เตือนนักท่องเที่ยวที่นำอิฐจากโบราณสถานมีโทษทั้งจำและปรับ-ไม่เชื่ออย่าลบหลู่อาถรรพ์มีจริง

เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 25 เมษายน 61 นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงการโพสต์ข้อความและภาพถ่าย ลงในเฟสบุ๊คของสำนักงาน ฯ กรณีมีนักท่องเที่ยวชาวไทย ได้นำอิฐโบราณจากวัดไชยวัฒนารามไป และพบเรื่องลี้ลับ จนต้องส่งอิฐก้อนดังกล่าว พร้อมดอกไม้ ธูป เทียน และจดหมายขอขมา กลับมาที่สำนักนักงานฯนั้น โดยจนถึงขณะนี้อิฐก่อนดังกล่าว ยังมีการเก็บรักษาไว้ที่สำนักงาน ฯ เพื่อรอการตรวจสอบว่าเป็นอิฐที่มาจากโบราณสถานใด หรือจากเจดีย์ หรือวิหารใด แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากวัดไชยวัฒนารามจริง

นางสาวสุกัญญา กล่าวว่า พฤติกรรมเช่นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติบางคน ได้หยิบฉวยเอาอิฐโบราณจากเมืองกรุงเก่า ซึ่งขอยืนยันว่า อิฐเก่าตามโบราณสถาน ถือเป็นเป็นโบราณวัตถุ ระดับสามัญ และการหยิบฉวยไป ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยในหมวดที่ 5 กำหนดไว้อย่างชัดเจน ว่า หากเป็นอิฐที่หลุดอยู่ แล้วหรือหล่นอยู่ตามพื้น จะผิดตามมาตรา 31 ทวิ คือผู้ใดซ่อนเร้น หรือเอาไปเสีย ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่หากเป็นอิฐที่ยังเป็นโครงสร้างของโบราณสถาน และเราไปงัดแงะออกไป จะผิดตามมาตรา 33 คือผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ หรือทำให้สูญหาย ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Advertisement

ความผิดต่อโบราณสถานโบราณวัตถุ มาตรา 31 (33)ผู้ใดเก็บได้ซึ่งโบราณสถาน วัตถุหรือศิลปวัตถุ ที่ซ่อนหรือฝัง หรือทอดทิ้ง โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ และเบียดบังเอาโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุนั้นเป็นของตน หรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image