“6แกนนำรวมพลคนอยากเลือกตั้ง”รับทราบข้อหาหลังชูป้ายเรียกร้องเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 มีนาคม 2561 แกนนำกลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย และ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง จำนวน 6 คน คือ นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ อายุ 23 ปี นายสิทธิชัย คำมี อายุ 21 ปี นายยามารุดดิน ทรงศิริ อายุ 21 ปี นายจตุพล คำมี อายุ 21 ปี น.ส.จิตต์ศจีฐ์ นามวงค์ อายุ 56 ปี และนายอ๊อด แจ้งมูล อายุ 33 ปี เดินทางเข้ารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหาที่ สถานีตำรวจภูธร (สภ.) ภูพิงคราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรม ‘รวมพลคนอยากเลือกตั้ง’ ชูป้ายเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง บริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และต่อมาอัยการผู้ช่วย ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับ บุคคล 6 ราย ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

โดยแกนนำทั้ง 6 คนได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา โดยมีมวลชนที่มีทั้งนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง และมวลชนเสื้อแดงกว่า 30 คน รวมทั้งนักวิชาการที่เคลื่อนไหวทางด้านการเมืองหลายคน อาทิ นายสมชาย ปรีชาศิลปะกุล นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายชำนาญ จันทร์เรือง รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ รวมทั้งนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และแกนนำเสื้อแดงในพื้นที่อีกหลายคนมามอบดอกกุหลาบสีแดงให้กำลังใจ

หลังจากเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดแยกสอบปากคำเป็นการเบื้องต้นประมาณ 2 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวทั้งหมด และนัดหมายให้มาพบอีกครั้งในวันที่ 9 เมษายนเพื่อส่งสำนวนฟ้องต่อพนักงานอัยการ

นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาคณะมนุยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งใน 6 ผู้ต้องหา กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ และจัดขึ้นในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นไม่มีความรุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคง โดยวันนี้ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

Advertisement

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สมาคมจะส่งทนายความเข้ามาช่วยเหลือในคดีนี้ ส่วนแนวทางการต่อสู้มองว่ากิจกรรมที่จะจัดขึ้น เป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เทียบเคียงได้กับหลายคดีในลักษณะเดียวกันที่ศาลยกฟ้อง แม้ว่าทางฝ่ายทหารจะตีความว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image