ตีแผ่ตำนานการค้าทาส โดยพลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

“ทาส” อุบัติขึ้นมาบนโลกมนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์ ด้วยเหตุจากการทำสงครามกันระหว่างชนเผ่า ฝ่ายแพ้จะต้องตกเป็นทาสของฝ่ายชนะ อียิปต์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์นักรบ ที่เอาเชลยศึกจำนวนมหาศาลไปแบกหินสร้างพีระมิดที่คนธรรมดาที่ไม่ใช่ทาสสร้างไม่ได้ กองทัพโรมันรบชนะสิบทิศนำเชลยศึกนับแสนไปสร้างตึกรามบ้านช่องใหญ่โต สงครามเป็นจุดกำเนิดของ “ทาส”

การค้าทาสมีปฐมบทจากหัวหน้าชนเผ่าต่างๆ ในทวีปแอฟริกาขายพวกเชลยศึกให้แก่พวกพ่อค้าชาวอาหรับเอาไปเป็นแรงงานทำงานหนักในตะวันออกกลาง ต่อมาพ่อค้านักเดินเรือจากยุโรปโดยเฉพาะโปรตุเกส เมื่อแล่นเรือไปถึงแอฟริกา ได้เข้าร่วมในการค้าทาสเพื่อนำไปขายในยุโรปที่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูงานในอุตสาหกรรม

คำถามที่ค้างคาใจผู้เขียนมานาน คือ การค้าทาสมันมีจุดเริ่มต้นแบบไหน อย่างไร “ทาส” จึงไปถึงยุโรปและอเมริกา ?

มหาอำนาจของยุโรปเมื่อ 400 ปีที่แล้ว คือ โปรตุเกส และสเปน ทั้ง 2 ชนเผ่านี้เก่งฉกาจในการต่อเรือ รักการผจญภัย แล่นเรือออกทะเลลึก เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย นำสินค้าจากยุโรปไปจำหน่าย นำสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับของมีค่าจากดินแดนอื่นๆ แล้วนำของมีค่าใส่เรือกลับไปจำหน่ายในยุโรป

Advertisement

นักเดินเรือเดนตายเหล่านี้ มีความรู้เรื่องการเดินเรือเหนือกว่าชนชาติใดในโลก ใช้ชีวิตอยู่บนเรือในทะเลแบบเย้ยฟ้าท้าดิน

ประวัติศาสตร์ไทยบันทึกว่า โปรตุเกส เป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่แล่นเรือมาถึงอยุธยาในปี พ.ศ.2054 นะครับ นายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 คนพวกนี้เก่งจริงๆ

ในทวีปแอฟริกา หัวหน้าเผ่าเป็นศูนย์รวมทุกสรรพสิ่ง การรบราฆ่าฟันกันระหว่างชนเผ่าต่างๆ ในกาฬทวีป “ทาส” ไม่มีสถานะเท่ากับมนุษย์ ทาสเป็นสินค้าที่มีชีวิต มีการแลกเปลี่ยนทาส มีการซื้อขายทาสกันเองระหว่างชนเผ่าต่างๆ ที่สู้รบกันตลอดเวลา

Advertisement

เมื่อพ่อค้านักเดินเรือจากยุโรปสามารถเดินทางไปถึงทวีปแอฟริกา สินค้าที่ชาวป่าทั้งหลายต้องการที่สุด คืออาวุธปืน ดินปืน กระสุนเพื่อนำไปต่อสู้กัน ชาวป่าในแอฟริกาไม่มีเงินที่จะนำมาซื้ออาวุธได้ ทาสตัวเป็นๆ คือ สิ่งที่นำมาแลกเปลี่ยนกับอาวุธ เสื้อผ้า และของใช้

การค้าทาส มีจุดกำเนิดและเกิดขึ้นมาด้วยประการฉะนี้

การนำทาสมาเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็น “ธุรกิจเกิดใหม่” ที่ทำให้อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เดนมาร์ก กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์การค้าด้วย เพราะในห้วงเวลานั้นยุโรปกำลังกลายเป็นยักษ์ใหญ่ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของโลกที่ต้องการแรงคน

ในศตวรรษที่ 17 การค้าทาส เป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล ที่พ่อค้าจากยุโรปไปกว้านซื้อผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก มาจากทวีปแอฟริกา และยังแล่นเรือไปแสวงหาทาสอีกแห่งจากหมู่เกาะเปอร์โตริโก

