ใครๆ ก็โกงได้ : โดยผาสุก พงษ์ไพจิตร

มีคำถามว่า ขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐแก้คอร์รัปชั่นในบ้านเราได้ไหม?

คำตอบคือ อาจจะลดลงชั่วคราวแล้วก็จะเหมือนเดิมหากไม่มีการทำอะไรอย่างอื่นเลยที่จะป้องกันการทุจริตอย่างจริงจัง นั่นคืออาจจะสูญเสียงบประมาณไปเปล่าๆ

ที่บ้านเราไม่ใช่ว่าข้าราชการทุกคนขี้โกง อันที่จริงมีข้าราชการน้ำดีเป็นส่วนมาก ในกลุ่มที่โกงปัญหาใหญ่ไม่ใช่เรื่องเงินเดือนต่ำในทุกกรณี แต่เป็นเพราะระบบเปิดช่องให้ทุจริต โดยไม่มีระบบป้องกันที่ได้ผล การทุจริตจึงมีทั้งที่ทำเองโดดๆ แต่ที่ใหญ่กว่าคือทำเป็นกระบวนการ มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากในระบบที่เรียกว่า “ส่วย” โดยมีการแจกจ่ายผลประโยชน์จากผู้น้อยไปถึงระดับสูง และยังมีวัฒนธรรมช่วยพวกเดียวกันที่เรียกว่า “แมลงวันไม่ตอมกันเอง” คงจำกันได้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีรายหนึ่งเคยพูดเสียดสีเป็นทำนองว่า ถ้าปราบคอร์รัปชั่นได้ (ในสำนักงานแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมาก) ก็จะไม่มีใครเหลือให้ใช้งานได้เลย ทำนองนั้น

ที่สำคัญมากคือ “ผู้ใหญ่” บางคนเป็นเสียเอง และลอยนวลอยู่ได้แถมมีคนพินอบพิเทาและไหว้อยู่ทุกวัน คือเราไม่ยึดหลักนิติรัฐ แล้วทำไม ผู้น้อยจะไม่เอาอย่าง ถ้าไม่มีใครกล้าปูดก็อาจจะไม่มีใครทำอะไรได้เป็นเวลานานจนเกษียณ ก็ยังมีคนนับหน้าถือตาอยู่ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เสมอไม่ใช่หรือ? และมีอดีตรัฐมนตรีขี้โกงบางคนที่ทำบุญตามวัดเพื่อแก้กรรม

Advertisement

ในบ้านเรายังมีอีกปัญหาหนึ่งที่กินลึกมากจนคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ตระหนักอย่างเต็มที่ ดังที่ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยและวิเคราะห์ให้เราเห็น ดร.ธานีชี้ว่า เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการโกงอย่างมากๆ และเราทุกคนล้วนมีส่วนมากบ้างน้อยบ้าง “สร้างทั้งทัศนคติและระบบที่ทำให้การโกงมันดำรงอยู่ได้ และทำได้ง่ายในสังคม” จึงเห็นได้ว่า 3 สถาบันหลักในชีวิตประจำวัน คือ บ้าน วัด และโรงเรียน มีบทบาทกล่อมเกลาให้เห็นการโกงเป็นเรื่องปกติธรรมดาโดยทุกคนที่เกี่ยวข้องมักทำไปโดยตั้งใจ หรือทำไปแบบหลับๆ ตื่นๆ เพื่อความอยู่รอดไปวันๆ

ดร.ธานีพูดถึงการสำรวจทัศนคติ World Value Survey ที่พบว่าในประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง คุณธรรมที่พ่อแม่ตั้งใจสอนเด็ก เน้นเรื่อง “การเคารพสิทธิสาธารณะ การรับฟังความเห็นผู้อื่น และการช่วยเหลือคนแปลกหน้า” แต่ของไทยคำตอบมากที่สุดคือ “ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีระเบียบวินัย และต้องเรียนหนังสือสูงๆ” ดร.ธานีบอกด้วยว่า นอกจากคำสอนของพ่อแม่แล้ว นิทานพื้นบ้านไทยที่อยู่กับเด็กๆ มานานก็สอนให้ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” แบบฉลาดแกมโกง เช่นเรื่องศรีธนญชัย

