ชวน ‘ผู้สูงวัย’ พัฒนากายใจ สร้างสุขภาวะดี-มีความสุข

บ้านรำแดง

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 แต่การเตรียมความพร้อมรองรับผู้สูงอายุยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

โดยเฉพาะ “ชุมชน” ซึ่งใกล้ชิด และรู้จักสภาพปัญหา ตลอดจนความต้องการผู้สูงอายุในชุมชนของตนเองเป็นอย่างดี

สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างเสริมสุขภาพกายและจิตใจให้แก่ผู้สูงวัยอย่างเต็มที่

โดยแต่ละชุมชนจะนำความรู้ในการดูแลสุขภาพประยุกต์กับสิ่งที่คนในชุมชนสนใจ เช่น บ้านรำแดง ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีโครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน หมู่ 3 และหมู่ 6 ชุมชนรำแดง” โดยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม

Advertisement
เชิดพงศ์ บุญที่สุด และ มะริหย้อ ศรีชาย

เชิดพงศ์ บุญที่สุด นักพัฒนาชุมชนประจำ อบต.รำแดง เปิดเผยว่า เมื่อทำประชาคมขอความเห็นจากทั้ง 2 ชุมชน พบว่าผู้สูงอายุต้องการการออกกำลังกายเเละพื้นที่สำหรับการออกกำลังกายเป็นอันดับแรก จึงร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นำท่าทางของ 12 นักษัตรประจำปีเกิดมาประยุกต์เป็นท่าออกกำลังกาย มีท่วงท่าที่เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้สูงอายุ ประกอบกับเพลง “ฉันรักรำแดง” ซึ่งเป็นเพลงของท้องถิ่นที่แต่งขึ้น โดยนัดหมายกันในช่วงเย็นวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเศษ นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกายที่ทำได้เองตามลำพังอีกด้วย

“ผู้สูงอายุคิดว่าการทำงานก็คือการออกกำลังกาย แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวทุกส่วนและไม่ได้มีความต่อเนื่องเลยทำความเข้าใจเสียใหม่ การที่ผู้สูงอายุมีชมรม มีการรวมกลุ่มกันออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังทำให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว ได้มาพบปะพูดคุยกัน ไม่ได้อยู่บ้านเงียบเหงาอยู่คนเดียว” เชิดพงศ์กล่าว

ในขณะที่ บ้านทุ่งมะพร้าว ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แม้จะเพิ่งรวมตัวก่อตั้งมาไม่นานนัก แต่ก็มีการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ในโครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนหมู่ 1 บ้านทุ่งมะพร้าว”

Advertisement
จิตรา ศิริวิขัย

จิตรา ศิริวิชัย กรรมการฝ่ายจัดหาทุนชมรมผู้สูงอายุบ้านทุ่งมะพร้าวให้ข้อมูลว่า ชมรมผู้สูงอายุบ้านทุ่งมะพร้าวก่อตั้งเมื่อปี 2558 มีสมาชิก 52 คน จากผู้สูงอายุทั้งหมู่บ้าน 120 คน จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพให้ความรู้ด้านสุขภาวะ จากการร่วมกันคิดของชุมชน จนนำไปสู่แนวคิดการจัดตั้ง “วิทยาลัยสุขภาพตำบลทุ่งมะพร้าว สาขาการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ” โดยต้องการให้ผู้สูงอายุที่ผ่านหลักสูตรสามารถดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้นได้ อยู่ร่วมในครอบครัว ชุมชน และสังคมได้อย่างมีความสุข และสามารถเป็นผู้สูงอายุต้นแบบให้กับชุมชนและสังคมได้อีกด้วย

“หลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นการคิดร่วมกันกับ รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลทุ่งมะพร้าว หลังจากลงพื้นที่สอบถามข้อมูล รพ.สต.ก็จะกลับมาคิด หาวิทยากรมาให้ความรู้กับนักศึกษารุ่นใหญ่ที่มีวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปซึ่งแต่งเครื่องแบบมาเรียนทุกวันศุกร์ ที่อื่นอาจเป็นโรงเรียนแต่ของเราเป็นวิทยาลัย” จิตรากล่าว

หลักสูตรมีระยะเวลา 26 สัปดาห์ ประกอบด้วย 6 หน่วยการเรียน ได้แก่ 1.ความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุ 2.การดูแลสุขภาพที่จำเป็นของผู้สูงอายุ โภชนาการ การออกกำลังกาย การพักผ่อน 3.การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของผู้สูงอายุ 4.นันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ การเย็บปักถักร้อย งานหัตถกรรม กิจกรรมผ่อนคลาย 5.เพื่อนช่วยเพื่อน กิจกรรมเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุติดบ้าน และ 6.เศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาบูรณาการร่วมกับชีวิตประจำวัน

แม้จะเป็นในระยะเริ่มต้น แต่ก็ทำให้ผุ้สูงอายุเกิดการรับรู้และมีความตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพ รวมไปถึงการเสริมสร้างสุขภาวะในด้านต่างๆ ผู้สูงอายุสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้โดยพึ่งพาคนในครอบครัวน้อยลง

บ้านค้างคาว

ส่วน “บางค้างคาว” หมู่บ้านชุมชนชายทะเลฝั่งอันดามันแห่ง อ.สิเกา จ.ตรัง เป็นชุมชนใช้ชีวิตเรียบง่ายตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งประสบปัญหาเช่นเดียวกับหลายแห่ง ที่คนวัยแรงงานออกไปทำงานนอกพื้นที่ ผู้สูงอายุต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง

เสถียร ทิพย์ทอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางค้างคาว กล่าวว่า หลังทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน พบว่าปัญหาอันดับเเรกคือผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแล จึงคิดโครงการดูแลผู้สูงอายุขึ้น โดยเริ่มจากการใช้สภาผู้นำชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีหน่วยงานสำคัญที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านสุขภาพคือ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแหลมมะขาม

ด้าน วิภาดา กั่วพานิช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านแหลมมะขาม เล่าว่า นอกจาก อสม.ที่ทำหน้าที่ร่วมกับ รพ.มาโดยตลอดแล้ว จนท.ท้องถิ่นและสมาชิกสภาผู้นำชุมชน รวมทั้งผู้นำศาสนาก็ร่วมมือกันอย่างดี โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้และร่วมกันออกกำลังกายทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลเป็นประจำทุกเดือนแล้ว ที่สำคัญที่ถือว่าเป็นโอกาสดีอย่างมากที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านเป็นผู้นำทางศาสนาด้วย จึงได้มีการประสานความเชื่อทางศาสนาเข้ากับหลักของการดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างลงตัว

มะริหย้อ ศรีชาย อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านและครูสอนศาสนาแห่งบางค้างคาว อธิบายว่า หลักการดูแลสุขภาพสอดคล้องกับศาสนา คือ ต้องสะอาดทั้งในบ้าน นอกบ้านและตัวเอง มุสลิมทุกคนถ้าไม่รักษาความสะอาดจะไม่เป็นที่รักของอัลเลาะห์และจะเป็นโรค จึงใช้หลักศาสนาจูงใจให้ผู้สูงอายุสนใจดูแลตนเอง ยอมกินยา ยอมไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้ครอบครัวละหมาดพร้อมกันอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งตามหลักศาสนาและเพื่อเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว

เป็นหนึ่งในแนวทางที่สอดคล้องกับหลักศาสนา จนสามารถขยายผลไปสู่การสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้อย่างลงตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image