เลื่อนเลือกตั้ง สะท้อนภาพ พลาดเป้า คสช.เข้าสู่”จุดเสี่ยง”

วันที่ 26 มกราคม คือวันสุดท้ายที่ สนช.ต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้แล้วเสร็จ

ที่ผ่านมา สนช.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ไปแล้ว 8 ฉบับ

เหลือร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น

เมื่อวันที่ 25 มกราคม สนช.มีมติผ่านร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้ว และวันที่ 26 มกราคม สนช.พิจารณาร่าง พ.ร0ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.ต่อไป

Advertisement

สำหรับการพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับสุดท้าย ประเด็นที่ฮอตฮิตที่สุดหนีไม่พ้น การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมาย

ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน มีผลกระทบต่อระยะเวลาการเลือกตั้ง

Advertisement

ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เมื่อร่าง พ.ร.ป. 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.การเลือกตั้่ง ส.ส. และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศใช้แล้ว

ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

แต่เมื่อการบังคับใช้กฎหมายเลื่อนออกไปอีก 90 วัน

เท่ากับว่า การเลือกตั้งที่เดิม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัญญากับโลกไว้ว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 256 ต้องเลื่อนออกไป

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอกย้ำล่าสุดว่าการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป

ไปเลือกตั้งกันในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ข้ออ้างของ กมธ.ที่แปรญัตติขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน คือเป็นห่วงพรรค

สนช.อ้างว่า ต้องการเผื่อเวลาให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง

สาเหตุที่พรรคการเมืองดำเนินการตาม พ.ร.ป.ฉบับนั้นไม่ได้ เพราะ คสช.ไม่ยอม “ปลดล็อก” คำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง

คสช.แก้ไขปัญหาการปลดล็อกด้วยการออกคำสั่ง คสช.ฉบับใหม่ คือคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560

สรุปรวมความแล้ว เหตุผลการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีผลต่อการเลื่อนเลือกตั้งออกไปนั้น

เกิดจาก คสช.

คสช.ไม่ปลดล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม แล้วออกคำสั่ง คสช.ใหม่ที่ยืดเวลาการดำเนินการของพรรคออกไปให้เริ่มต้นในเดือนเมษายน

เมื่อ คสช.ยืดเวลาให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมออกไป ทำให้ สนช.นำมาอ้างในการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย

และการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย มีผลต่อการเลื่อนการเลือกตั้ง

สิ่งที่ปรากฏ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลื่่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นจากฝีมือของ คสช.

ประเด็นน่าสนใจตรงที่ทำไมต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือน

คำตอบหนึ่งคือ การเอื้อต่อพรรคการเมืองใหม่ที่จะสนับสนุนขั้วอำนาจ คสช.ขึ้นมาบริหารบ้านเมืองหลังการเลือกตั้ง

คำตอบนี้โยงไปถึง “คะแนนนิยม” ที่มีการประเมิน

ระหว่าง “พรรคการเมืองเดิม” ที่รวมทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคการเมืองอื่นๆ

ขณะนี้ยังสรุปว่า คะแนนนิยมของประชาชนยังน่าจะอยู่กับพรรคการเมืองเดิม

แม้บทบัญญัติของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง จะมีกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการ “รีเซต” สมาชิกพรรคใหม่ ทำให้พรรคใหญ่โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์กระอัก

เพราะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่สั่งสมมา 2.8 ล้านคน จะต้องขึ้นทะเบียนใหม่ในเวลาอันจำกัด อาจจะไม่ทัน

แต่ก็ใช่ว่าสมาชิกที่ไปลงทะเบียนไม่ทันนั้น จะหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่

แม้บทบัญญัติที่วางไว้จะจูงใจให้อดีต ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ เห็นว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนขั้ว คสช.มีอนาคต

แต่ก็ใช่ว่าหัวคะแนน และประชาชนที่เลือกอดีต ส.ส.เหล่านั้นจะ “นิยม” ใน คสช.เสียทั้งหมด

