“ดิจิทัล”พลิกวิกฤตเป็นโอกาส : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

ในโลกธุรกิจยุคเก่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่โลกยุคนี้ “ปลาเร็วกินปลาช้า” ใครคิดก่อนทำก่อน มีโอกาสมากกว่า

ประมาณ “เก่งไม่กลัว กลัวช้า” ยุคนี้จึงต้องเร็วไว้ก่อน ไม่จำเป็นต้องรอให้พร้อมแล้วค่อยทำ เพราะอาจไม่ทันการณ์แต่ให้ท่องไว้ว่าคิดอะไรได้ให้ “ททท.-ทำทันที”

บรรดากูรูสตาร์ตอัพทั้งหลายจึงมักแนะนำสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ๆ ว่าให้ถือคติ “Fail Fast, Move Fast” ล้มให้เร็วแล้วต้องลุกให้ไวด้วย

ท่ามกลางสึนามิ “ดิจิทัล” บทเรียนความสำเร็จในอดีตอาจไม่สามารถการันตีความสำเร็จในอนาคตได้อีกต่อไป

Advertisement

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน “Digital Intelligence Nation 2018” เมื่อเร็วๆ นี้ว่ายุคสมัยนี้เป็นยุครุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ด้วย “เทคโนโลยี” เพราะข้อมูลความรู้ทุกวันนี้อยู่ใน

มือถืออย่างไม่มีขีดจำกัด ค้นหาไปได้เรื่อยๆ ทำให้พฤติกรรม และชีวิตคนเปลี่ยนแปลงไปในทุกมิติที่ก่อให้เกิดโอกาสอันใหญ่หลวงทั้งการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมใหม่ การสร้างองค์ความรู้ต่างๆ และเป็นโอกาสสำคัญของประเทศที่จะก้าวกระโดดไปข้างหน้าได้

“แม้เรา (ประเทศไทย) จะตื่นสาย แต่ตื่นสายก็ยังดีกว่าไม่ตื่น เอกชนไทยไม่แพ้ใครในโลก รัฐบาลตื่นแล้วเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และกำลังพยายามปลุกคนไทยให้ตื่นทั้งประเทศ”

Advertisement

ในงานเดียวกัน เจ้าพ่อเพลงรัก “บอย-โกสิยพงศ์” แห่งค่ายเพลง Loveis มาเล่าประสบการณ์ในการปรับตัวในยุคดิจิทัล ในฐานะที่โดน “เทคโนโลยี” ทำร้ายก่อนใคร นับตั้งแต่เครื่องเล่นเพลงเอ็มพี 3 ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้

แม่ทัพค่ายเพลง Loveis พูดถึงหลักคิดที่ทำให้เขาฝ่าคลื่นมรสุมการเปลี่ยนแปลงมาได้นับครั้งไม่ถ้วนจากยุคของเทปคาสเซตถึงแผ่นซีดี, เครื่องเล่นเอ็มพี 3 มาจนถึง “มิวสิก สตรีมมิ่ง” เช่นทุกวันนี้ว่า “พ่อผมสอนว่า เวลาที่ต้นไม้ถูกตัดจนโกร๋น สักพักหนึ่งจะมีใบใหม่ และดอกใหม่เบ่งบานขึ้นมา ชีวิตคนหรือชีวิตของธุรกิจก็เช่นกัน ถ้าโดนตัดจนเหี้ยนก็ต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้ ต้นไม้ไหนขึ้นจากปูนได้ก็จะอยู่นาน เราก็เลยคิดว่าเราต้องทำแบบนั้นเช่นกัน”

สมัยที่มีโปรแกรมดาวน์โหลดเพลง Napster เกิดขึ้นใหม่ๆ ผมคุยกับน้องชายว่า “เราซวยแน่” เปรียบได้กับการมองเห็นฟ้าครึ้มแล้วรู้ว่า “เมฆฝนกำลังจะมา” จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจาก “B2C” ไปยัง “B2B”

แทนที่จะขายของไปยังผู้บริโภคโดยตรงเหมือนเดิม ก็เปลี่ยนมาเป็นขายให้บริษัท ให้บริษัทจ่ายแทนผู้บริโภค โดยไม่ลืมที่จะขยายฐานแฟนเบส โดยสร้างศิลปินกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

“ผมทำซีดี และเซ็นลายเซ็นบนซีดีที่ขายผ่าน B2B แจกไปหลายแสนแผ่น ตั้งใจว่าจะแจกเป็นล้านเพื่อให้เข้าถึงแฟนเพลงให้ได้เป็นล้านคน ช่วงนั้นทำให้มีเวลาตั้งสติได้ว่าจะเอายังไงต่อไป และทำให้เห็นภาพชัดว่าภูมิทัศน์ของธุรกิจเพลงกำลังเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น เราจะคิดแบบเดิมไม่ได้”

