ภาพเก่าเล่าตำนาน : เบื้องหลังขุดคลองสุเอซ ‘ฝรั่งเศส’ทำสยามอึดอัด : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เมื่อวิศวกรฝรั่งเศสประสบชัยชนะ สามารถขุดคลองสุเอซในอียิปต์เป็นทางลัดย่อโลก เกิดความรุ่งเรืองเฟื่องฟู ต่อมาฝรั่งเศสส่งทีมวิศวกรบุกมาสยามประเทศ เพื่อขอสำรวจบริเวณด้ามขวานของสยามที่จะขุดคอคอดกระในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติจนถึงปัจจุบัน จารึกว่ามนุษย์ลงมือขุดคลองขนาดใหญ่เพื่อปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือระดับโลก 2 พื้นที่คือ คลองสุเอซ (Suez Canal) คลองปานามา (Panama Canal)

การขุดคลอง 2 แห่งเพื่อย่นย่อระยะทาง เป็นฝีมือการทำงานของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ ทำให้การเดินทางติดต่อเชื่อมโยงของคนบนโลกใบนี้เปลี่ยนไปแบบไม่มีวันหวนกลับ

นักเดินเรือจากโลกตะวันตก (รวมทั้งจีน) แข่งกันผจญภัยเพื่อเป็นเจ้าแห่งมหาสมุทร เสี่ยงตายออกไปค้นหาดินแดนใหม่ๆ แล้วเข้าครอบครอง ในยุคนั้นมหาอำนาจทางทะเล คือ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส

Advertisement

การพบดินแดนใหม่ก่อนใคร คือโอกาสการได้ครอบครองทรัพยากร แก้วแหวนเงินทอง และได้ดินแดนเป็นอาณานิคม การเดินทางรอนแรมนานนับเดือน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในทะเลลึก ทำให้นักผจญภัยเหล่านี้ต่างแสวงหาเส้นทางลัด เส้นทางที่สั้นกว่า ชาวตะวันตกจากยุโรปเก่งเกินหน้าชนชาติใดในโลก รู้จักการคำนวณระยะทาง เดินเรือโดยการดูดาว ดูแสงแดด ทิศทางลม เรือไปถึงที่หมายก็มี เรือล่มตายเป็นผีเฝ้าท้องมหาสมุทรก็ไม่น้อย

ประเทศที่เป็นคู่กัด แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าแห่งเส้นทางเดินเรือ ใช้กำลังทหารเข้าครอบครองเมืองท่าทั่วโลก คือ อังกฤษ กับ ฝรั่งเศส ที่แข่งขันกันเพื่อกอบโกยวัตถุดิบที่แสนอุดมสมบูรณ์จากทั่วโลก กลับไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ และเพื่อไปปกครองดินแดนอาณานิคม

ความกระตือรือร้นเรื่องการ “หาเส้นทางลัดในทะเล” ลุกลามมาถึงสยามประเทศ

Advertisement

ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 สยามเปิดประเทศติดต่อคบค้ากับสังคมโลก อังกฤษและฝรั่งเศส ต่างชิงตัดหน้าเชือดเฉือนกันเข้ามาในสยามเพื่อขอสำรวจดินแดน เพื่อทำแผนที่ดินแดนของสยาม โดยเฉพาะฝรั่งเศสตั้งใจจะขุดคลองทางใต้ของสยามแบบคลองสุเอซที่กระหึ่มโลก

ผู้เขียนได้ข้อมูลจากหนังสือ หน้าหนึ่งในสยาม ของท่าน ไกรฤกษ์ นานา ซึ่งศึกษาจริงจัง กรณีโครงการขุดคอคอดกระของสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงขนาดเดินทางไปประมูลซื้อแผนที่โบราณที่ตกค้างในกรุงปารีสมานานกว่า 130 ปี กลับมาได้เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2555 แผนที่โบราณของฝรั่งเศสทำให้เราได้ทราบ เรื่องแนวคิดการขุดคลองทางภาคใต้ของไทยนั้น เป็นเรื่องที่ฝรั่งเศสคิดวางแผนมาให้แล้วกว่า 130 ปี และฝรั่งเศสเอาจริงเพื่อเฉือนคมกับอังกฤษ

แนวคิดโครงการขุดคอคอดกระที่ฝรั่งเศสต้องการลงทุนในสยาม เป็นความต่อเนื่องมาจากการขุดคลองสุเอซ (ดูแผนที่)

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า ในยุคสมัยนั้น ความเชี่ยวชาญเรื่องการสำรวจและการขุดคลองระดับโลกนั้น ฝรั่งเศสเหนือชั้นกว่าอังกฤษ เพราะโครงการขุดคลองสุเอซ เป็นผลงานเชิงประจักษ์