Advertisement

พอไปโรงเรียนก็มีเรื่องจ่ายสินบนเพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนมีชื่อเสียงดี เท่ากับว่าทั้งบ้านและประสบการณ์ที่โรงเรียนมีส่วน “สนับสนุนให้เกิดความรู้สึก ‘ยอมรับ’ ความไม่เป็นธรรมและการโกงไปโดยปริยาย” และ “ ‘วัด’ ที่น่าจะเป็นที่สั่งสอนคุณธรรม…กลับกลาย เป็น…ที่ทิ้งความรู้สึกผิดของคนโกง การเข้าวัดทำให้พวกเขาสบายใจขึ้น…การเข้าวัดไปทำบุญเป็นการ…ทำความดีในรูปแบบหนึ่ง วัดเลยกลายเป็นสถาบันที่ทำให้การโกงดำรงอยู่โดยไม่ตั้งใจ …เราได้เห็นคนที่โกงเงินจากคนอื่นที่เจียดเงินนั้นไปให้วัด หรือเห็นคนที่ขับรถชนคนตายเอาเงินไปทำบุญแทนที่จะจ่ายสินไหมให้อีกครอบครัว”

ดร.ธานีบอกด้วยว่าการทดลองด้านพฤติกรรมเพื่อหาดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะโกงหรือไม่โกงพบว่า “ผลประโยชน์จากการโกงทำให้ตัดสินใจโกงมากขึ้น” และเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้คิดว่าไม่มีใครรู้เห็นหรือคิดว่าจะไม่ถูกจับได้ก็จะตัดสินใจโกงมากขึ้น

นอกจากนี้แล้วผู้เขียนขอเพิ่มเติมว่า ในบ้านเราผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจปราบปรามไม่ให้มีการวิจารณ์ปัญหาความไม่โปร่งใสและการทุจริตในพวกตนเอง และหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการใดๆ ตามหลักนิติรัฐ

แล้วทำไมสิงคโปร์จึงลดการทุจริตได้จนติดอันดับได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชียจากองค์การความโปร่งใสนานาชาติ? มีการศึกษาที่บอกว่า ที่สิงคโปร์ทำได้เพราะเพิ่มเงินเดือนให้นักการเมืองและข้าราชการ

ที่สิงคโปร์มีการปรับเงินเดือนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะๆ และมีหลักการว่า ต้องให้สูงกว่ากลุ่มของเอกชนขั้นสูงสุด และสำหรับข้าราชการต้องให้เทียบเคียงได้กับของภาคเอกชน คือไม่ให้น้อยหน้าเอกชน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนเก่งเข้ามาทำงานโดยอยู่ในอาชีพนี้อย่างพอเพียงโดยไม่โกง

แต่สิงคโปร์มีมากกว่าเงินเดือนสูง สมัย ลี กวน ยู เป็นนายกฯไม่เคยยอมให้รัฐมนตรีโกงลอยนวลอยู่ได้แม้จะเป็นเพื่อนสนิท พฤติกรรมข้าราชการอยู่ในสายตาทางการตลอดเวลาก็ว่าได้ ผู้เขียนเองเคยทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ที่นั่น 2 ปี และได้รับการบอกเล่าว่า ระวังนะ เจ้านายจะมาเคาะประตูดูว่าอยู่ในห้องและทำงานหรือเปล่าแบบไม่ให้รู้ตัว อีกนัยหนึ่งสิงคโปร์มีระบบป้องกันการทุจริตที่มีประสิทธิภาพตามสมควรด้วย

เราคงต้องสามารถเปลี่ยนค่านิยมของสังคมโดยเฉพาะของบรรดาผู้ใหญ่ และให้สังคมยึดถือหลักนิติรัฐให้ได้ด้วย มิฉะนั้นเงินภาษีของประชาชนที่จ่ายเงินเดือนเพิ่มจะสูญเปล่าแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image