
ที่มา | คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
“ของดีมีอยู่ แต่ไม่รู้ค่า ที่วัดแม่นางปลื้ม อยุธยา” เป็นรายงานข่าวในมติชน จะคัดสรุปย่อมาดังนี้
วัดแม่นางปลื้ม อยุธยา มีโมเดลหรือหุ่นจำลองสันนิษฐานแสดงแผนผังศิลปะสถาปัตยกรรมของวัดแรกมีตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา มากกว่า 500 ปีมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวมติชนสำรวจพื้นที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม มีรายงานว่าสถานที่ตั้งโมเดลหลบอยู่หลังพุ่มไม้ทางเข้าเขตพุทธาวาส แต่อยู่หน้าห้องน้ำ เมื่อเดินผ่านไปไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร? จึงไม่มีใครในละแวกนั้นแวะเข้าไปดู แม้นักท่องเที่ยวก็ไม่ดู
อีกด้านหนึ่งเป็นลานจอดรถมีพุ่มไม้หนาทึบ ปลูกล้อมบอร์ดนิทรรศการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของวัดแม่นางปลื้ม ถ้าอยากดูต้องมุดพุ่มไม้เข้าไปจึงเห็น ถ้าไม่มุดเข้าไปก็ไม่เห็น
วัดแม่นางปลื้มมีแผ่นป้ายข้อความตั้งไว้ในเขตพุทธาวาสข้างวิหาร ว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.1920 ในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นวัดร้างที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงบูรณะวัดนี้ให้กับแม่ปลื้ม?
แม้เป็นนิทานซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง แต่สะท้อนอายุเก่าแก่และความสำคัญของวัด แต่ทางวัดไม่ให้ความสำคัญคำบอกเล่าความเป็นมาอย่างนี้ เลยไม่มีใครรู้จักของดีมีอยู่ ที่วัดแม่นางปลื้ม อยุธยา
(มติชน ฉบับวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 หน้า 5)
ทั้งหมดนั้นสะท้อนให้เห็นสำนึกการแบ่งปันเผยแพร่วิชาความรู้สู่สาธารณะของสังคมไทยโดยราชการและวัดว่ามีปัญหามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีคราวนี้
โมเดล (หุ่นจำลองสันนิษฐาน) วัดแม่นางปลื้ม เป็นหนึ่งในจำนวนหลายแห่ง เช่น วังโบราณและวัดสำคัญในอยุธยา โดยทุนสนับสนุนของ ปตท.สผ. [บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)] และโดยการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลออกแบบของ ศ.เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)
ซึ่งผมเคยเขียนแนะนำแล้วว่า โมเดลเหล่านี้ควรมีทุกจุดสำคัญของอยุธยา และเมืองโบราณอื่นๆ ทั่วประเทศ
เพราะงานแบ่งปันความรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างนี้คือพื้นฐานสำคัญมากต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต

อยุธยา กรุงแตก
วัดแม่นางปลื้ม อยู่นอกเกาะเมือง ฝั่งตรงข้ามป้อมมหาไชย ที่กองทัพอังวะตั้งทัพและตั้งปืนใหญ่ยิงข้ามกำแพงเข้าในเมือง แล้วส่งคนข้ามคลองเมืองไปขุดรากกำแพงป้อม ฝังระเบิดเปิดทางเข้าเมืองเป็นแห่งแรกจนกรุงแตก
ปัจจุบันมีสะพานเล็กๆ เดินข้ามไปมาระหว่างฝั่งในเมืองตรงตลาดหัวรอ กับฝั่งนอกเมืองตรงวัดแม่นางปลื้ม ถ้าจะทำเส้นทางทอดน่องท่องเที่ยวโดยมีป้ายและแผงนิทรรศการบอกเล่าเหตุการณ์ย่อๆ ก็จะดีวิเศษยิ่ง
ปัญหาอยู่ที่สภาพแวดล้อมของวัดและท้องถิ่นไม่เห็นความสำคัญเรื่องแบ่งปันความรู้ ทั้งๆ สิ่งนี้สร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าจากการท่องเที่ยวได้ไม่น้อย
ปตท.สผ.ควรสนับสนุนให้มีกิจกรรม ประวัติศาสตร์คืออนาคต ชดเชยที่ราชการและท้องถิ่นไม่อยากทำ เพราะไม่เห็นความสำคัญของงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างนี้