กลับมาคุยกันเรื่อง การขุดคลองสุเอซ ในประเทศอียิปต์ ครับ

การขุดคลองสุเอซเป็นประกายความคิดของนโปเลียนที่ 1 ของฝรั่งเศสที่เคลื่อนทัพมาอียิปต์ในปี พ.ศ.2341 แต่การเริ่มลงมือขุดเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในสมัยนโปเลียนที่ 3 ใน พ.ศ.2391 โดยนักการทูตและวิศวกรชาวฝรั่งเศส ชื่อ แฟร์ดีนอง เดอ เลเซป (Ferdinand de Lesseps) อดีตราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ซึ่งสนิทสนมกับผู้สำเร็จราชการของอียิปต์ ชื่อ โมฮัมเหม็ด ซาอิด ทั้งสองคนเคยหารือเรื่องการขุดคลองกันมาก่อนแล้ว รวมทั้งเรื่องเงินทองที่จะไหลมาเทมา

15 เมษายน 2401 นายเดอ เลเซป ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส ตั้งบริษัทคลองสุเอซ

25 เมษายน 2402 เริ่มลงมือขุด ซึ่งตรงกับสมัยในหลวงรัชกาลที่ 4 ของไทย โดยเริ่มขุดจากเมืองท่า Port Said บนฝั่งทะเลแดงด้านทวีปเอเชียก่อน เมื่อแรกขุดเสร็จ คลองยาว 163 กิโลเมตร กว้าง 205 เมตร ลึก 24 เมตร ใช้แรงงานคนนับแสนและเครื่องจักรขุดราว 10 ปีเศษ

เจ้าผู้ครองนครอียิปต์ปลื้มฝรั่งเศสมาก จึงทูลเชิญพระนางเออเจนี พระอัครมเหสีของนโปเลียนที่ 3 เสด็จมาเป็นประธานเปิดคลองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2412 ตรงกับปีแรกของในหลวง ร.5

การลงมือขุดคลองสุเอซโดยมีฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจถือธงนำ สร้างชื่อเสียงให้กับฝรั่งเศสดังก้องโลก เพราะคลองนี้ คือ เส้นทางสำคัญสำหรับมนุษยชาติที่จะได้รับประโยชน์สุขมหาศาล เป็นความคิดสร้างสรรค์แบบไม่เคยปรากฏมาก่อน คลองนี้จะช่วยย่นระยะทางได้ราว 6,400 กิโลเมตร เรือไม่ต้องไปผ่านแหลมกู๊ดโฮปที่อันตรายตายเรือแตกเป็นเบือ ในขณะที่เรือแล่นผ่านคลองสุเอซใช้เวลาเพียง 11-16 ชั่วโมง

คู่แข่งที่พลาดท่าเสียทีและถือว่าพ่ายแพ้ในยุทธศาสตร์ระดับโลก คือ อังกฤษ ซึ่งหันมาก่อกวน ปลุกระดมคนงานก่อสร้างจากแอฟริกาและชาวอาหรับเร่ร่อนราว 120,000 คน ที่เข้ามาเป็นคนงานเพื่อให้เลิกทำงาน อังกฤษยังไปป่วนบริษัททางการเงินระดับโลก เพื่อให้ยุติการให้เงินสนับสนุนโครงการขุดคลอง

ปัญหาทางการเมือง การเงิน และความมั่นคง ที่รุมเร้าจากประเทศมหาอำนาจที่ไม่ได้ส่วนแบ่ง คือ มารผจญที่เลวร้ายที่สุดของการทำงาน

รัฐบาลสยามเองในช่วงเวลานั้น ค่อนข้างให้การยอมรับฝรั่งเศสในผลงานความสำเร็จของการขุดคลองสุเอซ ที่ทำให้ทีมวิศวกรฝรั่งเศสนำโดย มงซิเออร์ เดอลองก์ (M. Francois Deloncle) เข้ามาขออนุญาตสำรวจคลองกระ (Kra Canal) บริเวณด้ามขวานของสยาม

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงบ่ายเบี่ยงที่จะให้สัมปทานในการขุดแผ่นดินสยามในทันที เพราะทรงกังวลว่าอาจจะขัดใจกับฝ่ายอังกฤษที่ตามรังควานฝรั่งเศสเรื่องคลองสุเอซ

ในหลวง ร.5 ทรงทราบดีว่า อังกฤษกำลังตามมาขัดขวางฝรั่งเศสที่กำลังจะมาชิงเอางานชิ้นใหญ่จากสยาม

ในช่วงเวลานั้น เป็นความกดดันที่สยามต้องวางตัวให้สมดุลกับผลประโยชน์ของมหาอำนาจ ที่ขับเคี่ยวกันแบบเอาแผ่นดินเกิดเป็นเดิมพันเลยทีเดียว แผ่นดินสยามกลายเป็นสมรภูมิประลองกำลังแบบเงียบๆ

