ถกเรื่องอดีต ส่องอนาคต “สิ่งแวดล้อม-สิทธิชุมชน”ใต้เงา คสช.

จากซ้าย ปกรณ์ อารีกุล, ประสิทธิชัย หนูนวล, อังคณา นีละไพจิตร, พนัส ทัศนียานนท์ และจักรพล ผลละออ ผู้ดำเนินรายการ

แม้ปลายปากกาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะจรดลงบน “บันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงพลังงานกับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประกอบกับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลฯ ยินยอมเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาย่อมแก้ไขได้ด้วย “การรับฟัง” ผสาน “ความร่วมมือ” โดยครั้งนี้มี “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ” (เอ็มโอยู) เป็นตัวกลาง

เพื่อให้เห็นภาพ “สิ่งแวดล้อม” ชัดเจนขึ้น ในเสวนา “อนาคตสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนไทยใต้เงา คสช.” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทางวิชาระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ร่วมกับ พรรคใต้เตียง มธ. และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ได้เชิญ ปกรณ์ อารีกุล, ประสิทธิชัย หนูนวล, พนัส ทัศนียานนท์ และอังคณา นีละไพจิตร ร่วมเสวนา

สะท้อน “สิ่งแวดล้อม” ในมิติที่แตกต่างกัน

Advertisement

ชำแหละกฎหมายสิ่งแวดล้อม

ไม่รอช้า พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. เริ่มต้นเสวนา พร้อมกล่าวว่า “สิทธิชุมชน” ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ในมาตรา 46 รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 โดยมีการลงท้ายว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

จากนั้น ในมาตรา 66 รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 คำว่า “สิทธิชุมชน” ได้ขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้น โดยครอบคลุมถึง “สิทธิชุมชนทุกประเภท”

ที่สำคัญคือ ไม่ปรากฏ “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ในการลงท้ายมาตรานี้ด้วย

Advertisement

ในแง่นี้ พนัสอธิบายว่า การลงท้ายมาตราด้วยข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมา สิทธิรับรองตามรัฐธรรมนูญนั้นถือว่ายังไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยื่นหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ขอให้ระงับและตรวจสอบการจัดทำอีเอชไอเอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา

จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 สิทธิชุมชนได้รับการยอมรับในมาตรา 43 โดยวงเล็บ 1 และ 2 เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง นอกจากนี้ ยังเพิ่มอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ แต่สิ่งที่หายไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในวรรคสุดท้ายคือ “สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง”

“มาตรา 67 ที่เกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ได้กำหนดว่าเป็น “หน้าที่ของรัฐ” ซึ่งเขียนว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรือได้รับอนุญาตตามวรรค 1 ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามรัฐธรรมนูญ” สิ่งนี้มีปัญหามาแล้วจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในประเด็นที่ว่า ใครจะเป็นผู้วินิจฉัยว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรง”

เบื้องต้น พนัสคาดว่า ดุลพินิจอยู่ที่หน่วยงานเจ้าของโครงการนั่นเอง

กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจัดกิจกรรม “การรณรงค์ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย” โดยการปั่นจักรยานจาก ม.มหิดล ไปถนนพุทธมณฑลสาย 4 และปล่อยลูกโป่งหน้าสวนพุธมณฑล เพื่อแสดงออกว่าการออกเสียงประชามติควรเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้

ขณะเดียวกัน พนัสได้เปิดข้อมูลที่เผยให้เห็นว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ถูกแก้ไขทันทีเมื่อมีการรัฐประหารในปี 2559 โดยสันนิษฐานว่า น่าจะมีปัญหาจากรายงานอีไอเอ และรัฐบาลคงต้องการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเดินตามโรดแมปของ คสช. จึงมีคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ออกมา

“การที่เขาใช้อำนาจออกมาตรา 44 อาจมีความรู้สึกว่ายังไม่หนักแน่นพอ สุดท้ายเลยเสนอการแก้กฎหมายเฉพาะเรื่องกระบวนการวิเคราะห์-ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับนี้ก็ไม่ได้ไปยกเลิก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ทั้งฉบับ”

แต่เป็นการ “แก้ไขเพิ่มเติม” ส่วนกระบวนการวิเคราะห์-ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

คำสั่ง คสช.ที่ 4/2559
ความระเนระนาดของประเทศ

ด้าน ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน อธิบายว่า เมื่อพูดถึง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับว่าใครทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างอำนาจกลุ่มทุนและรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลยุค คสช.