ความคิดคำนึง ความสำนึกถึงกฎเกณฑ์ กฎหมาย คุณธรรม หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง เมื่อทาสเป็นสินค้าทำเงินมีค่าดั่งทองคำ เกิดการแย่งชิง ทาสเริ่มขาดตลาด ชาวป่าเริ่มมีการขัดขืน ต่อต้าน จึงเกิดการปล้น การลักพาตัว นำกองกำลังไปจับตัวมาดื้อๆ เพื่อจับเอามาขายเป็นทาส กิจการซื้อมาขายไปน่าสังเวชคล้ายธุรกิจขายสัตว์ป่า เพราะบางรายต้องใส่กรงขัง บางกลุ่มต้องล่ามโซ่

พ่อค้าทาสผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในกาฬทวีป คือ นายฟรานซิสกู เฟลิกส์ เดอ ซูซา (Francisco Felix de Souza) อุปราชแห่งเมืองวีดาห์ (Quidah)

ในปี พ.ศ.2231 เมืองวีดาห์กลายเป็นศูนย์กลางของการค้าทาส เขาเป็นผู้ผูกขาดการค้าทาสในภูมิภาค เดอ ซูซา ร่ำรวยมหาศาลจากธุรกิจค้ามนุษย์ ท่าเรือเมืองวีดาห์ ส่งออกทาสไปขายราว 1 ล้านคน (ปัจจุบันเมืองวีดาห์อยู่ในประเทศเบนิน)

ผู้เขียนขอตีแผ่ “การปฏิบัติต่อทาส” เพื่อการซื้อขาย

ทาสที่จะนำมาขายจะต้องถูกล่ามโซ่ โดยมากจะต้องเดินทางไกลกว่าจะมาถึงท่าเรือ และจะต้องเดินกลางคืน ก็เพราะต้องการให้ทาสจำทิศทางไม่ได้และหากหลบหนีจะกลับบ้านไม่ถูก

ในแอฟริกา บางครั้งต้องเผาหมู่บ้าน เพื่อต้องการให้ทาสสิ้นเนื้อประดาตัว และนำทาสไปขาย

เมื่อพวกทาสถูกจับกุมมาได้จะถูกคัดเลือกประเภท ขนาด แล้วจะถูกนำมาขังรวมกันไว้บริเวณใกล้ๆ ท่าเรือเพื่อรอกำหนดเรือที่จะมาซื้อบางครั้งต้องถูกขังอยู่นานเป็นเดือน

เมื่อผู้ซื้อจากยุโรปเดินทางมาถึง จะคัดเลือกจากรูปร่างเพื่อให้แน่ใจว่าทาสจะทำงานหนักได้คุ้มเงินที่ต้องจ่าย ผู้ซื้อจะตีตราทาสที่ตนซื้อมา เหมือนตีตราวัวควาย ทาสจะถูกนำไปที่ท่าเรือชายทะเล ทยอยลงเรือเล็กไปขึ้นเรือใหญ่ แล้วนำไปขังไว้ใต้ท้องเรือ

มนุษย์ที่ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสัตว์เหล่านี้ จะไม่มีวันได้เห็นแสงแดดจนกว่าจะถึงที่หมาย เรือใช้เวลาแล่นนานนับเดือน จะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ต้องปล่อยกันในใต้ท้องเรือแบบเรี่ยราด

ท้องทะเลที่มีคลื่นลมและพายุจะทำให้ทาสเหล่านี้เจ็บป่วยและเสียชีวิตแบบไม่ต้องสงสัย ฝูงทาสจะกินเศษอาหารแบบคลุกรวมกันวันละมื้อ ในบันทึกที่แสนเศร้าของพ่อค้าทาส ระบุว่าทาส 10 คนจะรอดชีวิตถึงที่หมายราว 5-6 คน เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อค้าทาสจึงต้องคิดถึงขาดทุน-กำไร โดยจะต้องบรรทุกทาสไปให้มากที่สุดในแต่ละเที่ยว

วิธีที่จะจัดการบรรทุกให้ได้เต็มพื้นที่ คือ พ่อค้าทาสจะนำทาสที่ซื้อมานอนเรียงสลับฟันปลากันไปมาจนเต็มท้องเรือในแต่ละชั้น เพื่อให้แต่ละคนใช้พื้นที่น้อยที่สุด (ดูภาพ)

ในระหว่างเดินทางบนเรือนรก ทาสทั้งหมดจะถูกแยกระหว่างชายหญิง ทั้งหมดต้องเปลือยกาย ผู้ชายจะถูกล่ามโซ่ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือ ทาสจำนวนหนึ่งต้องตายจากการขาดน้ำ ขาดอาหาร และความแออัด ถ้าเป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่ก็จะถูกบรรดากะลาสีเรือข่มขืน ทาสที่เสียชีวิตจะถูกโยนทิ้งลงทะเล

