วัดขนอนโชว์’หนังใหญ่’ตัวใหม่ สูง 3.4 เมตร รับสงกรานต์ พร้อมชวน’ออเจ้า’เที่ยวตลาดย้อนยุค

ตัวหนังท้าวโกสีย์ขี่ช้างเอราวัณ ความสูง 3.40 เมตร

อีกไม่กี่วันใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาวที่พวกเราหลายคนตั้งตาคอย ไม่ว่าจะหันไปทางไหนจะเจอผู้คนวางแผนจะเดินทางไปยังที่ต่างๆ ไม่ว่าจะกลับภูมิลำเนาเดิมของตน หรือแพลนกิจกรรมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดกันทั้งนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวพร้อม มีหรือที่สถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยจะไม่พร้อมสำหรับเทศกาลสุดหรรษาในครั้งนี้

ทาง “วัดขนอน” ที่มีหนังใหญ่เป็นของดีประจำจังหวัดราชบุรีเองก็ไม่พลาดที่จะจัดงาน “เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน” ที่จัดเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว โดยแต่ละปีจะมีการเสนอจุดเด่นที่แตกต่างกันไป และปีนี้ เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนมาในธีม “ชมหนังใหญ่ แต่งไทย ไปตลาดด่านขนอน” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 – 14 เมษายนนี้

การแสดงหนังใหญ่

การแสดงหนังใหญ่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะขั้นสูง เป็นศิลปะการแสดงที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย ที่ประกอบไปด้วยเป็นการรวมเอาศิลปะแขนงต่างๆ ไว้ถึง 5 แขนง คือ หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ วาทศิลป์ และวรรณศิลป์ เป็นการแสดงที่ใช้ตัวหนังขนาดใหญ่เป็นตัวละคร ตัวหนังจะใช้แผ่นหนังวัวฉลุเป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ และมีไม้ผูกทาบตัวหนังไว้ทั้งสองข้าง เพื่อให้ตัวหนังตั้งตรงไม่งอ และทำให้มีคันยื่นลงมาทั้งสองข้างสำหรับจับถือและยกได้ถนัด ใช้ผ้าขาวคาดเป็นจอ ส่วนด้านหลังจอจะจุดไต้และก่อไฟไว้ เพื่อให้แสงทำให้เห็นเงาตัวหนังซึ่งมีลวดลายวิจิตรมาติดอยู่ที่จอผ้าขาว

ต่อมาในปี พ.ศ.2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภกมรดกไทย ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะหนังใหญ่ มีพระราชดำริให้วัดขนอนช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง 313 ตัว โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากร และจังหวัดราชบุรี รับสนองโครงการพระราชดำริ จากการสืบทอดการแสดง อนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟู ศิลปะการแสดงหนังใหญ่ไว้เป็นอย่างดี จนได้รับ “รางวัลจากยูเนสโก (UNESCO)” ด้านชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรมและเป็นแหล่งอนุรักษ์ เรียนรู้ ฝึกฝน ศิลปะทุกแขนงที่เกี่ยวกับหนังใหญ่

Advertisement

เมื่อหัวข้อคือ “หนังใหญ่” จึงมีผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่ในวงการมาพูดคุยให้ความรู้ ครูหมู-จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ครูช่างศิลหัตถกรรม ปี 2559 สาขาเครื่องหนัง ครูช่างศิลปหัตถกรรมแกะหนังใหญ่และครูผู้สอนศิลปะการแสดง คณะหนังใหญ่วัดขนอน มาบอกเล่าถึงความพิเศษในการแสดง “หนังใหญ่วัดขนอนครั้งที่ 13”

สุด’อลัง’เปิดตัวหนังใหญ่ สูงสุดในไทย

ครูหมูเล่าว่า การแสดงครั้งที่ 13 นี้ วัดขนอนขอเสนอการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ “ตอนศึกพรหมาศ” และเป็นครั้งแรกด้วยการสร้างหนังตัวใหม่ขึ้นมาที่มีความสูงของหนังประมาณ 3.40 เมตร แกะเป็นตัว “ตัวหนังท้าวโกสีย์ขี่ช้างเอราวัณ” นับเป็นความสูงที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนี้

