แนวต้าน ‘คสช.’ ข้อเสนอ พิชัย รัตตกุล ค่อยๆ เผยแสดง

ทั้งๆ ที่ข้อเสนอของ นายพิชัย รัตตกุล ให้สร้างพันธมิตรในแนวร่วมเพื่อต้าน “คสช.” สืบทอดอำนาจทางการเมืองถูกมองว่า “เพ้อฝัน”

แล้วเหตุใดจึงกลายเป็น “ประเด็น”

ไม่เพียงแต่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายจากเยอรมนี ผู้เคยมีบทบาทเป็นอย่างสูงในสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

จะนำไป “ต่อยอด” และ “สรุป”

Advertisement

ด้วยความเชื่อมั่นว่า ยิ่งใกล้เดือนพฤศจิกายน 2561 มากเพียงใด กระแสทางสังคมจะเกิดการแปรเปลี่ยน มิได้เป็นเรื่องของ “เหลือง” มิได้เป็นเรื่องของ “แดง” เหมือนก่อนเดือนกันยายน 2549 เหมือนก่อนเดือนพฤษภาคม 2557

หากจะลงเอยด้วย 2 ความคิด 2 แนวทาง

นั่นก็คือ “เอาทหาร” นั่นก็คือ “ไม่เอาทหาร”

Advertisement

ความคิดในแบบของ นายพิชัย รัตตกุล อาจดูเป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้ ถูกคัดค้านแม้กระทั่งจากพรรคประชาธิปัตย์

แต่ความคิดนี้มีลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออยู่ในเงื่อนไขที่ 1 สังคมการเมืองเป็นความต่อเนื่องจากกระบวนการรัฐประหาร

และ 1 คณะรัฐประหารต้องการ “สืบทอด” อำนาจ

ตัวอย่างของกรณีคล้ายๆ กันนี้เคยมีในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ไม่ว่าจะในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่าจะในยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ว่าจะในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

และล่าสุดก็ในยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร

ใครก็ตามที่แสดงความคิดในลักษณะนี้ในเบื้องต้นจะถูกมองว่า “เพ้อฝัน” และ “เป็นไปไม่ได้” แต่เมื่อผ่านมาพอสมควรก็จะเห็นความเป็นจริงเด่นชัดขึ้น

การต้านตัวบุคคล “เชิงปัจเจก” ก็ขยายไปสู่ “องค์กร”

สภาพความเป็นจริงภายหลังสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และภายหลังสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

มีความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งดำรงอยู่อย่างแน่นอน และเด่นชัด

หากมองผ่านพรรคการเมืองก็คือ ความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคใหญ่ นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคเพื่อไทย

พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

ยากยิ่งที่ 2 พรรคนี้จะจับมือกันได้

หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 อาจเป็นเช่นนั้น เพราะ คมช.มิได้ต้องการสืบทอดอำนาจ แต่เมื่อเป็นหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ก็เป็นอีกเรื่อง

แม้ในเบื้องต้นความขัดแย้ง “เดิม” ยังดำรงอยู่

แต่เวลา 3 ปีที่ผ่านมา คสช.แสดงออกอย่างเด่นชัดว่ามิได้ต้องการอำนาจ “ชั่วคราว” หากแต่ต้องการอำนาจอย่าง “ถาวร” และยาวนาน

ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยน

เมื่อข้อเสนอในเชิงเรียกร้องของ นายพิชัย รัตตกุล ดำรงอยู่อย่างมีลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์” กาลเวลาจะค่อยๆ ให้คำตอบ

พฤติการณ์ของ “คสช.” นั่นแหละเป็น “ปัจจัย”

เป็นพฤติการณ์อัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สรุปออกมาได้อย่างคมชัดว่า “กองหนุน” เริ่มถดถอยและน้อยลงเป็นลำดับ

เนื่องจากต้องการอำนาจ ต้องการสืบทอดอำนาจ

กระแสต่อต้าน คสช.กระแสต่อต้านการสืบทอดอำนาจจึงค่อยๆ ก่อรูปขึ้นและดำรงอยู่อย่างเป็นพันธมิตรในแนวร่วมหลวมๆ โดยอัตโนมัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image