วันเด็ก ขอนโยบายดีกว่าคำขวัญวันเด็ก

ประเทศไทยมีวันเด็กธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อเนื่องมาถึง 62 ปี นับแต่ปี พ.ศ.2499-2561 คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ.2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” สำหรับคำขวัญปี พ.ศ.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” การมีวันเด็กเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญ ความต้องการ การมีส่วนร่วม การรู้จักสิทธิ หน้าที่ ระเบียบวินัย ตามการลงนามไว้กับสหประชาชาติทั้งในปี พ.ศ.2498 และปี พ.ศ.2535 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งมี 196 ประเทศให้การรับรอง

อย่างไรก็ตาม คำขวัญวันเด็กได้สะท้อนตัวตน ความคิดหลัก ค่านิยมของนายกรัฐมนตรีแต่ละท่านตามกาลเวลาที่ผ่านมาว่าต้องการให้เด็กไทยมีคุณลักษณะร่วมกัน มีหน้าตาเช่นไร หรือคุณสมบัติที่พึงประสงค์อะไรบ้าง

นอกจากนั้นยังสะท้อนสภาพปัญหาสังคมร่วมสมัยในเวลานั้นด้วย ดังเช่น ยาเสพติด ความไม่สามัคคีกัน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ความไม่มั่นคง และการไม่เป็นประชาธิปไตย การเฉลิมฉลองวันเด็กของประเทศไทยเป็นงานอีเวนต์ (event) ระดับประเทศ นับแต่การมอบคำขวัญวันเด็ก จัดทำหนังสือ พาเด็กออกเที่ยว ผลัดกันนั่งโต๊ะนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมเครื่องบิน รถถัง อาวุธยุทโธปกรณ์ การแสดงชุดต่างๆ ให้ของเล่น ทายคำขวัญ หน่วยราชการเปิดสถานที่ให้เด็กได้เยี่ยมชม และอื่นๆ

ธรรมเนียมนิยมเหล่านี้ปฏิบัติกันมายาวนานและจะดำเนินต่อไปปีแล้วปีเล่า เราเคยถามย้อนแย้งกลับไปหรือไม่ว่าเจตนารมณ์ของการมีวันเด็ก แก่นสาร คุณค่าที่แท้จริงคืออะไร เด็กได้ประโยชน์ นโยบายสำคัญเพื่อตัวตนของเด็กจริงๆ มีอะไรบ้าง เสียงของเด็กอยู่ที่ไหน เรารักเด็กหรือหลอกเด็กเป็นปีๆ ไป ที่ผ่านมาเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง การกำหนดนโยบายด้านเด็กมากน้อยเพียงใด คำถามย้อนแย้งเหล่านี้ในหลายประเทศมีการตื่นตัวเตรียมเด็กเพื่ออนาคตของประเทศ การสนับสนุนจัดตั้งกองทุนเพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ การออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคบ ที่เน้นเสียงเด็กเป็นสำคัญ การพบปะนักการเมือง ผู้นำประเทศ เป็นเจ้าของโจทย์ปัญหาสำคัญด้วยตนเอง และอื่นๆ

Advertisement

ดังตัวอย่างประเทศเหล่านี้ ได้แก่

1) ประเทศอังกฤษ หวังสร้างเทรนด์ใหม่ผ่าน #I will fund ให้เด็กเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม กองทุนนี้เป็นอิสระมุ่งส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนวัย 10-20 ปี ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น 50% ภายในปี 2020 โดยได้รับเงินตั้งต้นจำนวน 40 ล้านปอนด์ (1,753 ล้านบาท) จากรัฐบาลอังกฤษ และ Big Lottery Fund ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนคิดโครงการและสมัครขอรับทุนด้วยตนเอง นอกจากสังคมจะได้ประโยชน์โดยตรงจากกิจกรรมของเด็กและเยาวชนแล้ว เด็กและเยาวชนยังได้พัฒนาบุคลิกภาพและทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตอีกด้วย