“ศึกพรหมาศทางคณะนำกลับมาทำอีกครั้ง เดิมทุกตัวละครมีอยู่แล้วแต่ไม่เคยนำมาแสดง การหยิบมาแสดงครั้งนี้ถือเป็นความแปลกใหม่ของนักแสดงเป็นอย่างมาก และเป็นกำไรให้ผู้ชมอย่างมาก ในการทำ “ตัวหนังท้าวโกสีย์ขี่ช้างเอราวัณ” ครั้งนี้ ใช้ช่างตอก 2 คน ร่วมกันลงสี 5-6 คน ซึ่งฉากนี้คิดมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าจะฉากทำพระอินทร์ทรงขี่ช้างเอราวัณ เมื่อทำเสร็จก็คิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ขบวนของช้างเอราวัณแสดงโชว์ออกมาให้ยิ่งใหญ่ จึงผสมผสานกับการแสดงร่วมสมัยเข้ามาเสริมด้วย อย่างเช่น เอาการรำของทางเหนือ โดยมีครูกฤษฏิ์ ชัยศิลบุญ มีโขน จากศิษย์ศิลปากรมาร่วม ประกอบกับบทพากย์ บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราว พร้อมด้วยแสงสีเสียง ให้ผู้ชม และนักท่องเที่ยวได้ชมกันอย่างเต็มอิ่มกับการจัดงานในปีนี้ แต่ก็ยังคงตัวตนความเป็นหนังใหญ่วัดขนอนไว้อยู่ ที่สำคัญจะผสมกับการแสดงแบบโบราณคือการใช้ ไฟกะลา หรือที่เรียกว่า หนังใหญ่ไฟกะลา ลงไปด้วย”

Advertisement
การแสดงหนังติดตัวโขน

ยึดมั่นความดั้งเดิม เชิญดื่มด่ำบรรยากาศ ‘หนังใหญ่ไฟกะลา’

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่หนังใหญ่วัดขนอนยังคงยึดมั่นในรูปแบบโบราณคือ ใช้ ผู้ชายเชิดเท่านั้น ตามธรรมเนียมนิยมแบบโบราณคือ “ไม่ให้ผู้หญิงเชิด” เพราะสมัยก่อนหนังใหญ่เป็นศิลปะขั้นสูงซึ่งแสดงในรั้วในวังเท่านั้น คนที่เชิดสมัยก่อนเป็นพวกมหาดเล็ก อีกทั้งวิธีการลงเหลี่ยมการเชิด การลงขา การยกแข้งขา ดูไม่งามจึงไม่นิยมให้ผู้หญิงเชิด ทางคณะวัดขนอนยังคงยึดถือธรรมเนียมโบราณอยู่ เพราะว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง แล้วทางผู้หญิงมีส่วนร่วมคือร่วมแสดงดนตรี

การเล่นหนังใหญ่ไฟกะลา

เมื่อถามถึง “หนังใหญ่ไฟกะลา” ที่เล่าตอนต้น ครูหมูอธิบายให้ฟังดังนี้

“การใช้ไฟกะลาเป็นวิธีการเล่นแบบโบราณ เพราะในสมัยโบราณจะไม่มีไฟฟ้า และการแสดงหนังใหญ่เป็นการแสดงในเวลากลางคืนจึงต้องใช้ไฟกะลา ส่วนทำไมต้องเน้นแค่กะลาอย่างเดียว เนื่องจากกะลามีคุณสมบัติที่ดีคือจุดแล้วจะมีแต่เปลวไม่มีประกายไฟ หากใช้ฟืนอย่างอื่นจะทำให้เกิดประกายไฟและนักเชิดที่อาจจะถูกสะเก็ดไฟ อีกทั้งจอภาพที่ใช้คือผ้าขาวอาจจะถูกไฟไหม้ได้ ในการแสดงจะสุมไฟกะลาด้านหลังจอแทนไฟฟ้า ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจุบันเราจะมีไฟสปอตไลต์ คอยช่วยอยู่บ้างเพื่อให้การแสดงดูมีมิติมากขึ้น”

จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ครูหนัง

ความอดทนประกอบเป็นความงาม

กว่าจะเห็นออกมาเป็นตัวหนังแต่ละตัวไม่ใช่เรื่องง่าย

“หนังใหญ่ต้องใช้ความอดทน เวลาแกะหรือฉลุลวดลายต่างๆ มือของช่างบางทีอาจจะพลาดโดนค้อนตีบ้าง โดนมีดปัดมาโดนบ้าง ต้องใช้ความอดทนแต่หากทำไปเรื่อยๆ จนชิน จะมีความคล่อง ความชำนาญ ทำเรื่อยๆ จนมือด้าน จะไม่ยากอะไรมาก” ครูหมูบอกเล่าด้วยท่าทางสบาย

พร้อมอธิบายในเรื่องลายหนังใหญ่ว่า “ลายที่ตอกมีอยู่ 2 ประเภท คือ ลายตัวหนอน ซึ่งการตอกตัวนี้จะมีการเว้นช่องไฟเพื่อไม่ให้หนังขาด ใช้เป็นรูปทรงรอบนอก และจุดไข่ปลา ที่จะละเอียดมากกว่า ซึ่งทั้งสองลายต้องประกอบกันออกมาเพื่อให้งานดูนุ่มนวลและมองเห็นตัวละครชัดเจน” ครูหมูกล่าว

