บทสรุป ‘ปฏิรูปตำรวจ’ บิ๊กสร้างแถลงปิดจ๊อบ ปรับ 3 ด้าน เผยทางลัดผ่าตัดสีกากี!

  • ปิดจ๊อบปฏิรูปตำรวจ บิ๊กสร้างสรุปส่งการบ้าน นายกฯพรุ่งนี้

เมื่อเวลา 11.30น. วันที่ 28 มีนาคม ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงสรุปผลการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา และประชุมคณะกรรมการครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปผลในช่วงเช้าวันนี้ โดยมี นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและอดีตคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และนายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา-ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และพล.อ.อ. อิทธพร ศุภวงศ์ ร่วมแถลง

พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้าย แถลงปิดงาน ได้บทสรุปแล้ว จะนำเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 29 มีนาคม นี้โดยจะนำเสนอในรูปแบบเอกสารและอีบุ๊ค จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะพิจารณานำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ต่อไปตามกระบวนการ ส่วนการปฏิรูปจะเกิดได้จริงเมื่อไหร่นั้นในขั้นตอนของกฎหมายใช้เวลาอีกหลายเดือน ในส่วนกรรมการชุดนี้ถือว่าจบแล้ว นำเสนอนายกรัฐมนตรี นำเข้า ครม. จากนั้นก็ต้องส่งให้กฤษฎีกาทบทวน แล้วนำเข้าครม.อีกครั้ง ส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกเป็นกฎหมาย เป็นอนุบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ที่ผ่านมาตลอด 9 เดือน เราประชุมกันมากว่า 40 ครั้ง ได้กำหนดขอบเขตงานต่างๆ ออกแบบสร้างระบบ ตามคำคั่ง ตามรัฐธรรมนูญ จนออกมาเรียบร้อยดี แต่ต้องยอมรับว่างานนี้ไม่สำเร็จรูป เราเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย อนุบัญญัติทั้งหลาย จะสำเร็จเมื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และกว่าจะได้ผลเต็มรูปแแบต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลง เพราะต้องมีการศึกษา ฝึกฝน เตรียมคน ได้คนที่ดีมาทำงาน คนที่เสียสละตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องใช้เวลาหน่อย โดยเราได้ระดมความคิดจากส่วนต่างๆ โดยเฉพาะความคิดเห็นของประชาชนที่เรานำมาเป็นตัวตั้ง โดยการทำทุกอย่างคณะกรรมการฯทำอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี” พล.อ.บุญสร้างกล่าว

Advertisement
  • ปรับตำรวจต้องใช้เวลา แก้ไขภาพที่มีอยู่เดิม สำเร็จหรือไม่คนในต้องเปลี่ยน ประชาชนต้องปฏิรูปตัวเอง

ประธานกรรมการปฏิรูปตำรวจ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ เทียบกับการสร้างชาติที่ต้องใช้เวลา เราไม่ได้วาดตำรวจใหม่จากกระดาษที่ว่างเปล่า แต่เราแก้ไข ปรับจากภาพที่มีอยู่แล้ว จัดระบบจากสิ่งที่มีอยู่เดิม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาในหลายเรื่อง เช่นการถ่ายโอนภารกิจ ต้องใช้เวลา ทั้งนี้การปรับองค์กรครั้งนี้จะทำได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลการในองค์กรพร้อมปรับหรือไม่ บางทีบางคนอยู่ในระบบเดิมๆจนชินไม่อยากเปลี่ยน ไม่ยอมเปลี่ยน อันนี้ก็ทำให้ยากและใช้เวลานาน แต่ทั้งนี้การออกแบบใหม่จะทำให้การเติมคนใหม่เข้ามาในระบบเป็นคนที่มีความพร้อม เป็นตำรวจที่มีความรู้ มีความสามารถ มีความรู้สึก ความพร้อมสอดคล้องตามที่สังคมต้องการ แล้วองค์กรจะดีขึ้นเอง อย่างไรก็ตามจากการได้ศึกษาเรื่องนี้สิ่งสำคัญในการปฏิรูปตำรวจปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้น สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องปฏิรูปตัวเองด้วย ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ติดสินบน เคารพในกติกา ประชาชนต้องเป็นตำรวจในตัวเอง ต้องช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองด้วย แล้วการปฏิรูปครั้งนี้จะสำเร็จได้

