สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนไทยของ วธ. โผล่มาลอยๆ มณฑลยูนนาน ในเมืองจีน

ประวัติศาสตร์ชาติไทย หนังสือของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บอกถึงกำเนิดรัฐไทยว่ามีคนไทยกลุ่มหนึ่งอยู่ยูนนาน อพยพลงมาผสมคนพื้นเมือง แล้วเป็นคนไทยในคราวเดียวตั้งแต่เหนือถึงใต้ จะคัดมาจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านสะดวกดังนี้

กำเนิดรัฐไทย

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบ้านเมือง ในดินแดนประเทศไทย – – –

เป็นครั้งแรกที่ได้พบ “จารึกอักษรและภาษาไทย” ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันอย่างแน่ชัดว่า กลุ่มคนไทยได้ก่อตั้งบ้านเมืองขึ้นบริเวณดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน

กลุ่มคนไทยนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนไทยในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ซึ่งอพยพเคลื่อนย้ายลงมา และได้ผสมผสานกับคนพื้นเมืองเดิม ดังปรากฏร่องรอยในตำนานปรัมปราของล้านนา

Advertisement

บ้านเมืองของกลุ่มคนไทยที่เกิดขึ้นใหม่ได้แก่ “ล้านนา” และ “สุโขทัย” ในภาคเหนือ

ส่วนในภาคกลางมีกลุ่มบ้านเมืองที่พัฒนาขึ้นมาจากบ้านเมืองเดิม ได้แก่ “อโยธยา” มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ หรือเมืองลพบุรีในปัจจุบัน “สุพรรณภูมิ” มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ หรือเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบัน

ส่วนในภาคใต้ที่สำคัญได้แก่ “นครศรีธรรมราช”

Advertisement

[หนังสือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2558 หน้า 75]

ข้อความเน้นตัวหนาดำในล้อมกรอบ ผมทำขึ้นเอง เพื่อจะเสนอความคิดต่าง ดังนี้

1. ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีกลุ่มคนไทยในยูนนาน พบแต่กลุ่มคนพูดตระกูลภาษาไท-กะได (หรือไทย-ลาว) เรียกตัวเองด้วยชื่อต่างๆ กัน เช่น ไตลื้อ แปลว่า ชาวลื้อ (มีศูนย์กลางใหญ่อยู่เมืองเชียงรุ่งสิบสองพันนา มณฑลยูนนาน ในจีน มีตำนานว่าขุนเจือง เมืองพะเยา ขึ้นไปสร้าง) ไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย

2. ยังไม่พบตำนานปรัมปราของล้านนา ว่ามีคนไทยอยู่ในยูนนาน แล้วอพยพเคลื่อนย้ายลงไปไทย

ตำนานสิงหนวัติกุมาร เล่าว่ามีกลุ่มชนตระกูลหนึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ทางมาวหลวง ลุ่มน้ำสาละวิน ในภาคเหนือของพม่า (เขตของไทยใหญ่) ต่อมาลูกหลานกลุ่มหนึ่งแยกครัวไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งหลักแหล่งบริเวณที่ราบลุ่มในหุบเขาบริเวณ อ. แม่สาย กับ อ. เชียงแสน จ. เชียงราย

คนพวกนี้ไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย ไม่ได้อพยพ (ถอนรากถอนโคน) จากยูนนาน เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายยังอยู่ที่เดิมบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน ยังไปมาหาสู่กันตามปกติสืบจนสมัยหลัง

3. ล้านนาเรียกตัวเองว่า ลาว นามกษัตริย์สมัยแรกๆในตำนานนำหน้าด้วยคำว่า ลาว สมัย ร.5 เรียกดินแดนแถบล้านนาว่ามณฑลลาวเฉียง

ต่อมาเฉพาะในเมืองเชียงใหม่เรียกตัวเองว่าคนเมือง (ไม่ไทย) ฯลฯ เพิ่งถูกกำหนดให้เป็นคนไทย เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย พ.ศ. 2482

4. คนพูดตระกูลภาษาไท-กะได ตามลุ่มน้ำต่างๆทั้งลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่เคยพบหลักฐานเรียกตัวเองว่าคนไทย จนกระทั่งหลัง พ.ศ. 2000 พบหลักฐานครั้งแรกเป็นลายลักษณ์อักษรเรียกตัวเองว่าคนไทย เฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเท่านั้น (อาจเรียกมานานแล้ว แต่เพิ่งพบหลักฐาน)

คนไทยสมัยแรกๆกลุ่มนี้จะหมายความว่าอะไร ยังไม่แจ้งชัดนัก แต่น่าจะไม่ได้มีความหมายเดียวกับที่เรียกตัวเองว่า “คนไทย” เวลานี้ (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-17 มีนาคม 2559 หน้า 30)

คนไทยของ วธ. โผล่ลอยๆออกมาที่มณฑลยูนนาน ในเมืองจีน อีหรอบเดียวกับสมัยก่อนคนไทยโผล่ลอยๆออกมาจากเทือกเขาอัลไต เพียงแต่ลดพื้นที่ต่ำลงใกล้ไทยมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image