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ธุรกิจจึงต้องเปลี่ยนตนเองให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป

“เมื่อก่อนอัลบั้มหนึ่งขายได้เป็นแสนก๊อบปี้ รายได้ก็เยอะ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเยอะมากในการโปรโมต ต่างจากวันนี้ผมเพิ่งจัดคอนเสิร์ตจบไป ขายบัตรหมื่นใบหมดภายในไม่กี่นาที อาศัยการโปรโมตทางเฟซบุ๊ก ไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว”

ยุคนี้จ่าย (ค่าโปรโมต) น้อยก็จริง แต่รายได้ก็กลับมาน้อยด้วยจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด และทำใหม่หมดแบบ

360 องศาจากเดิมทำโชว์หรือจัดคอนเสิร์ตคิดแค่ว่า ทำให้ “คนฟังมีความสุข” ถือเป็นการตอบแทนแฟนเพลงมากกว่าหวังผลกำไรเชิงธุรกิจ แต่วันนี้ โชว์หรือการจัดคอนเสิร์ตกลายเป็นหนึ่งในแกนหลักในการสร้างรายได้

“เพลง” กลายเป็น “มีเดีย” แต่เมื่อสิ่งหนึ่งโดนทำลายก็มีโอกาสใหม่สิ่งใหม่มาแทน

“ผมเริ่มสังเกตเห็นว่าคนใช้อินเตอร์เน็ตเยอะมาก และทั้งหมดอยู่บนมือถือ เราจ้องมือถือแทบจะตลอดเวลา ถ้าเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาที่คนอยู่กับอินเตอร์เน็ตให้มีมูลค่า แล้วเอามูลค่านั้นมาจ่ายให้อุตสาหกรรมดนตรีได้ก็น่าจะไปต่อได้”

นั่นเป็นที่มาของการพัฒนา แอพพลิเคชั่น “แฟนสเตอร์” (FanSter) ขึ้นมา เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของกลุ่มแฟนคลับ ทั้งศิลปินในค่าย Loveis และนอกค่ายได้หมด

“ปกติผู้คนจะใช้โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม หลายช่องทางในการตามศิลปินที่เขาชื่นชม แต่ Fanster จะรวมศิลปินหลายค่าย หลายแนวไว้ด้วยกัน หากแฟนคลับกดหัวใจให้ศิลปินคนไหน แอพพลิเคชั่นก็จะดึงฟีดของศิลปินคนนั้นๆ ทั้ง Official และของที่แฟนคลับทำมารวมกันไว้ในหน้าฟีด ซึ่งศิลปินก็จะสามารถเซอร์วิสแฟนเพลงของตนเองได้เองด้วย แอพพ์จะมีระบบเหรียญให้สะสม”

โดยคะแนนสะสม หรือเหรียญที่ได้จากการร่วมกิจกรรมต่างๆ จะนำไปใช้แลกผลิตภัณฑ์หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพันธมิตรธุรกิจที่ร่วมกันทำได้ เช่น แลกการเข้าถึงคอนเทนต์พิเศษ, กิจกรรมพิเศษกับศิลปินที่ชอบ เช่น นภ-พรชำนิอาจขับรถเอาดอกไม้ไปให้คุณที่ทำงาน หรือคุณมีสิทธิสมัครบริการที่ทำโปรโมชั่นร่วมกับแอพพลิเคชั่นได้ เป็นต้น

ยิ่งแฟนคลับทำกิจกรรมภายในแอพพลิเคชั่นเยอะก็จะยิ่งได้เหรียญมาแลกความสุขเยอะขึ้น อีกทั้ง “ลูกค้า” ที่เป็นสปอนเซอร์หรือพาร์ตเนอร์ที่มาจัดกิจกรรมร่วมกันยังคำนวณได้ว่า สิ่งที่จ่ายไปได้ผลตอบรับกลับมามากน้อยแค่ไหน

เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกที่ “แฟนคลับ” มีต่อบรรดา “ศิลปิน” ที่ตนชื่นชอบให้เป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ และสร้างรายได้ในเชิงธุรกิจพร้อมกันไป

“บอย” มองว่า ในอนาคต “แฟนสเตอร์” จะไม่ใช่แอพพลิเคชั่นสำหรับศิลปินเพลงอย่างเดียว แต่สามารถขยายไปสู่ “นักกีฬา ดารา-นักแสดง” หรือชุมชน และกลุ่มคอมมิวนิตี้ที่ชื่นชอบในเรื่องต่างๆ ที่มีฐานแฟนคลับของตนเองได้ ทั้งไม่จำกัดแค่ในประเทศไทยอีกด้วย

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ไม่ว่าอุปสรรคจะเป็นเช่นไรก็คงเหมือนท่อนหนึ่งในบทเพลงฮิตตลอดกาลที่เขาแต่งขึ้นมา “อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image