  • แก้ปัญหาบริหารงานบุคคล แต่งตั้งโยกย้าย โดยออกแบบสูตรเลือกผบ.ตร.ที่ดีที่สุด

พล.อ.บุญสร้าง กล่าวสรุปผลการปฏิรูปตำรวจว่า คณะกรรมการได้แบ่งประเด็นการปฏิรูปตำรวจออกเป็น 3 กลุ่มงาน เรื่องแรก การบริหารบุุคคลและการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ได้ส่งบทสรุปไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เรื่องหลักคือการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) โดยให้ ผบ.ตร.เป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่เหมาะสม1- 3 รายชื่อให้ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)พิจารณา โดยองค์ประกอบ ก.ตร.เปลี่ยนแปลงจากเดิม มี ผบ.ตร.เป็นประธาน แล้ว ก.ตร. จะคัดเลือก จาก รายชื่อที่ผบ.ตร.เสนอ ออกมาเพียง คนเดียว แล้วผบ.ตร.จะเสนอคนที่เหมาะเป็นผบ.ตร.คนต่อไป ให้ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบ หากไม่เห็นชอบต้องมีเหตุผลประกอบ แล้วให้ก.ตร.คัดเลือกใหม่ แล้วเสนอ นายกรัฐมนตรี อีกครั้งจนเห็นชอบ คณะที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ยังมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่ไม่มีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้าย องค์ประกอบปรับปรุงใหม่ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายให้กระจายอำนาจการแต่งตั้งไปยังกองบัญชาการต่างๆ อาทิ บช.1-9 บช.น. ตชด. ฯลฯ ที่เหลือเป็นอำนาจผบ.ตร. แต่จริงๆผบ.ตร.ก็ยังมีอำนาจทั้งหมด แต่ถ้าทำไม่ไหวต้องแบ่งมอบกระจายอำนาจออกไป

Advertisement
“ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามีปรัชญา คิดตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า ในสังคมคงมีคนดีทั้งหมดไม่ได้ เราทำให้คนในสังคมดีหมดไม่ได้ เพียงแต่เราต้องสนับสนุนคนดีให้เป็นผู้นำ ให้คนดีมีบทบาทสำคัญในสังคมแล้วสังคมจะดีขึ้น นี่คือวิธีที่เป็นไปได้ วิธีลัดที่สุดในการดูแลสังคมให้สงบเรียบร้อย คือตั้ง ผบ.ตร.ที่ดีที่สุดแล้วท่านจะมีบทบาทสูงที่สุดในการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาระดับถัดลงมา คล้ายกับรูปแบบของกองทัพ แต่ไม่เหมือนกันเพราะตำรวจ ทหารไม่เหมือนกันแต่ใช่ว่าหลักดีๆของทหารตำรวจจะเอามาใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ตามนี่คือวิธีการที่ดีที่สุด” ประธานกรรมการปฏิรูปตำรวจกล่าว
  • การโอนถ่ายภารกิจใช้เวลา – ตั้งกก.อิสระ รับเรื่องร้องเรียนตำรวจ

พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า กลุ่มภารกิจหน้าที่และอำนาจ มีการกระจายอำนาจแบบบูรณาการ ทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายและงบประมาณ นอกจากนี้ต้องปรับภารกิจให้เหมาะสมเพราะทุกวันนี้ตำรวจไปทำภารกิจของหน่วยงานอื่นๆถึง 20หน่วยงาน แต่คณะกรรมการฯพิจารณาได้บางส่วน โดยคณะกรรมการได้พิจารณาตามเหมาะสม หลักคืองานใดที่เป็นของหน่วยงานอื่นทั้งหมดให้หน่วยนั้นทำไป งานไหนก้ำกึ่งตำรวจทำดีอยู่แล้วให้ทำต่อ แต่รายละเอียดต้องพูดคุยระหว่างหน่วยงานอีกครั้ง

