‘เปิดใจเธอ ดูใจฉัน’ พาคนกลับบ้าน-ลดหวาดระแวง

โครงการ “พาคนกลับบ้าน” ถูกร่างขึ้นมาและมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่สมัย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ระหว่าง 1 ต.ค.2553 ถึง 31 มี.ค.2556 เปิดทางให้ผู้เห็นต่างยอมปลดปืนเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จากนั้นโครงการก็ผ่านมือแม่ทัพภาคที่ 4 อีกหลายยุค ตั้งแต่ พล.ท.สกล ชื่นตระกูล พล.ท.วลิต โรจนภักดี พล.ท.ปราการ ชลยุทธ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ จนมาถึง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ในปัจจุบัน นับเวลาคร่าวๆ ก็ร่วม 9 ปีแล้ว

เป็น 9 ปีที่ถูกมองอย่างหลากหลาย และเพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น พล.ท.ปิยวัฒน์ใช้คำว่า “เซตซีโร่” ในการลดความหวาดระแวงของผู้เห็นต่าง มีจุดแข็งเป็นเรื่องของการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วสู่การสร้างอาชีพ สร้างโอกาส ดีกว่าอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ตามป่าเขาแบบไร้อนาคตไปวันๆ

การกลับคืนสู่สังคมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ได้รับเสียงตอบรับจากผู้เห็นต่างอย่างดี มีทั้งระดับแกนนำปฏิบัติการบีอาร์เอ็น พูโล และอาร์เคเค ที่เคยจับอาวุธต่อสู้กับรัฐ ปรับเปลี่ยนทัศนคติยุติการต่อสู้ เคลียร์กลุ่มผู้หวาดระแวงไม่กล้าอยู่ในพื้นที่

Advertisement

“มติชน” เดินทางไปที่นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี มีกลุ่มผู้เห็นต่างที่มีหมาย ป.วิอาญา และหมาย พ.ร.ก.คดีความมั่นคง ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมจำนวนมาก

นางอารีย์ มาทวี อายุ 55 ปี ชาวบ้าน ต.ท่าบ่อ อ.ปะนาเระ เล่าว่า ในอดีตเป็นคนภูมิลำเนานี้ เมื่อมีโครงการพาคนกลับบ้านจึงตัดสินใจเข้าร่วม หลังผ่านขั้นตอนการกลั่นกรองแล้ว ได้เข้ามาอยู่ที่นิคมแห่งนี้ รู้สึกดีใจมาก มีความสุข โดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆ เริ่มเรียนภาษาไทยกันแล้ว ส่วนกลุ่มผู้หญิงเริ่มมีรายได้จากการคัดแยกเกรดปลากะตักแห้งส่งโรงงาน ผู้ชายส่วนใหญ่เลือกจะทำแปลงเกษตรผสมผสานครบวงจร ทั้งปลูกผักและเลี้ยงไก่เกิดรายได้หลายทาง

Advertisement

“วันนี้พวกเราผ่านพ้นชีวิตที่ผิดพลาด ความลำบากแสนเข็ญ ยืนด้วยขาของตัวเองได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธ มุสลิม ล้วนเป็นคนไทยที่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ข้ามพ้นความรู้สึกไม่ดีในใจ สิ่งที่คาดหวังอยากให้ผู้ที่เลือกและตัดสินใจออกมาอยู่อย่างนี้แล้วเกิดความสุข การฝึกฝนอาชีพให้เป็นหนทางหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว”

นางอารีย์กล่าวว่า วันแรกที่ทุกคนย้ายเข้ามาในนิคม ทุกคนยังไม่กล้าเปิดใจรับและให้ความสนิทสนมเท่าไหร่ เพราะอาจเกร็งๆ แต่พอผ่านไประยะหนึ่ง มีการพูดคุย ร่วมทำกิจกรรมหลายอย่าง ก็เริ่มเกิดความสนิทสนมพูดคุยหยอกล้อกันบ้าง แม้แต่เด็กๆ ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ก็เริ่มคุยกัน มีความเข้าใจในภาษาไทยกันมากขึ้น

“ที่กำลังอยากทำมากที่สุดการปลูกผักรอบบ้านพัก ช่วยกันลดรายจ่าย เอามาใช้กินในครอบครัว ที่เหลือก็จะได้เอาไปขาย หลายครอบครัวอยากปลูกผัก และยังทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ทั้งหมดจะช่วยลดภาระในครอบครัว”

