“กรุงศรีฯ”ขยายพอร์ตสินเชื่อบุคคล-เปิดขอผ่านดิจิทัลคาดยอดทะลุพันล.โตเกิน100%

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจรายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ภาพรวมการขยายตัวสินเชื่อบุคคลของธนาคารยังเติบโตดีแม้ว่าตลาดจะมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง คาดว่าปี 2561 นี้จะขยายตัว 7% จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างสิ้นปีก่อนที่ 20,000 ล้านบาท โดยแรงหนุนการเติบโตของสินเชื่อนอกจากการขายผ่านช่องทางธนาคารแล้ว ธนาคารได้เปิดบริการ กรุงศรีไอฟิน (Krungsri iFIN) บริการขอสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลครบวงจร สามารถขอสินเชื่อผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่น เคเอ็มเอ(KMA) โมบายแบงก์กิ้งของธนาคารได้ ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัคร ส่งเอกสาร เช็คสถานะการสมัคร และได้นำบริการการให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลโดยวิธีผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (NCB e-Consent) มาใช้ ทำให้สามารถรับโอนเงินสินเชื่อ ภายใน 1-3 วัน วงเงินสินเชื่อสูงสุด 1.5-2.0 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าที่ขอสินเชื่อผ่านช่องทางนี้จะได้รับดอกเบี้ยถูกลง3% เมื่อเทียบกับอัตราปกติ จะนำร่องให้สินเชื่อกับฐานลูกค้าธนาคารที่ใช้บริการเคเอ็มเออยู่แล้ว 1 ล้านรายก่อน เน้นกลุ่มพนักงงานประจำ ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ธนาคารจะเข้าทดสอบในแซ็นบ็อกซ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำดิจิทัลไอดีมาใช้ จึงจะมีการขยายปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าภายนอกและกลุ่มลุกค้าที่เป็นเจ้าของกิจการ นอกจากนี้จะมีแผนขยายการปล่อยสินเชื่ออื่น ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น สินเชื่อบ้าน เป็นต้น

นายพงษ์อนันต์ กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายว่าจะมียอดสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัลที่ 1,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ คิดเป็นการเติบโต 125% และคาดว่าจะเติบโต 130 % หรือนิดสินเชื่อ 2,300 ล้านบาท ในปี 2562 และปี 2563 เติบโตอีก 100 % ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลปัจจุบันอยู่ที่ 3% ของพอร์ตสินเชื่อบุคคลรวม และคาดว่าปี 2563 จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 10%

“ธนาคารได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า เพราะปีนี้ ธปท.ได้ออกมาตรการการกำกับดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) ออกมา โดยการขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นกระบวนการที่ลูกค้าขอเข้ามาเองเมื่อมีความต้องการ ไม่ต้องมีพนักงานโทรไปรบกวนลูกค้า นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนจะนำเทคโนโลยีเอไอ โรโบติค บิ๊กดาต้า รวมทั้งข้อมูลจากโซเซียลมีเดียมาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อซึ่งจะทำให้การพิจารณาสินเชื่อมีความแม่นยำมากขึ้นและแนวดน้มการเกิดหนี้เสียจะลดลงในอนาคต” นายพงษ์อนันต์ กล่าว

นายพงษ์อนันต์ กล่าวว่า ด้านกระบวนการพิจารณาสินเชื่อผ่านช่องทางสาขาธนาคารและช่องทางดิจิทัล ธนาคารมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่ออยุ่แล้วประกอบกับ ธปท. มีมาตรการดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันออกมา ทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 25% จากใบสมัครขอสินเชื่อทั้งหมด อย่างไรก็ดี ทำให้พอร์ตสินเชื่อจองธนาคารมีคุณภาพดี หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมต่ำกว่า 2% และคาดว่าจะทรงตัวในระดับนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image