เรื่องน่าคิด โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

ในข่าวหวยรัฐรางวัลที่หนึ่ง 30 ล้านบาทที่เมืองกาญจน์เป็นของใครกันแน่ ระหว่างครูกับตำรวจ ข่าวซีอีโอบริษัทรับเหมางานรัฐยักษ์ใหญ่-เปรมชัย กรรณสูต ล่าเสือดำที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ข่าวนักศึกษาฝึกงานออกมาเปิดโปงการทุจริตโครงการช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ติดเชื้อเอดส์ที่กระจายไปหลายจังหวัด

เปิดคำถามในโลกออนไลน์ว่าทำไมจึงสนใจที่จะพูดถึงกันแต่ “ข่าวหวย” และ “ข่าวเสือดำ” ทั้งที่ “การทุจริตที่แพร่ขยายไป” จึงควรให้ความใส่ใจที่จะติดตามมากกว่า เพราะเกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

“ใครถูกหวย” เป็นเรื่องส่วนตัว “บุกป่าฆ่าเสือดำ” ก็ไม่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์สักเท่าไร

คนที่มีบทบาทในการนำพาสังคม ควรจะนำพาความใส่ใจของคนไทยไปในเรื่องแบบไหน

Advertisement

นี่เป็นประเด็นที่น่าคิด

ในคำตอบที่ตรงประเด็นดังกล่าว มีเรื่องที่จะต้องพิจารณาอยู่ 2 แง่ 2 มุม

อย่างแรก เรื่องราวแบบไหนที่รับรู้แล้วเกิดประโยชน์ต่อชีวิตของผู้คนมากกว่า

Advertisement

อย่างที่สอง เรื่องราวที่ผู้คนส่วนใหญ่อยากรู้นั้นเป็นเรื่องอะไร

ทั้งสองเรื่องมีแง่มุมที่จะต้องคิดให้ลึกลงไปอีก

แง่มุมแรกที่ใครคนใดคนหนึ่งคิดว่าน่าจะทำให้เกิดความรับรู้นั้น เป็นเรื่องที่ควรทำให้รู้จริงหรือไม่ หรือคนใดคนหนึ่งคิดเอาเอง คนอื่นๆ ไม่ได้คิดว่าน่ารู้ไปด้วย

ในแง่มุมนี้ยังต้องนึกอีกว่า การนำเสนอเรื่องที่เราเห็นว่าคนอื่นๆ ควรจะรู้ด้วยนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่อยากรู้ ไม่ใส่ใจจะรู้ความเห็นความอยากของเราจะเกิดประโยชน์หรือไม่

ด้วยคนเรานั้นมักสนใจในเรื่องที่ตัวเองอยากรู้มากกว่าที่จะสนใจเรื่องที่คนอื่นอยากให้รู้ ในโลกปัจจุบันที่สื่อออนไลน์นำข้อมูลมาให้มากมาย มีเรื่องราวที่มาหันเหความสนใจมากมาย จะมีใครเฝ้าสนใจเรื่องที่คนอื่นอยากให้รู้เหมือนทำได้เมื่อก่อนหน้านั้น

อาจบางทีการพยายามยัดเยียดหรือชี้นำให้คนอื่นๆ ใส่ใจในเรื่องอะไร มีแนวโน้มที่จะล้มเหลวตั้งแต่ต้นแล้ว หากคนอื่นๆ นั้นไม่มีความคิดสนใจอยู่ก่อน

และนี่เป็นเหตุผลที่นำมาพิจารณาความคิดในแง่ที่สองต่อ คือ “เรื่องราวที่คนส่วนใหญ่อยากรู้นั้นคืออะไร”

ผู้ประสบความสำเร็จในการผลิตสินค้าขึ้นมาขายกลุ่มหนึ่งอาศัย “ความว่องไวในการประเมินแง่มุมนี้ได้ถูกต้อง”

ใครที่รู้ว่า “คนส่วนใหญ่ต้องการผลิตภัณฑ์แบบไหน” แล้วลงมือผลิตเป็นสินค้า คนคนนั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ

เรื่องราวมักเดินไปเช่นนี้

เพียงแต่มีบางคน หรือคนบางจำพวก ที่คิดว่าคนส่วนใหญ่ควรจะสนใจเรื่องอะไร เพราะเป็นเรื่องที่มีสาระ และเรื่องราวใดที่ไม่ควรไปทำให้เกิดความสนใจ เพราะไม่มีสาระ

เมื่อคิดแล้วก็เกิดความภาคภูมิใจ เกิดความพองในจิต ว่าตัวเองเป็นผู้คิดได้ในเรื่องที่ควรรู้มากกว่าคนอื่น

และเพื่อให้มีภาพชัดขึ้นไปอีกว่า ตัวเองมีความคิดที่ดีงาม ถูกต้องเหมาะสมกว่าคนอื่น

จึงแสดงออกทางข่มคนอื่นว่า คิดไม่ได้ คิดไม่เป็น โง่ ไม่ฉลาด ไม่เป็นความหวังในการมีส่วนพัฒนาสังคมทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง

นั่นเป็นเรื่องที่คิดเอาเอง และพยายามโชว์เหนือด้วยการหาคนอื่นมาเป็นเหยื่อเพื่อเหยียบขึ้นไปให้สังคมได้เห็นความเหนือกว่านั้นชัดเจนยิ่งขึ้น

ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นไปได้สูงมากที่ที่ถูกเหยียบนั้น คิดจะนำเรื่องที่ “คนส่วนใหญ่สนใจ” มาขยายให้เห็น “เรื่องที่ควรจะเห็น”

ด้วยอาจจะเชื่อว่าได้ผลดีกว่า หากจะเริ่มจากเรื่องที่คนอื่นสนใจอยู่แล้ว

“หวย 30 ล้านเป็นของใคร” ก็เป็นเรื่อง “โกง สมคบกันโกง” ขนาด “หวยรัฐบาล” ยังอ้างความเป็นเจ้าของกันได้อย่างเลอะเทอะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาเป็นเอาตาย ระดับ “ผู้บัญชาการ” ต้องแถลงเอง

“เข้าป่าล่าเสือดำ” มีแง่มุมมากมายที่สะท้อนความวิปริตของกลไกจัดการความเป็นธรรมในสังคม

ไม่ต่างอะไรกับ “ความเน่าเฟะของวงราชการมีโกงกินได้แม้กระทั่งเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคร้ายแรง”

ล้วนเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคที่อำนาจรัฐประกาศ “ลดช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำ” เป็นเหตุผลในการขอเข้ามีอำนาจบริหารจัดการประเทศ

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ใช้

“การปราบโกง” เป็นเจตนารมณ์ของ “รัฐธรรมนูญ” เพื่อให้รู้สึกมีความชอบธรรมที่จะ “ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพประชาชนลง” เป็นการแลกเปลี่ยน

……………..

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image