ขณะที่ น.ส.ฟุตรีโนรฮาสิติน กาซอ อายุ 17 ปี เล่าให้ฟังว่า มาอยู่ศูนย์ศึกษาอาชีพแห่งนี้ได้เดือนครึ่งแล้ว ตอนแรกไม่รู้จะทำอะไร พอสักพักพี่ๆ เข้ามาสอนให้รู้จักทำการเกษตรกรรม ปลูกผักเลี้ยงปลา สิ่งที่เป็นความตั้งใจหลักที่กลับมากับพ่อแม่ครั้งนี้คืออยากเรียนหนังสือ ที่ผ่านมาตอนอยู่มาเลเซียไม่เคยได้เรียนหนังสือ อยากจะมาเรียนจะได้มีอนาคตที่ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นอยู่ ตอนนี้โรงเรียนต่างๆ อยู่ระหว่างปิดเทอม จึงมีครูมาคอยสอนและปรับการพื้นฐานการใช้ภาษาไทยให้กับเด็กๆ ที่กลับตามพอแม่มาอยู่ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ทั้งช่วงเช้าและบ่ายทุกวัน

“ยอมรับว่าตื่นเต้นมากที่จะได้เรียนหนังสือที่โรงเรียน เวลาเดินผ่านโรงเรียนก็มองไปทุกวัน อยากไปเรียนมากๆ”

น.ส.ฟุตรีโนรฮาสิติน กล่าวต่อว่า รู้สึกโชคดีกว่าเพื่อนๆ อีกหลายคนยังอยู่ฝั่งมาเลเซีย ทุกคนที่นั่นต่างบอกว่าอยากกลับมาเรียนหนังสือที่ประเทศไทย เพราะมีความรู้สึกว่าเป็นคนไทย หากได้เรียนจะมีอนาคตที่ดีเพราะอยู่มาเลเซียไม่ได้รับสิทธิการเรียนการศึกษา หรือแม้แต่เรื่องสุขภาพ ด้านสาธารณสุขเราก็ไม่สามารถรับสิทธิใช้บริการได้ สงสารเพื่อนๆมากตอนนี้ อยากให้กลับมาอยู่ด้วยกัน

“หนูเองตอนที่อยู่ฝั่งมาเลเซียไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เราต้องแยกกันอยู่คนละแห่งอย่างลำบากมากๆ พอพ่อยอมกลับมาเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน ทำให้เรา พ่อ แม่และลูก ได้กลับมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกันอย่างมีความสุขมากๆ ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะมีวันนี้”

น.ส.ฟุตรีโนรฮาสิติน กล่าวว่า หนูโชคดีมากที่ได้รับโอกาสเพราะไม่เคยคิดว่าจะได้รู้รสสัมผัสแบบนี้ได้จริงๆ ขอขอบคุณลุงอาร์ต (พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4) กล้าทำในสิ่งเหล่านี้ให้หลายคนได้มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเกิดขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กๆ อย่างพวกเรา พี่ทหาร และพี่อีกหลายคนที่เราเห็นเข้าไปคุยกับพ่อตอนนั้น รู้ว่าเขามาพยายามช่วย อยากขอบคุณอีกครั้ง ทำให้พวกเราทุกคนมีรอยยิ้มเกิดขึ้นเยอะมากๆ เพราะทุกคนมีความสุข ยังมีที่ต้องอยู่ลำบากอยากกลับมาเพราะพ่อแม่เขาเป็นคนไทย แต่เขาเกิดที่มาเลเซีย เขาบอกว่าอยากจะกลับมาเรียนภาษาไทยและอยากเป็นคนไทยเหมือนพวกเรา

“หากเรียนจบและโตขึ้นอยากเป็นทหาร เพราะได้เห็นสิ่งที่พี่ทหารทำให้พวกเรา ถ้าโตขึ้นเราได้เป็นทหาร ก็จะมาคอยช่วยเหลือผู้ที่ขาดโอกาสให้ได้รับโอกาสที่ดีเหมือนพวกเราในตอนนี้” น.ส.ฟุตรีโนรฮาสีติน กล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มเปื้อนหน้า

เขมินท์ เกื้อกูล / ปัตตานี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image