ศาลชงแก้ กม.ให้ผู้พิพากษาโหวตเลือก 2 ก.ต.บุคคลภายนอกเอง ชี้ทำตามรธน.ประกันความอิสระตุลาการ

นายสราวุธ เบญจกุล

ศาลชง เเก้กฎหมายให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศโหวตเลือก 2 ก.ต.บุคคลภายนอก เองเเทนสภา “สราวุธ” ชี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญประกันความเป็นอิสระตุลาการ

เมื่อวันที่ 15 เมษายน นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้เสนอเเก้ไขกฎหมายโดยขอให้มีการกำหนดหลักการใหม่ในเรื่ององค์กระกอบของ คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.)โดยส่วนที่เราได้เสนอแก้ไขก็คือ ในเรื่องของการได้มาซึ่ง ก.ต. ที่มาจากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา เดิม ก.ต.จะมีทั้งหมด15 คน มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำเเหน่ง 1คน เลือกจากผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกา 6คน ชั้นศาลอุทธรณ์ 4คน เเละศาลชั้นต้น 2 คน เเละบุคคลภายนอกที่คัดเลือกมาจากวุฒิสภา 2 คน ซึ่งทางสำนักงานศาลเราเสนอบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา2คนที่เดิมให้วุฒิสภาเป็นคนเลือก เปลี่ยนมาให้ผู้พิพากษาทั้งประเทศเป็นคนเลือกเเทนของเดิม

“สำหรับเรื่องการแก้ไขกฎหมายนี้ที่ทางสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นคนเสนอ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม.188 บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาทางคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็วเป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง หลักการที่สำคัญในรัฐธรรมนูญ ม.188 คือความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษา การที่ผู้พิพากษาจะเป็นกลางหรืออิสระได้ขึ้นอยู่กับ ก.ต. ที่เป็นองค์กรบริการงานส่วนบุคคลของผู้พิพากษา มีอำนาจเเต่งตั้งโยกย้ายลงโทษผู้พิพากษาได้ตรงนี้จึงเป็นหลักประกันการพิจารณาคดีเเละความเป็นอิสระ ความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา เเละประกอบรัฐธรรมนูญ ม.196 ก็ได้กำหนดไว้ว่า ให้กำหนดหลักการใหม่ในเรื่ององค์ประกอบของ ก.ต.เรื่องการได้มาของ ก.ต.2คนที่มาจากบุคคลภายนอกให้มีการเลือกจากผู้พิพากษาทั้งประเทศ”นายสราวุธ กล่าว

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับเจตนารมย์ของการเเก้ไขกฎหมายคือ การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาจะต้องปราศจากการแทรกแซงการใช้อำนาจจากบุคคลหรือองค์กรใดๆทั้งนั้น จะเห็นได้ว่าเวลาผู้พิพากษาตัดสินคดี องค์คณะมีสิทธิเด็ดขาด ไม่ว่าประธานศาล ,อธิบดีศาลหรือหัวหน้าศาลก็ไม่สามารถสั่งผู้พิพากษาในการตัดสินคดีได้ การแทรกแซงไม่ว่าอำนาจจากภายในและภายนอกก็ทำไม่ได้ สิ่งนี้ก็จะทำให้ตรงกับหลักการสากลที่ว่าผู้พิพากษาต้องมีความเป็นอิสระ กระบวนการแสวงหาความจริงของผู้พิพากษา ต้องไม่หวาดกลัวและสามารถให้ความบริสุทธิกับประชาชนได้ นี่คือที่มาของการกำหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ก.ต. ซึ่งขั้นตอนการเเก้ไขหลักการดังกล่าวทางสภาได้รับในหลักการไปแล้ว ตอนนี้ก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา อยู่

“ขั้นตอนจะเป็นสำนักงานศาลยกร่างเสนอโดยผ่านความเห็นชอบกับ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.)ก็ยื่นเข้าคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.)มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แล้วก็ส่งไปยัง ค.ร.ม.อีก ถ้าให้ความเห็นชอบก็ส่งไปกฤษฎีกา ตรวจร่างเสร็จก็ส่งเข้า สนช. ซึ่ง สนช.ได้รับหลักการวาระที่เเรกไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน จากนั้นก็จะตั้งกรรมธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา โดยนัดประชุมนัดแรกวันที่ 5 เมษายน ซึ่งผมก็เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ด้วย ” เลขาสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าว

เมื่อถามว่า สนช.จะใช้ระยะเวลาพิจารณานานหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า จะใช้ระยะเวลาพิจารณาภายใน60วัน แต่ว่าถ้าไม่เสร็จก็ขยายได้ แต่เนื่องจากว่าในรัฐธรรมนูญเองกำหนดไว้ว่า กฎหมายที่ต้องมีการแก้ไของค์ประกอบของ ก.ต. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้หาก สนช.เห็นชอผ่านเป็นกฎหมายก็จะนำขึ้นทูลเกล้าให้ลงพระปรมาภิไธยแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

Advertisement

เมื่อถามถึง ก.ต.คนนอก2คนที่ต้องเลือกจากผู้พิพากษาทั้งประเทศใช้วิธีการลงคะเเนนอย่างไร นายสราวุธ กล่าวว่า คงจะใช้วิธีกาบัตรลงคะแนน ผู้พิพากษาทั่วประเทศเลือกกันเราก็ส่งบัตรว่าคนที่แสดงความประสงค์จะได้รับการคัดเลือกเป็น กต.ชั้นต้นมีใครบ้าง สมมุติว่ามีคนประสงค์ ที่จะเข้ารับการคัดเลือกเป็น ก.ต.คนนอก 10 คน เราก็ลงคะเเนนเลือก2คนจากในนั้น แล้วก็มานับคะแนนรวม

เมื่อถามถึงข้อครหาที่มีการกล่าวว่า ทางศาล จะกันบุคคลคนภายนอกเข้าไปตรวจสอบการบริหารงานของศาล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวว่า ก.ต.จากบุคคลภายนอกยังมีอยู่ 2คนเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจาก ให้ สนช.เลือกกลายเป็นผู้พิพากษาทั่วประเทศเป็นคนเลือก ซึ่งเหตุผลจริงๆคือต้องการให้ปลอดจากการเมืองเด็ดขาดเลย เพราะต่อไปถ้ามีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมันก็กลายเป็นว่า ก.ต.2คนที่มีที่มาจากสภาที่มีการเลือกตั้งเป็นคนเลือก ส่วนเรื่องคุณสมบัติของผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็น ก.ต.จากบุคคลภายนอก ก็มีคุณสมบัติที่ระบุไว้ตามกฎหมายอยู่แล้วว่าคนที่จะมาเป็น ก.ต.ได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร แต่ว่ารายละเอียดวิธีเลือกนั้นก็จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับ คือความเห็นชอบ ก.บ.ศ. 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image