2) ประเทศฟินแลนด์ พ.ร.บ.สวัสดิการเด็ก (Child Welfare Act) ปฏิรูปการดูแลเด็กทั่วประเทศ ประเทศนี้เป็นผู้นำด้านสวัสดิการเด็ก การศึกษา การคุ้มครองเด็ก ฟินแลนด์มีการกระจายอำนาจลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจปกครองตนเองสูง ในปี 2013 มีการปรับปรุง พ.ร.บ.สวัสดิการเด็กปี 2008 ใหม่ โดยยึดถือประโยชน์ของเด็กเป็นหลักสำคัญและเคารพสิทธิ หน้าที่ การมีส่วนร่วมของเด็กและผู้ปกครองอย่างแท้จริง การเน้นให้ท้องถิ่นทำแผนปฏิบัติการอย่างละเอียดในการให้บริการแก่เด็ก เน้นให้ทุกท้องที่บริการได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน

Advertisement

3) ประเทศแคนาดา มีวันพา ส.ส.ไปโรงเรียน เป็นกิจกรรมประจำปีในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติของแคนาดา ยูนิเซฟแคนาดาจะจัด “Bring your PM to School Day” หรือ “วันพา ส.ส.ไปโรงเรียน” โดยผู้แทนราษฎรจะไปเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ของตนเองเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ส.และนักเรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบาย และส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องหน้าที่พลเมือง สิทธิเด็ก เพื่อให้เด็กได้เป็นพระเอกและเสริมพลังทางการเมืองได้อย่างแท้จริง

4) ประเทศฝรั่งเศส เตรียมออกกฎระเบียบห้ามเด็กใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเด็กวัยประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น อายุระหว่าง 6-15 ปี สนใจเล่นมือถือมากเกินไป สมาธิการเรียนในห้องลดลง ไม่ค่อยวิ่งเล่น ขาดทักษะทางสังคม มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าโทษของการอยู่กับแท็บเล็ตและมือถือมากเกินไปทำให้เด็กมีสมาธิสั้น ก้าวร้าว อ้วน เหนื่อยง่าย ต่อต้านสังคม อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทั้งในหมู่เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และครูจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน

5) ประเทศสวีเดน Young Voices สำรวจความคิดเด็กนำสู่ระดับนโยบาย มีการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชน 12-16 ปีทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ Young Voices เสียงของเด็กรุ่นใหม่เพื่อตอบโจทย์ของประเทศสวีเดนในการดำเนินการด้านสิทธิเด็กเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือเจรจากับนักการเมือง ส.ส. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของความเปลี่ยนแปลงในสังคมผ่านเสียงของเด็กๆ เอง

6) ฮ่องกง การนำเด็กเข้าสู่อารยธรรม East Meet West การปะทะกันของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก การปรับปรุงปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่จากระบบอังกฤษมาสู่ ความเป็นวัฒนธรรมจีนที่เกิด 2 ระบบควบคู่กันไป การเป็นนักค้าขาย (traders) ในภูมิประเทศที่เป็นเกาะและเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การสื่อสาร และการเชื่อมโยงทางการค้าสากลทั่วโลก

สังคมปัจจุบันของฮ่องกงยังคงมีการปะทะและเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเด็กและเยาวชนด้านประชาธิปไตยกับสังคมนิยมจีนตลอดเวลา

7) ประเทศไอซ์แลนด์ Youth in Iceland แก้ปัญหาแบบองค์รวม ลดปัญหาวัยรุ่นได้ผล 20 ปี เนื่องด้วยไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่วัยรุ่นดื่มเหล้าหนักที่สุดในยุโรป ในช่วงเวลา 18 ปี จำนวนเยาวชนอายุ 15-16 ปี มีปัญหาเหล้า บุหรี่ และยาเสพติดลดลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุมาจากโครงการ Youth in Iceland ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ กีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือใช้เวลากับครอบครัว ประเทศมีการปรับปรุงเพิ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดเวลาห้ามเด็กอายุ 13-16 ปี อยู่นอกบ้านเวลาดึก ให้เงินกับครอบครัวยากจน 11,000 ต่อปีต่อเด็ก 1 คน เพื่อใช้ในกิจกรรมเหล่านี้

8) ประเทศโรมาเนีย เด็กมีส่วนร่วม ลดความรุนแรงในโรงเรียน โครงการนี้เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วยตนเอง นักเรียนเลือกและแต่งตั้งนักเรียนกลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่สอนเพื่อนๆ เล่นกันอย่างถูกวิธี เด็กๆ ช่วยกันพัฒนาคู่มือเล่นเกมขึ้น รุ่นพี่มีประสบการณ์ส่งต่อรุ่นน้อง ทำให้โครงการนี้เกิดความต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

