‘อดีตรองปธ.ศาลฎีกา’ ขอฟ้องปชช.เรื่องหดหู่ของตำรวจไทย เพิ่งรู้เมื่อเป็นกก.ปฏิรูปสอบสวน!

นายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา(คนที่ 2 จากซ้าย)

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.)  คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ประชุมนัดสุดท้ายเพื่อสรุปข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจ ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพือเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยนายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ร่วมแถลงถึงข้อเสนอ “ปฏิรูปตำรวจ”

ด้านนายธานิศ กล่าวว่า คณะอนุฯได้รับฟังข้อเสนอจากทุกทางโดยเฉพาะสมาคมพนักงานสอบสวน พิจารณาทุกเรื่อง ไม่เคยมองข้าม แต่บางเรื่องมีปัจจัยที่ คณะกรรมการพิจารณาแล้ว มองว่าไม่สามารถทำได้ จนได้ข้อสรุป ประเด็นหลักคือปรับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตำรวจ ให้ทำงานอย่างมีอิสระ ไม่อยู่ใต้อาณัติของใคร ไม่มีอำนาจเบื้องหลังมาเบี่ยงเบนจนทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม และต้องทำให้พนักงานสอบสวนสามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้ โดยเสนอให้ปรับระบบการเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน ให้มีหลักประกันความเจริญก้าวหน้า ให้สามารถเติบโตในแท่งพนักงานสอบสวน ไม่ต้องแย่งกับตำรวจสายอื่น สามารถโตในแท่งได้ถึง ผบ.ตร.หากมีความสามารถ ซึ่งจะทำให้พนักงานสอบสวน โตได้ในสายงานหลัก ไม่ต้องย้ายไปย้ายมา ไม่ถูกใครย้ายตำรวจก็สามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ

นายธานิศ กล่าวว่า เชื่อว่าระบบใหม่ถ้าใช้บังคับ พนักงานสอบสวนน่าจะพอใจ ในหลักประกันการทำงาน มีอิสระ มีความภูมิใจในการทำหน้าที่ แต่อาจไม่เท่าศาล อัยการ แต่นี่คือความพยายามทำ เท่าที่ทำได้ ตนได้รับข้อเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนเหมือนศาล ตนก็อยากทำ แต่พอได้รับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ โดยเฉพาะจากอดีดตำรวจ ส่วนหนึ่งเพราะตำรวจมีจำนวนมากกว่าศาลหลายเท่า และอีกอย่างงานตำรวจสำคัญในการปกป้องชีวิตทรัพย์สินประชาชน การทำให้ตำรวจมีอิสระเหมือนศาลนั้นคงเป็นไปไม่ได้

นายธานิศ กล่าวด้วยว่า อีกเรื่องคือการพัฒนาด้านนิติวิทยาศาสตร์ก็ต้องพัฒนา พยายามเพิ่มประสิทธิภาพ ให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ แต่ก็มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งนี้ปัญหาที่พบในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ คือการเก็บวัตถุพยาน และการสร้างความมั่นใจว่าพนักงานสอบสวนที่เข้าตรวจที่เกิดเหตุจะไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนาเพราะขาดความรู้ซึ่งไปกระทบกระบวนการยุติธรรม คณะอนุฯจึงเสนอยกระดับการเก็บวัตถุพยาน ว่าต้องมีนักนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมเก็บหลักฐาน บางส่วนที่ทำไม่ได้ต้องให้พนักงานสอบสวนไปอบรมการเก็บวัตถุพยาน สร้างระบบการควบคุม ให้มีมาตรฐานรองรับ กำหนดมาตรฐานการรักษาสถานที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ยกระดับด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้รับการยอมรับเมื่อสู่ชั้นศาล

Advertisement

“ทุกประเด็นเราถกเถียงอย่างจริงจัง บางครั้งไม่ลงรอยกันเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด เพื่อให้การปฏิรูปตำรวจเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อก่อนผมไม่รู้ แต่เมื่อมาทำงานนี้ได้รู้ว่า ตำรวจเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมาก สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน ความจำเป็นที่ต้องทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง กฎหมายจึงให้อำนาจกับตำรวจอย่างมาก และอำนาจรัฐส่วนนี้ไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ประชาชนได้รับผลกระทบทันที และเมื่อได้รับผลที่ไม่สมปรารถนาก็จะตำหนิติเตียนตำรวจ ซึ่งน่าเห็นใจ เราจึงพยายามสร้างระบบออกกฎหมายให้ละเอียดรัดกุม”

“แต่ผมไม่อยากได้ยินได้ฟังคำพูดเชิงกระแนะกระแหนที่ว่าท้ายที่สุดก็ขึ้นเงินเดือน เพิ่มค่าตอบแทน ผมขอพูดตรงนี้เลยว่าในประเด็นเรื่องค่าตอบแทนไม่ได้พูดด้วยอารมณ์ และความรู้สึก ในคณะกรรมการฯ เรามีงานวิจัยมานำเสนอให้เห็น วิจัยเชิงเปรียบเทียบตำรวจทั่วโลกและข้าราชการสายอื่นในเชิงความเสี่ยง ลักษณะงาน จนได้ทราบ มีผลออกมา

” สำหรับผมเมื่อได้มาทำงานตรงนี้ เพิ่งได้ทราบว่าทุกวันนี้เมื่อมีคดีความเกิดขึ้น ทางราชการให้การสนับสนุนงบประมาณในการทำหน้าที่ฟังแล้วหดหู่จริงๆ ขอนุญาตฟ้องต่อประชาชน ทำไมตำรวจต้องซื้อปืนเอง ทำไมต้องเติมน้ำมันเองเพื่อขับรถไปสืบเสาะ หาคนร้าย คลี่คลายคดีให้ประชาชน เราคาดหวังอะไรจากตำรวจมากมายแต่เราให้เขาหรือเปล่า ให้เพียงพอหรือเปล่า ให้เหมือนตำรวจสากล ตำรวจในต่างประเทศได้รับหรือเปล่า ผมขออนุญาตเอาความในใจที่สะสมไว้ตลอดเวลา ก่อนหน้านี้ไม่เคยมายุ่งมาเกี่ยว ทำหน้าที่พิพากษาคดีก็ไม่รู้ มาอยู่ตรงนี้นั่งฟังอดีตตำรวจที่เป็นกรรมการ ก็ไม่น่าเชื่อว่าทำไมตำรวจต้องเติมน้ำมันเอง ต้องซื้อปืนเองด้วยเงินส่วนตัว”อดีตรองประธานศาลฎีกา กล่าวทิ้งท้าย

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image