อันตราย! เปิบพิสดาร เสี่ยงโรค-ไม่ช่วยโด๊ป

เปิปพิสดาร
ภาพประกอบเปิบพิสดาร

กรณี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวก 4 คน ลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก พร้อมของกลางเป็นซากเสือดำถูกถลกหนัง และซากสัตว์ป่าอีกหลายรายการจนนำไปสู่การดำเนินคดีนั้น

เกิดคำถามว่าการลักลอบล่าสัตว์ป่าเช่นนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำเนื้อไปรับประทาน เรียกว่า เปิบพิสดารŽ เพราะเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มพลังวังชา แต่แท้จริงแล้วจะส่งผลร้ายต่อร่างกายโดยไม่รู้ตัว

เรื่องนี้ พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหะ ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า ความเชื่อเรื่องการบริโภคสัตว์ป่าที่ว่าจะเพิ่มพลัง หรือช่วยโด๊ปนั้น ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์ที่เลี้ยงไว้บริโภค ทำให้มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคต่างๆ ได้ เนื่องจากหากเป็นเนื้อสัตว์สำหรับบริโภค อย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว จะต้องได้รับการดูแลจากกรมปศุสัตว์ ในการควบคุมมาตรฐาน คุณภาพเนื้อสัตว์ต่างๆ แต่สัตว์ป่าไม่ได้รับการควบคุมคุณภาพ เนื่องจากไม่ใช่สัตว์สำหรับบริโภค แต่เป็นสัตว์ป่าที่ไม่ควรรับประทาน

”ยิ่งการเปิบพิสดารแล้ว ยิ่งน่ากลัว เพราะวิธีในการปรุงอาหารจะไม่ค่อยเน้นการปรุงสุกมากนัก ทำให้เสี่ยงอาหารเป็นพิษ และยังเสี่ยงรับเชื้ออื่นๆ ได้อีก ดังนั้น หากจะให้ร่างกายสุขภาพดีก็ทำง่ายๆ ไม่ต้องไปพึ่งพาการบริโภคอาหารพิสดาร แค่รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอก็จะช่วยได้Ž “พญ.นภาพรรณกล่าว

Advertisement

สำหรับความเสี่ยงเรื่องการรับเชื้อโรคต่างๆ จากการบริโภคอาหารป่านั้น นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนว่า การบริโภคอาหารป่า หรือการเปิบพิสดาร มีความเสี่ยงในหลายอย่าง โดยเฉพาะการรับเชื้อโรค หรือพยาธิจากสัตว์เหล่านี้ อย่างเสือดำก็เช่นกัน
ยิ่งเสือดำเป็นสัตว์นักล่าและกินเนื้อสดๆ แน่นอนว่าจะมีการรับเชื้อพวกพยาธิเข้าไปด้วย และเมื่อคนไปล่า และไปชำแหละ เพื่อนำไปรับประทานก็มีความเสี่ยงรับเชื้อไปด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุถึงเชื้อที่ต้องระวัง คือ พยาธิทริคิเนลโลสิส (Trichinellosis) มักเกิดในผู้ที่กินเนื้อดิบหรือเนื้อที่ยังไม่สุก เชื้อจะเจริญเติบโตอยู่ในลำไส้หลายสัปดาห์ และจะแพร่ไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ รวมถึงกล้ามเนื้อ บ้างก็ขึ้นตา ทำตาบอด บ้างขึ้นสมอง เป็นไข้สมองอักเสบรุนแรงถึงเสียชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือโรคไข้หูดับ เชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2.การกินหมูดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน และเลือด เชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวก

Advertisement

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับคือ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการที่พบคือ ไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
ยังมีเชื้อแอนแทรกซ์ มักพบในเนื้อวัว เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร โรคมักจะเกิดในท้องที่ซึ่งมีประวัติว่าเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ปัจจุบันเนื่องจากการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 แบบ คือที่ผิวหนัง ที่ปอดจากการสูดดม ที่ทางเดินอาหารและจากการกินเชื้อนี้เข้าไป

ขณะที่ นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ และที่ปรึกษากรมอนามัย สธ. กล่าวถึงการเปิบเมนูหรืออาหารพิสดารว่า เรื่องนี้ นักโภชนาการไม่ส่งเสริม เพราะเป็นการกินเฉพาะกลุ่ม ตามความเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าดีจริงหรือไม่ อย่างไร ในทางกลับกันกลุ่มที่นิยมบริโภคเมนูหรืออาหารพิสดารเหล่านี้ โดยเฉพาะจำพวกสัตว์ป่า สัตว์สงวน นักโภชนาการมองว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่ใช่สัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภค ไม่ใช่อาหารของมนุษย์

คนที่กินอาหารเหล่านี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และบางเชื้อโรคเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ก็มี สัตว์ที่เป็นอาหารของมนุษย์มีมากมาย ไม่จำเป็นต้องเข้าป่า หรือไปสรรหาของแปลกๆ กิน คนที่กินของแปลกๆ แบบนี้ได้ไม่น่าจะปกติŽ นายสง่ากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image