระบบครู ตั้งแต่การผลิตครู การใช้ครูและการพัฒนาครู 3.การปรับการเรียนการสอนให้มีหลักสูตรที่เป็นฐานสมรรถนะ แทนที่จะเป็นฐานเนื้อหาสาระ การปรับการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนยีดิจิทัลทั้งในการเรียนการสอนและการสอบ การมีส่วนร่วมของประชาสังคมในการปฏิรูปการศึกษา การมีรูปแบบที่หลากหลายของการจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึง บทบาทของภาครัฐและเอกชนในการจัดการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในการทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ชุมชน ผู้ปกครองภาคประชาสังคม รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยทุกฝ่ายจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด เช่น มหาวิทยาลัยจะต้องปรับให้เป็นอุดมศึกษา 4.0 ซึ่งหมายถึงการผลิตบัณฑิต ที่จะต้องให้มีทั้งความรู้ ทักษะ สมรรถนะและบุคลิกภาพที่เหมาะสม สามารถตอบสนองความจำเป็นของบุคลากรในอนาคตได้ โดยต้องมีความรู้สร้างสรรค์ สามารถสร้างรายได้จากการทำงานของตนเองและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ มหาวิทยาลัยจะต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรม ที่แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ด้วย มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้ผลักดันการพัฒนาประเทศไม่ใช่แค่การบริการทางวิชาการ ต้องใช้งานวิชาการที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคม ตรงนี้คือ บทบาทของมหาวิทยาลัย ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องมีความหลากหลาย และมีบทบาทที่แตกต่างกัน ทั้งมหาวิทยาลัยพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยพัฒนาประเทศ เป็นต้น

ขณะนี้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังปรับเปลี่ยนได้ยาก ซึ่งมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่คืออยู่ในสภาพที่สบายแล้ว ไม่อยากปรับเปลี่ยน มีหลักฐานชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยของประเทศมาเลเซีย แซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว ทั้งๆ ที่เคยตามหลังประเทศไทย เป็นตัวอย่างว่าทุกคนต้องตื่นขึ้นและต้องปรับตัว กอปศ. พยายามปรับเปลี่ยน แต่ก็เข้าใจว่าทำได้ยาก แต่ก็ยังมีตัวอย่างโรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่ดี และทำให้มีความหวัง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

Advertisement

๐การขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาในปี 2561
หวังว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับแก้ไข) จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2561 หลังจากนั้นจะเป็นการดูรายละเอียดที่เป็นข้อเสนอแนะต่างๆ และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

๐ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ. หรือไม่?
เป้าหมายของการปฏิรูปไม่ใช่การปรับโครงสร้างศธ. แต่เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาและการแก้ไขส่วนต่าง ๆ ทำให้เกิดความจำเป็นในการปรับโครงสร้าง ศธ.สิ่งที่ต้องปรับแน่นอน คือการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มาเป็นกระทรวงการอุดศึกษา ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมีขนาดเล็กลง ทั้งนี้กอปศ. ไม่ได้มีแนวคิดจะไปลดขนาดของสพฐ. แต่การปรับลักษณะงานจะทำให้ภารกิจของสพฐ. ลดลง เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการด้านการเรียนการสอน เสนอให้ปรับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ออกมาเป็น สถาบันหลักสูตรการเรียนการสอนและทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมทุกระดับ ทั้งสพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กอปศ.เห็นด้วยในหลักการที่จะมีการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรฯ ดังกล่าวแต่รายละเอียดยังไม่ชัดเจน อีกทั้งเมื่อโรงเรียนมีอิสระเป็นนิติบุคคลมากขึ้น สพฐ.จะมีงานน้อยลง ภารกิจต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งยังมีอีก 40 กว่าล้านคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ดังนั้น จำเป็นที่ต้องให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสทางการศึกษา รวมถึง การศึกษาเพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ และการศึกษาสำหรับผู้ที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยขณะนี้หน่วยงานที่ดูแลการศึกษานอกระบบของ ศธ.คือ กศน.ที่มีสถานะเป็นหน่วยย่อยที่อยู่ในสำนักงานปลัด ศธ.ดังนั้น จำเป็นต้องยกระดับ กศน.ขึ้น ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งหมดนี้จะไปอยู่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จะเป็นเหมือนธรรมนูญทางการศึกษาที่แปลย่อยมาจากรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปรูปครั้งนี้ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษาในระบบเท่านั้น เป็นการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ

๐สอศ.ต้องมีการปฏิรูปหรือไม่?
สอศ.ก็ชัด ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยเป็น 4.0 มีความสามารถทางการแข่งขัน เราจำเป็นต้องปรับ สอศ.โดยขณะนี้นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ ยังเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ดังนั้น จึงต้องปรับ สอศ.ให้เป็นการศึกษาเชิงพัฒนาฝีมือ ซึ่งต้องทำให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องงานและความต้องการของประเทศ หากปฏิรูปให้ตรง จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สำคัญ อย่างแรกที่ต้องปรับคือ สาขาวิชา ต้องตรงกับงานในอนาคต ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีหลากหลาย ทั้งนี้ สอศ.เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังคิดว่าจะปฏิรูปอย่างไร เบื้องต้นคิดว่าจะไปกำหนดเป็นมาตราหนึ่งในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จะทำให้ สอศ.มีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะนี้ สอศ.ถูกกำกับมากเกินไป

๐การปฏิรูปครั้งนี้ต่างจากคราวที่แล้วอย่างไร?
การปฏิรูปครั้งนี้ ไม่ได้ตั้งใจไปปรับแก้ที่โครงสร้าง แต่ลงมาแก้ปัญหาการจัดการศึกษาในพื้นที่ ให้ครู และเด็กกลับมาเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา ไม่ใช่ให้การบริหารงานเป็นหัวใจหลักอย่างเช่นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปครั้งก่อน เป็นการปฏิรูปโครงสร้างเปลี่ยนจาก 14 กรม หรือ 14 องค์ชาย มาเป็น 5 องค์กรหลัก ซึ่งแนวคิดที่แท้จริงจะให้อำนาจคณะกรรมการเป็นผู้ดูแลการทำงานของแต่ละองค์กร เลขาธิการ ทำหน้าที่เพียงเลขาธิการของคณะกรรมการ แต่ภายหลังมีการไปปรับแก้ ให้อำนาจเลขาธิการเป็นใหญ่ คณะกรรมการจึงแทบไม่มีบทบาท ดังนั้นการปฏิรูปครั้งที่ผ่านมาจึงอาจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งไม่แน่ใจว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะถูกปรับเปลี่ยนอีกหรือไม่ ดังนั้น กอปศ.จึงอยากให้สังคมตื่นตัว เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดพลังและเป็นการปฏิรูปที่ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image