“นอกจากนี้ยังมีการเสนอตั้งคณะกรรมการอิสระรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ กอ.ตร. มีกรรมการที่ไม่ใช่ตำรวจ เป็นช่องทางให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาการทำงานของตำรวจเข้าร้องเรียน”พล.อ.บุญสร้าง กล่าว

ทั้งนี้รายงานสรุปการปฏิรูปตำรวจ ของคณะกรรมการฯ โดยสังเขป ดังนี้ ข้อเสนอที่ต้องแก้ไขกฎหมาย ด้านบริหารงานบุคคล 1. การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำารวจที่เป็นธรรม – ก.ต.ช. มีหน้าที่กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ โดยให้ ก.ตร. มี ผบ.ตร.เป็นประธาน เลือก ผบ.ตร. การแต่งตั้งโยกย้ายระบุเป็นกฎ ก.ตร. โดยยึดระบบคุณธรรมและความรู้ความสามารถประกอบกัน มีคณะกรรมการร้องทุกข์ตำรวจ(ก.รท.) สำหรับตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งฯ

2. มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน และมีหลักประกันค่าตอบแทน

ด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ

3. กระจายอำนาจบูรณาการ ให้มีการกระจายอำนาจทั้งด้านการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานตำรวจ โดยหน่วยที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 ปี ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานจเรตำรวจ และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และหน่วยที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 3 ปี ได้แก่ กองบัญชาการศึกษา โรงเรียน นายร้อยตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ

4.มีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กอ.ตร.) โดยมีคณะกรรมการทั้งที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นตำรวจ ท ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน สร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อสาธารณะ

5. ลดภารกิจตำรวจที่เป็นภารกิจรอง โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้ส่วนราชการอื่น ภายในเวลา 3 ปี และ 5 ปี ตลอดจนเตรียมพร้อมการบังคับใช้กฎหมาย, ภารกิจที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน

ด้านการบังคับใช้กฎหมายและการสอบสวนคดีอาญา

6. มีโครงสร้างและตำแหน่งของ พงส. ในระดับสถานีตำรวจ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับ ตร.สามารถเลื่อนไหลได้ , ไม่สามารถเปลี่ยนสายงาน เว้นระดับ รอง สว., ให้ หัวหน้าสถานี รับผิดชอบสำนวน7. เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ พงส. มีอำนาจเก็บตัวอย่าง DNA

ขณะที่ข้อเสนออื่น ที่ใช้อำนาจบริหาร ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย ได้แก่ 1. การพัฒนาการศึกษาและฝึกอบรมตำรวจครอบคลุมทุกตำแหน่ง ต่อเนื่องตลอดชีวิตการรับราชการ 2. จัดตั้งประชาคมและเครือข่ายตำรวจในจังหวัดและชุมชน ให้ กอ.รมน.จังหวัด เป็นจุดเชื่อมโยง จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนกิจการรักษาความสงบเรียบร้อย, คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการบริหารงานตำรวจที่ดีประจำจังหวัด โดยมี ผวจ. เป็นประธาน โมเดลประชารัฐโดยมีคณะกรรมการ ส่งเสริมกิจการตำรวจระดับสถานี สนับสนุนการปฏิบัติงาน 3. เพิ่มประสิทธิภาพงานตำรวจ พัฒนาสถานีตำรวจ จัดขนาด SML, มีมาตรฐานการปฏิบัติ (PSO), ประเมินผล, ตั้ง “สำนักงานยุทธศาสตร์และพัฒนาระบบงานตำรวจ” 4. พัฒนามาตรฐาน กระจายอำนาจและเพิ่มขีดความสามารถงานนิติวิทยาศาสตร์ ทุกระดับ 5. มีกำลังพลทางเลือก “ตำรวจกองประจำการ” เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังพล

ขณะเดียวกันเสนอแก้ไขกฎหมาย ต่างๆประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. … เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ฯลฯ  ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. … เรื่อง การกระจายอำนาจแบบบูรณาการ ฯลฯ ร่ าง พ .ร. บ .อำ น า จ ใ น ก า รดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ. แก้ไข ป.วิอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. … เรื่อง การเก็บสารพันธุกรรม รวมทั้งแก้ไขกฎหมายลูก ระเบียบ ให้สอดคล้อง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image