ครั้นเมื่อเรือค้าทาสเดินทางมาถึงเมืองท่าปลายทางแล้ว เหล่าทาสก็จะถูกประมูลขาย คนป่าจากแอฟริกาที่รอดตายจากการเดินทางแสดงว่าแข็งแรงจริง จะถูกทำความสะอาดร่างกายให้ดูดี เพื่อให้ได้ราคาสูง

นายทาสสามารถใช้แรงงานทาสแบบไม่ต้องประหยัดชีวิต หรือแม้แต่จะฆ่าให้ตายก็ไม่ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย

บราซิลเป็นดินแดนกว้างใหญ่ ก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่สั่งซื้อทาส ซึ่งทาสที่ถูกขายไปทำงานในบราซิลเป็นชนเผ่าจากอังโกลา ส่วนทาสที่ไปอเมริกาส่วนใหญ่ไปจากเมืองทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา

แรงงานทาสจากแอฟริกาไปพลิกแผ่นดิน ทำให้บราซิลเป็นดินแดนที่ผลิตน้ำตาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดส่งขายในยุโรป

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกาใน 12 ตุลาคม พ.ศ.2035 ทำให้ชาวยุโรปจำนวนนับล้านแห่กันลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าไปตั้งรกรากในดินแดนที่เรียกว่า “โลกใหม่” (New World) ที่ต่อมาคือ สหรัฐอเมริกา

การตั้งถิ่นฐานในอเมริกา ต้องการแรงงานในการบุกเบิก การทำเหมืองแร่ และเกษตรกรรม สร้างบ้าน สร้างเมือง ทำให้อเมริกาเป็นดินแดนที่ต้องการแรงงานมหาศาลโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมทางตอนใต้ ทาสจากแอฟริกาเป็นพลังขับเคลื่อนที่ทำให้อเมริกาผงาดในการผลิต น้ำตาล ฝ้าย กาแฟ ยาสูบ และข้าว

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ประมาณว่า มีชาวแอฟริกา จำนวน 12-15 ล้านคน ถูกส่งตัวลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังดินแดนอันห่างไกล โดย 85 เปอร์เซ็นต์ ถูกส่งไปยังบราซิล และอาณานิคมต่างๆ ของสเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลันดา ในทะเลแคริบเบียน ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ถูกส่งไปยังแผ่นดินอเมริกา ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในความปกครองของอังกฤษ

มีข้อมูลแบบหยาบๆ ระบุว่า ในช่วงปี พ.ศ.2069-พ.ศ.2410 ทาสผิวดำจากแอฟริกาถูกส่งไปขายในอเมริการาว 10.7 ล้านคน การค้าทาสในเวลานั้นเรียกกันแบบเปิดเผยว่า “Atlantic Slave Trade” เพราะเรือที่ขนทาสไป-มา แล่นในมหาสมุทรแอตแลนติก

อเมริกาเองบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า ทาสชุดแรกที่เดินทางเข้าไปทำงานในอเมริกา มิได้ซื้อตรงมาจากทวีปแอฟริกา แต่ซื้อต่อมาจากยุโรป ซึ่งน่าจะเดินทางไปถึงอเมริกาในราวปี พ.ศ.2069

ปี พ.ศ.2203 ในกรุงลอนดอนมีบริษัทค้าทาสจดทะเบียนที่ถูกกฎหมาย ชื่อ เดอะ รอยัล แอฟริกัน คอมปานี ก่อตั้งโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 2 พระองค์ผูกขาดการค้ามนุษย์ตามกฎหมาย โดยสั่งการให้กองทัพเรืออังกฤษเข้าไปจัดตั้งสถานีการค้าใน
ทวีปแอฟริกา

อังกฤษนำทาสจำนวนมหาศาลไปปลูกอ้อยบนเกาะบาเบโดส อาณานิคมของอังกฤษ เพื่อผลิตน้ำตาลออกขายเช่นเดียวกับบราซิล

ในช่วงปี พ.ศ.2233 มีตัวเลขระบุว่า มีการซื้อทาสล่ามโซ่ใส่เรือมาถึงอเมริการาวปีละ 30,000 คน และเพิ่มจำนวนขึ้นอีกอย่างไม่หยุดยั้ง บางปีซื้อทาสเข้ามาจำนวนมากถึง 85,000 คน

ในช่วง พ.ศ.2364 ถึง พ.ศ.2374 การค้าทาสรุ่งเรืองสุดขีด โดยชาวแอฟริกันเองจับทาสลงเรือไปขายได้ราวปีละ 80,000 คน

เมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) เป็นเมืองท่าตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส เป็นตลาดค้าทาสที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสก็ไม่เป็นสองรองใครในโลกเรื่องการค้าทาส เข้าไปตั้งสถานีการค้าและจัดหาทาสในแอฟริกาเช่นกัน เรือของฝรั่งเศสไปขนทาสออกมาราว 1.25 ล้านคน เพื่อนำมาเป็นแรงงานผลิตอ้อยและน้ำตาลในอาณานิคมของฝรั่งเศสในทะเลแคริเบียน โดยเฉพาะเฮติ (Haiti) ส่วนใหญ่จะไปเอาตัวมาจากเซเนกัล เพื่อผลิตน้ำตาลส่งออกตลาดโลก

ข้อมูลที่เหลือเชื่อ คือ ระหว่างศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 19 ปริมาณการบริโภคน้ำตาลของชาวยุโรป อเมริกา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการค้าทาส การปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาล คือปัจจัยหนึ่งที่พลิกโฉมชีวิตคนบนโลกและเคลื่อนย้ายถิ่นฐานคนบนโลกนี้ได้

เดนมาร์ก เป็นอีกชนชาติที่เก่งในการเดินเรือ ระบุว่าเรือสินค้าของเดนมาร์กเข้ามาร่วมขนทาสจากแอฟริกาไปราว 120,000 คน
พ.ศ.2368 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.3)อเมริกากำลังผงาดเติบโตแข็งแกร่ง ทาสผิวดำเป็นสินค้าขายดี ทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่มีปากเสียง ไม่มีสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้มีประชากรทาสผิวดำในอเมริกาเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของคนผิวขาว

ในศตวรรษที่ 18-19 ชาวคริสต์ในอังกฤษบางกลุ่ม เริ่มตระหนักว่า การใช้แรงงานทาสเช่นนี้ผิดศีลธรรม จึงเกิดนำไปสู่การต่อต้านการค้าทาสในประเทศอังกฤษ

เมื่อปี พ.ศ.2358 วิลเลี่ยม วิลเบอร์ฟอร์ซและเพื่อน ส.ส. 9 คน ในรัฐสภาอังกฤษ เป็นกลุ่มแรกที่ออกมารณรงค์ให้เลิกค้าทาสในประเทศอังกฤษ

พ.ศ.2376 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.3) รัฐสภาอังกฤษประกาศพระราชบัญญัติเลิกทาส (Slavery Abolition Act) อันมีผลบังคับใช้ทั่วทั้งประเทศและจักรวรรดิอังกฤษ อังกฤษคือประเทศแรกที่ประกาศเลิกทาสอย่างเป็นทางการ และนำไปสู่การเลิกทาสในอีกหลายๆ ประเทศในยุโรป
ข้อมูลด้านบวกที่ต้องขอนำมาเผยแพร่ คือ เมื่ออังกฤษผ่านกฎหมายเลิกทาสแล้ว อังกฤษส่งเรือรบไปสกัดกั้นเรือบรรทุกทาสทางฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทาสที่ถูกสกัดจะถูกนำตัวไปปล่อยให้เป็นพลเมืองอิสระที่ไลบีเรีย (ปัจจุบันคือ ประเทศไลบีเรีย) และเซียร์ราลีโอน (ปัจจุบันคือ
ประเทศเซียร์ราลีโอน) ที่อังกฤษและอเมริกาจัดตั้งประเทศขึ้นเพื่อรองรับทาสและลูกหลานทาส

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เรือบรรทุกทาสลำสุดท้ายที่ออกจากเมืองวีดาห์มาถึงเมืองโมบิล รัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2403 ทาสชุดสุดท้ายที่มาถึงอเมริกาทำงานได้ระยะหนึ่ง รัฐบาลสหรัฐประกาศเลิกทาสในปี พ.ศ.2408

ผู้เขียนสืบค้นการประมูลเพื่อซื้อทาสในอเมริกา พบข้อมูลจริงที่น่าสนใจเพื่อเป็นกรณีศึกษาดังนี้

ราวต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2402 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.4) มีการประมูลขายทาสครั้งใหญ่ที่สนามม้าทางตอนใต้ของเมืองซาวานาห์ รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา มีทาสมาให้เลือกซื้อจำนวน 436 คน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และทารก ผู้จัดงานโฆษณาตีฆ้องร้องป่าวล่วงหน้ามาแล้วราว 1 เดือน เพื่อหาคนมาซื้อทาสจากรัฐทางใต้ คือ นอร์ทแคโรไลนา เซาท์แคโรไลนา เวอร์จิเนีย จอร์เจีย แอละแบมา และลุยเซียนา ปรากฏว่า โรงแรมที่พักในเมืองถูกจองหมดเกลี้ยง ผู้คนทะลักทลายเพราะต้องการมาประมูลซื้อทาสไปทำงาน