ทั้งหมดนี้กลายเป็นกติกาและพลังอำนาจชนิดหนึ่งที่คอยจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นตัวขับเท่านั้น

และสิ่งที่เป็น “ปัญหา” ระหว่างการต่อสู้ของประชาชนคือ “พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535” โดยเฉพาะการกำหนดว่าโครงการใดต้องทำอีไอเอบ้าง

“การกำหนดว่าเจ้าของโครงการเป็นผู้จ้างบริษัทรับจ้างทำรายงาน แล้วจ่ายค่าจ้างเป็นงวด คำถามคือ บริษัทรับจ้างจะแสดงข้อเท็จจริงหรือไม่ ถ้าแสดงข้อเท็จจริงด้านสิ่งแวดล้อมแล้วระบุลงไปว่า “สร้างแล้วมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” เงินงวดสุดท้ายอาจไม่ได้รับไป เพราะฉะนั้นรายงานอีไอเอจึงไม่มีฉบับไหนเลยที่ไม่ผ่าน โดยผู้พิจารณารายงานคือ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ”

จุดนี้เองที่ประสิทธิชัยเห็นแย้งว่า ตนไม่เห็นด้วยกับชื่อ “ผู้ชำนาญการ” มาตลอด เนื่องจากไม่รู้จักบริบทของพื้นที่จริง เช่น ในรายงานอีไอเอฉบับล่าสุดของเทพาระบุว่ามี “ป่าเต็งรัง” ด้วย คำถามคือพื้นที่นั้นมีป่าเต็งรังด้วยหรือ?

กลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นจัดเวทีคัดค้าน หลังรัฐบาลใช้ ม.44 เวนคืนที่ดินทำนิคมอุตสาหกรรม ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แต่สิ่งเลวร้ายกลับทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อ คสช.ออก “คำสั่งที่ 4/2559 ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท” ซึ่งประสิทธิชัยชี้ให้เห็นว่า ประเทศนี้ระเนระนาดจากสิ่งนี้ เพราะกระบี่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ด้วยเพราะกฎหมายผังเมือง และเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

แต่รัฐบาลนี้ให้มีการยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองในกิจการพลังงาน เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงดำเนินการก่อสร้างได้ขณะที่ “สิทธิ” ในการจัดทำรายงานอีไอเอ ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ประสิทธิชัยยังกล่าวว่า ทั้ง จ.กระบี่ และ จ.พังงา พบปัญหาเดียวกันคือ กำลังทหารและตำรวจกว่าพันนายมีอาวุธครบมือ ชาวบ้านต้องตากแดดนานกว่า 3-4 ชั่วโมง เนื่องจากเข้าไปยังเวทีรับฟังความเห็นไม่ได้

“เป็นการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่ามกลางสงครามกลางเมือง กระบวนการการมีส่วนร่วมจึงไม่มีอยู่จริงในยุคนี้”

ภาวะเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า กระบวนการทางกฎหมายนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น

กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แสดงอารยะขัดขืน อดอาหาร ดื่มแต่น้ำ หน้าสำนักงาน UN

สิ้นสุด แต่ไม่หยุดยั้ง

ประสิทธิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมที พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ว่าด้วยการจัดทำรายงานอีไอเอผ่านได้ง่ายอยู่แล้ว แต่กระบวนการดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม พวกตนจึงล้มเวทีอยู่บ่อยครั้ง จึงหาทางแก้ไขด้วยการเคลื่อนไหว จัดเวทีรวบรวมปัญหารายงานอีไอเอทั่วประเทศเพื่อทำหลักการนำไปเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“เราคุยกับกระทรวง 2 รอบ จนร่างผ่านไปถึง ครม.ถึงรู้ว่าร่างนั้นไม่ได้แก้อะไรเลย เราไปประท้วงที่ทำเนียบอยู่ 1-2 คืน เพราะคิดว่าอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือ คุณใส่คำสั่ง 9/2559 เรื่องรายงานยังไม่ผ่าน และยังไม่ผูกพันลงไปด้วย นอกจากไม่แก้แล้ว ยังใส่มาตรา 44 ลงไปในนั้นอีก”

ท้ายที่สุด กลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รวมตัวกันหน้าที่ทำการสหประชาชาติ แสดงอารยะขัดขืน อดอาหาร ดื่มแต่น้ำ ระยะเวลาเกือบ 10 วัน

“หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องอดอาหาร เพราะ 5 ปีของกระบี่ 3 ปีของเทพา เราใช้ทุกวิธีการแล้ว เพราะฉะนั้นวิธีการสุดท้ายคือใช้ความยากลำบากของชีวิตไปแลก เพราะการถอยให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินคือ การทำลายอีก 30-40 ปี ไม่ใช่ทำลายเฉพาะรุ่นเรา แต่ไปถึงลูกหลานด้วย

“มันจึงคุ้มค่าสำหรับความยากลำบาก เพื่อแลกกับการรักษาแผ่นดินไว้”