9) ประเทศออสเตรเลีย ออกกฎหมายและตั้งคณะกรรมการอิสระ รักษาความปลอดภัยสำหรับเด็กบนโลกออนไลน์ ปัจจุบันมีการรายงานว่าเด็กเป็นเหยื่อการรังแกกันบนโลกออนไลน์ (cyberbullying) จำนวนมาก รัฐบาลออสเตรเลียได้ปรับปรุง พ.ร.บ.ความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยของเด็กปี 2015 แก้ไขเพิ่มเติม 2017 กฎหมายฉบับนี้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยของเด็กบนสื่อออนไลน์ เป็นคณะกรรมการอิสระ มีบริการสายด่วนเพื่อให้คำปรึกษาเด็กและเยาวชนอายุ 5-25 ปีโดยเฉพาะ การรับข้อร้องเรียนและการบริการให้ข้อมูลประเด็นความปลอดภัย เกมออนไลน์ ข้อมูลส่วนบุคคล ภาพถ่าย วิดีโอ และสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย

10) ประเทศสหรัฐอเมริกา Let’s talk รณรงค์การพูดคุยกันในครอบครัว ลดความเสี่ยงวัยรุ่นติดยาเสพติด การฆ่าตัวตาย ผู้ปกครองหลายคนอาจรู้สึกว่าการพูดคุยกับลูกเรื่องใหญ่ๆ อย่างยาเสพติด เพศ การฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องยาก แต่หากไม่คุยกัน เยาวชนจะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะตัดสินใจผิดพลาดได้ ในหลายรัฐได้จัดโครงการ “Let’s talk” รณรงค์การพูดคุยกันในครอบครัว เสริมพลังทางบวก เผยแพร่สื่อให้ความรู้แก่ผู้ปกครองด้วยเอกสารแผ่นพับ วิดีโอ เว็บไซต์ ที่มีข้อมูลนำไปใช้ได้ทันที ส่งเสริมให้ผู้ใหญ่ “รับฟังแบบเพื่อน และตอบแบบพ่อแม่”

ในมุมมองของผู้เขียน วันเด็กของไทยกับนานาประเทศในเชิงเปรียบเทียบจะพบว่าประเทศไทยมิได้ด้อยกว่าประเทศเหล่านี้มากนัก เรามีกฎหมายด้านเด็ก 7-8 ฉบับ ดังเช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็ก พ.ศ.2550 มีแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 และอื่นๆ

จะเห็นได้ว่าทุกๆ ปี ผู้นำประเทศจะให้คำขวัญวันเด็กปีแล้วปีเล่า แต่ทำไมคุณภาพ คุณธรรม คุณประโยชน์ของเด็กไทยจึงอ่อนด้อยลงทุกปี ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมทำให้เด็กและเยาวชนเกิดภาวะสุ่มเสี่ยงเต็มไปหมด วันเด็กเป็นเพียงอีเวนต์ประจำปีเพื่อให้เด็กได้แสดงออกวูบวาบวันเดียว การมีส่วนร่วมของเด็ก การรับฟังเสียงเด็กจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านเด็กซึ่งมีเด็กเป็นเพียงไม้ประดับ รัฐมีนโยบายที่เฉีบบแหลม คมชัด ตรงกับปัญหามากน้อยเพียงใด การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยานและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา การสร้างเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่แบบไร้ทิศทาง เป้าหมายที่ชัดเจน ล้มลุกคลุกคลาน ไม่ต่อเนื่องยั่งยืน รัฐมีเงามืดเบี่ยงเบนเด็กและเยาวชนไม่ให้สนใจการเมือง แต่เร้าให้ทำกิจกรรมบันเทิงเสียมากกว่า

เราแทบไม่ได้ทำอะไรอย่างจริงจังเพื่อเด็กไทยของเราเลย นอกจากการให้คำขวัญที่ใช้เพื่อการท่องจำมาโดยตลอด ขอนโยบายด้านเด็กที่มาจากเสียง ความต้องการ การมีส่วนร่วมของเด็ก มากกว่าคำขวัญที่กำหนดอย่างเป็นธรรมเนียมนิยม ที่ส่งต่อกันมาแต่แทบไม่มีการปฏิบัติขับเคลื่อนเลยแม้แต่น้อย

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ปัญจพร ธรรมนิยม
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการ
ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image