ก่อนวันประมูลผู้จัดงาน อนุญาตให้ผู้จะซื้อเข้าไปตรวจพินิจร่างกายของทาสได้ก่อน ทาสกลุ่มนี้ทั้งหมด “เป็นทรัพย์สิน” ของตระกูลเก่าแก่ที่จะเลิกทำไร่ ทาสเหล่านี้ทำงานในไร่มาตลอดชีวิต เงื่อนไขที่โฆษณาในตอนแรก คือ จะขายทาสแบบยกครอบครัว จะไม่แยกขายเป็นคน

นายโฮเรซ กรีลีย์ (Horace Greeley) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นิวยอร์กทริบูน ซึ่งเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลในอเมริกาในขณะนั้น ได้ข่าวการประมูลขายทาส จึงส่งนักข่าวให้เข้าไปตรวจสอบการซื้อขายมนุษย์ทันที ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

….ทาสบางรายถูกนำมาพักอยู่ในพื้นที่มากกว่า 1 สัปดาห์เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัส ได้ตรวจสอบก่อนการประมูล

ลูกค้าบางรายขอเข้าไปดูหน้าตาท่าทาง ความดุร้าย เปิดดูปาก ดูฟัน ริมฝีปาก ตรวจดูกล้ามเนื้อ ให้ทาสเดินไปมา ให้ก้มตัวบิดตัวเพื่อขอดูรอยแผลตามร่างกาย ลองสอบถามงานที่ทาสเคยทำมาก่อน…

วันแรกของการประมูล มีลูกค้าราว 200 คน ยืนรอพร้อมกระดาษและดินสอ บนเวทีคือทาสที่กระจุกตัวกันหน้าตาเศร้าหมองคอยเฝ้ามองการประกาศที่จะซื้อขายตน

คนที่ทำหน้าที่โฆษกขายมนุษย์บนเวทีไม่ใช่คนผิวขาว หากแต่เป็นชายผิวดำมัน คนเผ่าพันธุ์เดียวกับทาสที่จะถูกขาย

ในช่วงหนึ่งของการประมูลบนเวที กรณีของครอบครัว โจชัว มอลลี เธอต้องยืนยันกันว่าเท้าซ้ายของเธอเป็นปกติมิได้พิการบิดเบี้ยว เธอต้องทำท่าทางพิสูจน์ข้อเท้าต่อหน้าผู้คนทั้งหลาย ถึงขนาดต้องให้หมอตรวจยืนยัน เธอได้รับความอับอายเกินบรรยาย ในที่สุดเธอถูกซื้อไปด้วยเงิน 695 เหรียญ….

การประมูลค้าทาสใช้เวลา 2 วัน เจ้าของกิจการขายทาสได้เงินไปรวมทั้งสิ้น 303,850 เหรียญ ซึ่งก็นับว่ามหาศาล ขายทาสไปได้ 429 คน ทั้งชาย หญิง และเด็ก จากจำนวนทั้งหมด 436 คน…..

ข้อความข้างต้น คือ สาระที่ นสพ.ลงข่าวการประมูลขายทาสครั้งหนึ่งในอเมริกา

ในช่วงสงครามกลางเมืองในอเมริกา มีคนดำราว 180,000 คน เข้าเป็นทหารในกองทัพบกฝ่ายเหนือ จำนวน 29,000 คน เข้าประจำการในกองทัพเรือ กำลังพลเหล่านี้ 3 ใน 5 คน มาจากทาส

การค้าทาสในยุโรปและอเมริกาเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานราว 400 ปี เป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติที่ขมขื่น ยากที่จะลืมเลือน ประมาณกันคร่าวๆ ว่า คนผิวดำจากกาฬทวีปถูกซื้อออกไปเป็นทาสราว 17 ล้านคน

ตั้งใจให้เป็นกรณีศึกษานะครับ เพราะในหลายประเทศก็เคยมีทาส สยามประเทศเองก็เคยมีทาส ผู้เขียนมิได้มีอคติต่อชนชาติหรือคนผิวสีใด ข้อมูลทั้งหมดนี้เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เปิดเผยความเจ็บปวด ความน่ารังเกียจในอดีตกาล เพราะมันคือ “ความจริง”

แปลและเรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก University of Virginia, American Slave Narratives
The Trans-Atlantic Slave Trade Database, Emory University และ New York Daily Tribune, March 9, 1859 reprinted in Hart, Albert B., American History Told by Contemporaries v.4 (1928).

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image