‘ชีวิต’คันเร่งค้าง : คอลัมน์เริงโลกด้วยจิตรื่น

หากขับรถมาแล้วเกิดคันเร่งค้าง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ รถจะเร่งเองให้ความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น

หาเรามีสติรู้เท่าทันก่อนเมื่อความเร็วยังไม่มากนัก เราอาจจะแก้ปัญหาด้วยการเบรก ทั้งเบรกเท้า เบรกมือ หรือเปลี่ยนเกียร์ให้ต่ำลงเมื่อชะลอความเร็ว แล้วดับเครื่อง

แต่เราไม่รู้และปล่อยให้ความเร็วเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง เราเบรกรถก็พลิกคว่ำ เราเปลี่ยนเกียร์ดับเครื่อง ก็ยากที่จะหยุดรถได้ และผลที่จะตามมาคือรถจะเสียหายอย่างหนัก

ความเร็วรถที่ควบคุมได้ยาก หรือควบคุมไม่ได้นั้น จะสร้างความเสียหายทั้งต่อตัวเองและคนอื่นบนท้องถนน อย่างยากจะประเมินได้ว่ารุนแรงขนาดไหน อาจจะถึงชีวิต

Advertisement

เมื่อเกิดสภาพเช่นนั้นวิธีการคือ ต้องตั้งสติ และมีสมาธิแน่วแน่ในการแก้ปัญหา ตัดความตื่นเต้น หวาดกลัวออกไป แล้วปรับเกียร์มาที่เกียร์ว่าง เมื่อหยุดการทำงานของเกียร์ที่ค้างอยู่

จากนั้นค่อยๆ เบรก คราวละนิด เบรกปล่อย เบรกปล่อย เชื่อลดความเร็วลงและประคองให้ไม่ให้รถเสียการทรงตัวจากการเบรกกะทันหัน ค่อยๆ นำรถเข้าข้างทาง และดับเครื่อง

เกียร์ค้าง ควบคุมรถไม่ได้ ต้องทำให้เกียร์ว่างก่อน

Advertisement

ชีวิตก็เช่นกัน

ในบางจังหวะที่ดำเนินไปถูกแรงขับอะไรสักอย่างจากภายในกระตุ้นแรงขึ้น แรงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะอยากได้อะไรสักอย่าง หรืออาจจะเพราะคิดหนีอะไรสักเรื่อง และสิ่งนั้นเพิ่มแรงกดดันมากขึ้น มากขึ้น จนเหมือนกับรถเกียร์ค้าง คว้างไปกับความอยากได้หรืออยากหนีนั้น

หากปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความอยากดังกล่าวควบคุมชี้นำความคิด การพูด หรือการตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง อาจจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงทั้งต่อตัวเอง คนอื่น หรือสังคม

หากมีสติรู้ตัวได้เร็ว เท่าทันความอยากดังกล่าว การหยุดก่อนที่ความแรงจะเพิ่มขึ้นจะเป็นไปได้ง่ายกว่า

แต่หากมารู้ตัวเอาเมื่อความอยาก หรือความกลัวรุนแรงเสียแล้ว การทำให้กลับสู่สถานการณ์ที่ควบคุมได้จะยากกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าความรู้ตัวเกิดขึ้นได้ นั่นหมายถึงโอกาสที่จะคลี่คลายสถานการณ์ยังมี

เริ่มต้นจัดการให้ใจมาอยู่ในสถานะ “ว่าง”

หมายถึงไม่อยู่ในควบคุมของ “แรงอยาก” หรือ “แรงเกลียด แรงกลัว” นั้นก่อน

ตั้งมั่นอยู่ใน “ความว่าง” นั้นจนใจมีพลัง

จากนั้นค่อยๆ คิดหาทางที่เหมาะสม และค่อยเป็นค่อยไปเพื่อจัดการคลี่คลายปัญหาที่เกิดจาก “แรงอยาก แรงเกลียด แรงกลัว” นั้น

เมื่อมีสมาธิมากพอจะเกิดความเชื่อมั่นว่าคนทุกคนมีความสามารถที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น นำชีวิตไปสู่ความเป็นปกติได้

เมื่อรู้ตัว และเข้าสู่ “ความว่าง” ได้ และตั้งมั่นใน “ความว่าง” นั้นได้

ความคิด ความอ่าน ความสามารถจะที่จะจัดการกับเรื่องราวต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่รถยังเป็นเกียร์กระปุกธรรมดา

เกียร์ว่าง เป็นเรื่องที่คนขับรถต้องใช้ตลอด เพราะถูกบังคับให้ต้องเริ่มจากตรงนั้น ทันที่รถจอด จะรู้โดยสัญชาตญาณว่าต้องนำสู่ “เกียร์ว่าง” เพราะต้องเริ่มเคลี่ยนด้วยเกียร์หนึ่ง ไปเกียร์สอง สาม สี่ ห้าตามลำดับ

เบรกลงมาก็ต้องทดเกียร์ลง และเข้าเกียร์ว่างเมื่อหยุดรถเพื่อเริ่มใหม่

ดังนั้นขณะที่ขับรถไป หากเกิดอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าผิดปกติ ความเคยชินหรือสัญชาตญาณจะทำให้กลับมาที่ “เกียร์ว่าง” ก่อนเสมอ

แต่รถปัจจุบันเป็นเกียร์อัตโนมัติเสียเป็นส่วนใหญ่

เราไม่รู้จักทดเกียร์ขึ้นลง และไม่ค่อยได้ใช้เกียร์ว่าง

ทำให้ไม่คุ้น และหลงลืม นึกไม่ถึง “เกียร์ว่าง”

ชีวิตก็เป็นเช่นนั้น

หลงลืมจนกลับมาหา “ความว่าง” ไม่ถูกเสียเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น คนที่ฝึกการอยู่กับ “ความว่าง” ไว้เสมอๆ

เมื่อเผชิญกับแรงเสียทานแรงๆ จะรับมือได้ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image