พ.ศ.2424 ในหลวง ร.5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ มร.เดอลองก์ สำรวจพื้นที่บริเวณคอคอดกระอย่างเป็นทางการ เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์

แต่ในที่สุดโครงการขุดคอคอดกระของสยามก็เงียบหายไป โดยไม่มีใครทราบเหตุปัจจัย

เกร็ดประวัติศาสตร์ ที่เป็นช่วงวิกฤตการณ์ของสยาม ตรงนี้ปรากฏในหนังสือ หน้าหนึ่งในสยาม ของท่าน
ไกรฤกษ์ นานา มีรายละเอียดตื้นลึกหนาบาง ที่นักประวัติศาสตร์พลาดไม่ได้นะครับ

การขุดคลองที่ว่ายาก แต่ที่ยากกว่านั้น คือ การรักษาอธิปไตย เพราะความจริงของโลกนี้ คนที่อ่อนแอจะเป็นผู้แพ้ตลอดกาล

บริษัทขุดคลองสุเอซได้รับสัมปทานให้ดำเนินการได้เป็นเวลา 99 ปี ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด คือ ฝรั่งเศส กับ อียิปต์

หลังจากเปิดใช้คลองในปี พ.ศ.2412 แล้ว มีเรือนานาชาติใช้บริการผ่านคลองเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการประกันสิทธิในการใช้คลอง ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศให้เรือของทุกชาติ สามารถใช้คลองนี้ไม่ว่าในยามสงบ หรือยามสงคราม

ฝ่ายอังกฤษ ที่พลาดโอกาสครั้งสำคัญ ครุ่นคิดในใจเสมอว่าคลองสุเอซเป็นช่องทางที่คอขาดบาดตาย หากมีการศึกสงครามอังกฤษจะไม่มีเสรีในการเคลื่อนกำลังรบทางเรือ

อังกฤษพยายามทุกวิถีทาง และในที่สุด พ.ศ.2418 รัฐบาลอังกฤษได้เข้าซื้อหุ้นของคลองสุเอซ 44% จาก
ผู้ปกครองอียิปต์ ชื่อ อิสมาอิล ปาชา ซึ่งในขณะนั้นอียิปต์กำลังประสบปัญหาการเงินเพื่อนำไปสร้างเขื่อนอัสวาน

ปี พ.ศ.2425 เกิดเหตุความไม่สงบในอียิปต์ในทางการเมือง อังกฤษฉวยโอกาสส่งทหารเข้ายึดและปกครองอียิปต์แบบดื้อๆ โดยมีฝรั่งเศสแอบหนุนหลัง อังกฤษได้ปกครองอียิปต์สมใจนึก โดยมีคลองสุเอซเป็นแก้วตาดวงใจ

สถานการณ์ตรงนี้พลิกผันอีกครั้งกลายเป็นว่า อังกฤษเข้ามาขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์คลองสุเอซกับฝรั่งเศสในแผ่นดินอียิปต์ มหาอำนาจทั้งสองเลยต้องไปตกลงกันในอนุสัญญาคอนสแตนติโนเปิล พ.ศ.2431 มีผลทำให้คลองสุเอซเป็นดินแดนเป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัติกองกำลังของอังกฤษได้ยึดครองพื้นที่จนกระทั่งปี พ.ศ.2497

ผู้เขียนเห็นว่า คลองสุเอซที่ขุดขึ้น เรียกแขกดีนักแล

สนธิสัญญา ข้อตกลงทุกชนิดในโลกนี้ไม่เคยมีความหมาย ชาติที่แข็งแรงกว่าจะฉีกทิ้งและบดขยี้ชาติที่อ่อนแอได้ทุกนาที

แม้กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษก็ประกาศห้ามเรือของชนชาติศัตรู แล่นผ่านคลองสุเอซ

เมื่อเกิดสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล ในปี พ.ศ.2491-2492 อียิปต์ประกาศห้ามเรือของอิสราเอลแล่นผ่านคลองสุเอซ

เงินทองไหลนองแต่ไม่ได้เข้าประเทศอียิปต์เลย 26 กรกฎาคม พ.ศ.2499 นายพลนัสเซอร์ (Nasser) ของอียิปต์ประกาศยึดคลองสุเอซเข้าเป็นของรัฐ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประท้วง