เมื่อความมั่นใจยังไม่เกิด ขณะที่ คสช.ยังคงกุมอำนาจอยู่

ทางที่ดีที่สุดคือประวิงเวลาการเลือกตั้งออกไป

การเลื่อนการเลือกตั้งจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นภาพสะท้อนความไม่มั่นใจที่เป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ออกมายืนยัน

ยังไงก็ต้องมีการเลือกตั้ง

แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ไม่ว่าจะมีขึ้นเวลาใด จะเป็นห้วงเวลาแห่งการช่วงชิง

ประการแรก ช่วงชิงประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการไล่กวดให้ทันความศรัทธาที่ประชาชนเคยมีต่อพรรคการเมือง

ประการที่สอง ช่วงชิงอดีต ส.ส. ด้วยวิธีการส่ง “หัวหอก” ออกไปติดต่อประสานงานกับอดีต ส.ส.กลุ่มต่างๆ ที่เคยมีชื่อเสียง

ยิ่งเมื่อได้ฟังนายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส. อธิบายสถานการณ์ ยิ่งมองเห็นว่า การช่วงชิง อดีต ส.ส.จะรุนแรง

ทั้งเพราะเดิมเคยคิดว่ากฎกติกาใหม่ใน พ.ร.ป.พรรค จะทำให้พรรคการเมืองเล็ก พรรคการเมืองใหม่ได้เปรียบ

แต่นายวิวรรธนไชยกลับมองว่า “กติกาการเลือกตั้ง จะยิ่งทำให้พรรคเล็กและพรรคใหม่ลำบากมากยิ่งขึ้น เป็นการฝังพรรคเล็กเลยก็ว่าได้”

คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็น ส.ส.ที่มีคะแนนเสียงอยู่ในตัว 20,000-30,000 เสียงขึ้นไป

เพราะทุกคะแนนจะเอาไปรวมกับคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ขณะที่พรรคเล็กยังไม่สามารถหาคนสมัครรับเลือกตั้งไปลงได้ทุกเขต ยิ่งพรรคใหม่ ยิ่งแทบจะไม่มีคน

ปกติในหนึ่งเขตเลือกตั้งจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 5-6 คนเท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งมีขึ้น พรรคใหญ่และพรรคเก่าเขากวาดคะแนนไปแทบจะหมด

แล้วจะเหลือให้ พรรคเล็ก พรรคใหม่ ส่งผู้สมัครได้สักกี่เขต

เมื่อสดับตรับฟังสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ดูเหมือนว่า คสช.เองก็กำลังนำตัวเองเข้าสู่จุดเสี่ยง

ในด้านการบริหาร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานมา 3 ปี ท่ามกลางคำถามความสำเร็จในการบริหารประเทศ

ในด้านการควบคุมประเทศ คสช.เองก็ถูกตั้งคำถามว่า หลังการยึดอำนาจ ได้ทำอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะการปฏิรูปยังไม่เห็น ความปรองดองยังไม่เกิด

ล่าสุดองค์กรเพื่อความโปร่งใสประเทศไทย ได้ถอนตัวออกจากสมาชิกองค์กรเพื่อการโปร่งใสของโลก

กลายเป็นคำถามถึงความสำเร็จ-ล้มเหลวต่อการป้องปราบการทุจริต

ดูเหมือนปี 2561 จะเป็นอีกปีที่ คสช.ต้องขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้า

แม้จะเป็นปัญหาที่รุมเร้าเฉกเช่นเดียวกับเมื่อหลายปีก่อน

แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ปัญหาที่รุมเร้าเมื่อหลายปีก่อน มีฝ่ายการเมืองก่อขึ้น

ส่วนปัญหาที่กำลังรุมเร้า คสช.อยู่ในขณะนี้

คสช.เป็นผู้ก่อขึ้นมาเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image