จนท.ป่าไม้เซ็ง ‘กฤษฎีกา’ ปิดทางใช้เงินรายได้อุทยานฯ ช่วยคดีปะทะมอดไม้ดับ

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้ออกหนังสือเวียนไปยังผู้บริหารทุกส่วนราชการและสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษัทั้ง 16 แห่งทั่วประเทศ ในสังกัดกรมอุทยานฯ เรื่องขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีอาญาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตรวจปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ เพื่อขอรับบริจาคเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ 4 ราย ซึ่งถูกฟ้องคดีอาญาเนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แม่ยมและเจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารม้าที่ 12 (ค่ายพระยาไชยบูรณ์) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 ในการปะทะกันทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 2 ศพ และบาดเจ็บสาหัส 5 คน ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายในการแก้ต่างคดีเป็นเงิน 2 แสนบาทและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียชีวิต โดยที่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่กรณีถูกฟ้องคดีอาญา ขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากรมอุทยานฯ สามารถนำเงินรายได้อุทยานฯ ที่สามารถจัดเก็บได้จำนวนมากมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่แทนการเรี่ยไรขอรับบริจาคได้นั้น

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดกรณีดังกล่าวกรมอุทยานฯ ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการนำเงินรายได้เพื่อบำรุงอุทยานแห่งชาติไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกดำเนินคดีอาญาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในพื้นที่เตรียมการผนวกอุทยานแห่งชาติ โดยกรมอุทยานฯ ได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้ 1.กรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ กรมอุทยานฯ จะสามารถนำเงินรายได้ในการบำรุงรักษาอุทยานฯ ตามระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการเก็บรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานฯ พ.ศ.2560 มาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกี่ยวกับการดำนินการได้หรือไม่อย่างไร 2.หากสามารถนำเงินรายได้ในการบำรุงรักษาอุทยานฯ มาเป็นค่าใข้จ่ายตามข้อ 1.ได้ หากต่อมาศาลพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นผู้กระทำความผิด เงินบำรุงรักษาอุทยานฯ ที่จ่ายไปแล้วจะดำเนินการอย่างไร 3.กรณีที่เจ้าหน้าที่ได้เสียค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดี หากต่อมาศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง กรมอุทยานฯ สามารถนำเงินรายได้ในการบำรุงรักษาอุทยานฯ มาชดใช้ให้แก่เจ้าหน้าที่ได้หรือไม่

ทั้งนี้นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือตอบกลับมายังกรมอุทยานฯว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะ 7 ) ได้พิจารณาข้อหารือกรมอุทยานฯ ประกอบข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่มเติมแล้วมีความเห็น สรุปใจความ ว่า ประเด็นเรื่องการนำเงินรายได้เพื่อบำรุงอุทยานฯ ไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้หรือไม่นั้น มาตรา 23 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 บัญญัติให้เงินค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าตอบแทนที่กรมอุทยานฯ เก็บได้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากร และเก็บรักษาไว้ใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุทยานฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี โดยเงินรายได้นำไปจ่ายได้เฉพาะเพื่อบำรุงรักษาอุทยานฯ ตามกรณีที่กำหนดในระเบียบฯ แต่หากจะนำไปใช้จ่ายเพื่อบำรุงอุทยานฯ นอกเหนือจากรณีที่กำหนดไว้ในระเบียบ ย่อมเป็นอำนาจของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินตามมาตรา 23 พ.ร.บ. อุทยานฯ ต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครอง ดูแล รักษา หรือพัฒนาในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศกำหนดเป็นเขตอุทยานฯ แล้วเท่านั้น

หนังสือระบุอีกว่า การที่กรมอุทยานฯ ประสงค์จะนำเงินรายได้ดังกล่าว มาเป็นค่าใข้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ที่ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้ายซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานฯนั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมิได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตอุทยานฯ ตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 แต่อย่างใด การปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่นี้จึงมิใช่การดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการบำรังรักษาอุทยานฯ ประกอบกับการนำเงินรายได้ไปใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษาอุทยานฯ ในกรณีสนับสนุนการปฏิบัติงาน และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตามระเบียบข้อ 14 (8) ย่อมต้องเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อันเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของกรมอุทยานฯ ว่าคดีอาญาที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ถูกพนักงานอัยการเป็นโจทย์ฟ้องคดีในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนานั้น และศาล จ.ลำปางได้มีคำพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่มีความผิดตามฟ้อง เนื่องจากเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จึงไม่อาจถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการที่อธิบดีกรมอุทยานฯ จะนำเงินรายได้ของกรมอุทยานฯ มาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ตามข้อหารือ จึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินรายได้อุทยานฯ

Advertisement

หนังสือระบุต่อว่าทั้งนี้ แม้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จะถูกพนักงานอัยการเป็นโจทย์ฟ้องคดีอาญา จึงมีผลทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือตามข้อ 5 แห่งระเบียบว่าด้วยกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องคดีอาญา พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์กลางสำหรับช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการ แต่หากกรมอุทยานฯ พิจารณาแล้ว เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ก็อาจพิจารณาดำเนินตามข้อ 10 แห่งระเบียบกระทรวงการคลัง โดยกรมอุทยานฯ ในฐานะส่วนราชการเจ้าสังกัด สามารถขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติการนอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ ส่วนประเด็นข้อหารือที่สองและประเด็นที่สาม เมื่อพิจารณาแล้วกรมอุทยานฯ ไม่สามารถนำเงินรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในกรณีดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อหารือทั้งสองประเด็นอีก

ด้านนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเงินรายได้อุทยานฯ ไม่สามารถนำมาใช้ในกรณีช่วยเหลือคดีความเจ้าหน้าที่ได้ เนื่องจากกฤษฎีกาตีความว่าไม่เข้าข่ายเป็นการบำรุงรักษาอุทยานตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แม่ยม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ และผู้บริหารทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่และรวบรวมเงินช่วยเหลือในเรื่องคดีความจนครบถ้วนแล้ว ในส่วนความคืบหน้าคดีศาลยกฟ้องเจ้าหน้าที่แล้ว 3 คน สั่งจำคุก 1 คน กำลังต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์และขอประกันตัวออกมา โดยดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรี ทส.ได้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อผู้พิทักษ์ป่าขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 กรม คือกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งมีการจัดทำประกันให้กับเจ้าหน้าที่ กรณีบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีกำลังใจในการทำงานเพื่อประเทศชาติ ขณะที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ก็มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งกองทุนในการให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานในเรื่องคดีความ ที่เจ้าหน้าที่กระทำโดยเจตนาดีต่อองค์กรและทางราชการโดยเฉพาะในการปกป้องผืนป่า ซึ่งเบื้องต้นมีภาคเอกชนร่วมให้ทุนสนับสนุน พร้อมมีสำนักงานอัยการเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการจัดตั้งกองทุนแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image