แต่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้คลี่คลายลงด้วยการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย กลุ่มผู้คัดค้านยินยอมกลับบ้าน พร้อมลงพื้นที่เตรียมข้อมูลทำรายงานประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ต่อไป

สิ่งแวดล้อม = การเมือง

มาถึงตัวแทนนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิชุมชน โดย ปกรณ์ อารีกุล ที่ใช้ “ภาพถ่าย” เล่าเรื่องการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งและรัฐบาล คสช. เผยให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “การทำได้” และ “ทำไม่ได้” ในหลายๆ การเคลื่อนไหว

“สมัยก่อน สิ่งหนึ่งที่เราพูดกับเจ้าหน้าที่คือ ผมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบ เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนตามมาตรา 66 และ 67 ทำเจ้าหน้าที่อึ้งไปสักพัก แต่ก็ปล่อยให้เราเคลื่อนไหวต่อไป “ภายหลังปี 2557 เป็นต้นมา เราพูดสองประโยคนี้ไม่ได้ บางครั้งไม่มีโอกาสพูดด้วยซ้ำ”

พร้อมกันนี้ ปกรณ์ยังเชื่อมโยง “สิ่งแวดล้อม” เป็น “เรื่องการเมือง” เนื่องจากโครงสร้างทางการเมืองมีปัญหา เกิดจากการผูกขาด การครอบงำของชนชั้นนำบางกลุ่มในประเทศ แม้กระทั่งการสื่อสารเชิงยุทธวิธี เช่น เรามาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การเมือง แต่การพูดแบบนี้ก็เป็น “การสื่อสารทางการเมืองแบบหนึ่ง” เช่นกัน

“เราทราบดีว่ามีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่มากมาย โดยมีคำสั่ง คสช.ที่น่าสนใจมากคือ 17/2558 และ 74/2559 ให้นำที่ดินสาธารณสมบัติ เช่น ป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวรมาทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ จากคำสั่งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เซ็นเปลี่ยนที่ดินป่าสงวนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นที่ดินราชพัสดุ พื้นที่ป่ากว่า 4,000 ไร่ เปลี่ยนสภาพภายในคืนเดียว ชุมชนที่เคยอยู่กับป่าถูกให้ย้ายออก

“เวลาเราบอกว่าเราเป็นนักอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อม คนที่อยากเห็นพื้นที่สีเขียว เวลาที่รัฐบาลเปลี่ยนพื้นที่ป่าสงวนเป็นพื้นที่รองรับการทำอุตสาหกรรมโดยการเซ็นครั้งเดียว ทำไมเราถึงอยู่เฉยๆ ได้ ทำไมเราถึงตื่นเช้ามาแล้วยังอยู่ได้ ผมคิดว่าเราคงอยู่เฉยไม่ได้”

ขณะเดียวกัน ปกรณ์ยังกล่าวด้วยว่า สุ้มเสียงการพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ในโทนที่ไม่ให้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่การใช้ ม.44 ยกเลิกผังเมือง หรือการนำที่ดิน ส.ป.ก.ทำประโยชน์อย่างอื่น ล้วนกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นแล้ว เรื่องเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งเดียวกันทั้งสิ้น

พร้อมรับฟัง ร่วมเปลี่ยนแปลง

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความเห็นว่า ความเป็นพลเมืองไม่สามารถแยกจากการเมืองได้ เวลาพูดถึงเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิชุมชน ไม่สามารถแยกจากสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐ และไม่สามารถแยกจากการขับเคลื่อนทางการเมืองได้เลย

“ช่วงปีที่ผ่านมา กสม.ได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชนหลายเรื่อง เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า โดยคำสั่งไม่ได้บอกว่าผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งต้องแยกแยะอย่างไร ใช้ดุลพินิจยังไงถึงจะถูก”

กสม.มีข้อเสนอแนะ เน้นย้ำถึงรัฐบาลคือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและรับรู้ในการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐ สามารถโต้แย้ง คัดค้านกระบวนการจัดการของรัฐได้ รวมถึงต้องมีการสร้างหลักประกันว่าจะใช้การไล่รื้อเป็นวิธีการสุดท้าย

ที่สุดแล้ว อังคณาฝากเสียงไปถึงรัฐบาลว่า รัฐบาลที่เข้มแข็งและได้รับการยอมรับจากประชาชน ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลนั้นจะเอาประชาชนเข้าคุกและฟ้องร้องประชาชนได้มาก แต่รัฐบาลที่จะได้รับการยอมรับจากประชาชน ต้องเป็นรัฐบาลที่ประชาชนรู้สึกรักและพึ่งพาได้ ต้องรับฟัง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ส่วนรวมเห็นชอบร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image