ครูหมูยังให้ความรู้ในการทำตัวหนังใหญ่เพิ่มเติมอีกว่า ต้องดูที่ วัตถุประสงค์ ว่าทำไปเพื่ออะไร หากทำเพื่อแสดง ต้องทำลายที่ใหญ่ หยาบ และไม่ต้องใส่รายละเอียดมาก เพราะเวลาแสดงผู้ชมมองจากระยะไกลจะได้มองเห็นชัดเจน หากตอกละเอียดและเส้นเล็กทุกอย่างจะเบลอมองเห็นลายเส้นไม่ชัดเจน ดังนั้น การตอกละเอียดจึงเหมาะกับหนังใหญ่ที่ทำเพื่อเอาไว้ประดับตกแต่งเพื่อความสวยงามมากกว่า

เผากะลาเล่นไฟ หนังใหญ่วัดขนอน

ครู-ศิษย์ร่วมสร้าง สานต่อการอนุรักษ์

เมื่อถามถึงการสร้างทายาทเพื่อสืบทอดหนังใหญ่ ครูหมูเล่าให้ฟังว่า วัดขนอนเป็นรูปแบบที่ไม่ได้สืบทอดกันมาในรูปแบบของตระกูล เป็นหนังที่เกิดขึ้นจากวัด และทางวัดสร้างบุคลากรขึ้นมา แม้ตัวหนังจะเป็นของวัดแต่จะให้พระสงฆ์มาแสดงเชิด หรือสอน คงจะลำบาก ต้องมีฆราวาสเข้ามาช่วยในการสืบทอด การสืบทอดจึงเป็นในรูปแบบ ครู-ศิษย์

“พอมาถึงรุ่นปัจจุบัน จะมองคนที่อยู่ในคณะหนังใหญ่ ว่าใครที่มีความรับผิดชอบ และพร้อมที่จะรับช่วงต่อดูแลให้หนังใหญ่ยังอยู่ได้ ช่วยกันถ่ายทอดให้กับเด็กในชุมชน รักษาการสืบทอดแบบครู-ศิษย์ อีกทั้งชาวบ้านในชุมชนก็มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์เช่นกัน โดยการส่งลูกหลานมาเรียนการเชิดหนังใหญ่ การเล่นดนตรีไทย ซึ่งเด็กบางคนอาจจะอยู่ได้นานหรือไม่นาน ขึ้นอยู่ที่ความพร้อมแต่ละคน” เสียงบอกเล่าจากครูช่างศิลป์

การซ้อมหนังใหญ่ เนื่องมาจากแต่ปัจจุบันทางวัดมาเริ่มมาสอนเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียน มีการจัดทำ “หลักสตรูการเรียนรู้เสริมทักษะ” หรือ “หลักสตรูท้องถิ่น” เป็นวิชาเลือกของโรงเรียนวัดขนอน โดยมีเด็กเยาวชนในท้องถิ่นมาเรียนและถือว่าเป็นการร่วมสืบทอดและอนุรักษ์หนังใหญ่อีกทางหนึ่ง โดยจัดให้ซ้อมอาทิตย์ละ 2 วัน ตั้งแต่บ่าย 2 จนถึง 4 โมงเย็น ดังนั้น การแสดงในครั้งนี้จะได้เห็นนักแสดงทั้งรุ่นเด็กและรุ่นใหญ่ร่วมกันแสดง

จำลองบรรยากาศตลาดโราณให้ออเจ้าเลือกช้อปกันสบายๆ

จำลองตลาดโบราณชวน ‘ออเจ้า’ แต่งชุดไทยแลกเบี้ยเที่ยว

ไม่เพียงจะเปิดตัวหนังใหญ่ที่มีความสูงมากที่สุดในประเทศเเล้ว ปีนี้สุดพิเศษวัดขนอนเปิดตัวตลาดบกแบบไทยย้อนยุค โดยนำส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มาโยงเข้ากับตลาดเเห่งนี้ คือ ในอดีตของ ‘วัดขนอน’ ที่บริเวณริมน้ำแม่กลองหน้าวัดเคยเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษีอากรเป็นพื้นที่ค้าขายและตลาดสินค้า ทางวัดจึงนำจุดนี้มาประยุกต์ใช้ให้มีการแต่งกายชุดไทยทั้งหมด อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งการแลกเบี้ยแบบโบราณสำหรับไปจับจ่ายซื้อของสินค้าท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน และของที่ระลึก พร้อมทั้งประเพณีขนทรายเข้าวัดและก่อกองทราย พร้อมทั้งเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมกันแต่งชุดไทยเข้าร่วมงานในครั้งนี้อีกด้วย ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสบรรยากาศโดยวันงานทั้ง 2 วัน จะเปิดฟรี การแสดงชมฟรีทั้งหมดอีกด้วย

ใครสนใจเที่ยวสงกรานต์เมืองโอ่ง สัมผัสบรรยากาศย้อนยุค พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดตัวหนังใหญ่สูงที่สุดในไทย แต่งชุดไทย ไปเที่ยวราชบุรี ชมหนังใหญ่ ชิมของอร่อย ช้อปของที่ระลึก ได้ที่เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนครั้งที่ 13 ณ ลานกลางเเจ้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในวันที่ 13-14 เมษายนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image