อียิปต์ประกาศกฎอัยการศึก ในบริเวณคลองสุเอซ พร้อมกับส่งทหารเข้าควบคุมกิจการของคลอง อิสราเอลถือโอกาสส่งรถถังบุกเข้าไปในคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ และมุ่งหน้าไปเขตคลองสุเอซ
ในเวลาเดียวกัน อังกฤษและฝรั่งเศสก็กระหน่ำซ้ำเติมโดยยกพลขึ้นบกที่ Port Said อ้างว่าส่งทหารเพื่อเข้ามารักษาความสงบ กองทัพอียิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือราว 40 ลำ กีดขวางคลองไม่ให้เรือผ่าน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2499 สหประชา ชาติ โดยสหรัฐอเมริกากดดันให้อังกฤษและฝรั่งเศสถอนกองกำลังออกจากคลองสุเอซ เพราะเกรงว่าสหภาพโซเวียตจะเข้ามาช่วยอียิปต์

มีนาคม พ.ศ.2500 อียิปต์ยินยอมให้เปิดใช้คลองได้อีกครั้ง และเมื่ออิสราเอลยอมถอนกำลังออกจากคาบสมุทรไซนาย

ปัญหาผลประโยชน์ของมหาอำนาจยังไม่จบสิ้น กรกฎาคม พ.ศ.2501 ธนาคารโลกเข้ามาไกล่เกลี่ยการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ ผลการเจรจารัฐบาลอียิปต์ต้องจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทคลองสุเอซเป็นจำนวน 81.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วิกฤตการณ์ คลองสุเอซ ครั้งที่ 2

เดือนมิถุนายน พ.ศ.2510 ได้เกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับ อียิปต์ประกาศไม่ยอมให้เรืออิสราเอลผ่านคลอง

อิสราเอลส่งรถถังบุกเข้าไปถึงด้านตะวันออกของคลองสุเอซ อียิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือขวางคลอง ความขัดแย้งครั้งนั้นยาวนาน 8 ปี จากปี พ.ศ.2510-2518

ในปี พ.ศ.2522 หลังจากอียิปต์และอิสราเอลบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ อียิปต์ก็ยอมให้เรืออิสราเอลใช้คลองสุเอซได้โดยเสรี

ปัจจุบัน คลองสุเอซได้รับการปรับปรุง และเปิดให้เรือนานาชาติแล่นผ่านได้ตามปกติ นับเป็นคลองที่มีความสำคัญทางด้านการค้าและทางยุทธศาสตร์มากแห่งหนึ่งของโลก

คลองสามารถรับเรือที่มีน้ำหนักขนส่งได้มากถึง 150,000 ตัน ความกว้างของเรือที่สามารถผ่านได้คือไม่เกิน 16 เมตร เมื่อปริมาณการเดินเรือเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ.2553 จึงขยายคลองให้สามารถรองรับเรือที่กว้างถึง 22 เมตร ได้

7 สิงหาคม 2558 ประธานาธิบดี อัลซีซี ของอียิปต์ ทำพิธีเปิดคลองสุเอซสายใหม่ที่เมืองท่าอิสเมอิลีอา ร่วมด้วยผู้นำจากหลายชาติ เพื่อขุดคลองสุเอซเส้นทางใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของอียิปต์

การขุดคลองสุเอซเส้นทางที่ 2 ต้องขุดพื้นดิน 37 กม. รวมไปถึงขุดลอกคลองเดิมให้กว้างและลึกขึ้นในระยะทาง 35 กม. ใช้เงินราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

คลองสุเอซเส้นทางใหม่จะย่นระยะเวลาการเดินเรือจาก 18 ชั่วโมง เหลือเพียง 11 ชั่วโมง รัฐบาลอียิปต์หวังว่าภายในปี 2566 จำนวนเรือที่ใช้คลองสุเอซจะเพิ่มจาก 49 ลำต่อวัน เป็น 97 ลำ และประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากคลองนี้ จะเพิ่มเป็น 13.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566

มาจนถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีเรื่องการขุดเจาะเป็นเรื่องขี้ผง มนุษย์ใช้เครื่องจักรฟาดฟันเอาชนะได้หมด เจาะทะลุทะลวงภูเขา ทำอุโมงค์ลอด ทำสะพานข้ามหุบเหวไปได้ทุกแห่งหน ใต้ทะเล ใต้มหาสมุทรยังลงไปทำถนนวิ่งกันไปมาได้

เมื่อนึกถึงโครงการขุด คลองกระ คอคอดกระ หรือคลองไทย ลองย้อนไปศึกษา ครุ่นคิดตำนานคลองสุเอซเป็นตัวอย่างนะครับ

ฉบับหน้า เป็นตำนานการขุดคลองปานามา ที่วิศวกรฝรั่งเศสไปแสดงแสนยานุภาพขอขุดคลองระดับโลกอีกแห่งครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

(ขอบคุณข้อมูลจาก หน้าหนึ่งในสยาม ของ ไกรฤกษ์ นานา และภาพประกอบจาก history.com The Print Collector/Getty Images และ silpa-mag.com)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image