คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : เจมส์ เวบบ์ บุรุษผู้วางรากฐานนาซา

(ภาพ 1)

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรหนึ่งพัฒนา ขยับขยาย และสร้างผลงานที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมได้?

คำตอบคงมีมากมายหลายอย่าง แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คงจะเป็น วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เพราะปัจจัยนี้เปรียบเสมือนหางเสือของเรือที่จะคอยกำหนดทิศทาง ตั้งแต่กฎเกณฑ์ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร และสามารถจะส่งผลไปถึงงบประมาณหรือรายได้ที่จะได้รับด้วย

(ภาพ 1)

14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1961 เป็นวันวาเลนไทน์ที่ตรงกับการรับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การนาซาของ เจมส์ เวบบ์ (James E. Webb) ในตอนนั้นเขาคงไม่รู้หรอกว่า
นโยบายและการบริหารงานของเขาจะส่งผลต่อองค์การนาซาจนถึงทุกวันนี้ รวมทั้งหลังจากเขาเสียชีวิต องค์การนาซาจะนำชื่อของเขาไปตั้งให้กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นทายาทของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลอันยิ่งใหญ่

Advertisement

ผมจะเล่าให้ฟังว่าชายผู้มีนามว่า เจมส์ เวบบ์ มีความสำคัญต่อนาซาอย่างไร?

ช่วงที่เจมส์ เวบบ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของนาซานั้นตรงกับสมัยของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ผู้ประกาศเป้าหมายต่อประชาคมโลกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1961 ว่าจะทุ่มทรัพยากรและพลังทั้งหมดทั้งปวงเพื่อส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ให้สำเร็จให้ได้

(ภาพ 2)

แต่เจมส์ เวบบ์ กลับมีความคิดที่แตกต่างออกไป

Advertisement

เขาเชื่อว่าภารกิจด้านอวกาศและวิทยาศาสตร์นั้นสำคัญเหนือการเมืองทั้งหมดทั้งปวง ดังนั้น องค์การนาซาจะต้องสมดุลให้ดีระหว่างการพยายามส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ ดวงจันทร์ และการวิจัยแสวงหาองค์ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพราะส่วนผสมทั้งสองอย่างนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของการศึกษา และอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเข้มแข็ง

เขาจึงตกลงกับจอห์น เอฟ เคนเนดี ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เข้ารับตำแหน่งแล้วว่า

“ผมจะไม่ทำภารกิจให้จบแล้วจบเลย ถ้าต้องให้ผมเป็นผู้อำนวยการ ผมจะพยายามส่งมนุษย์ไปยังอวกาศและสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานไปพร้อมๆ กัน”

แนวคิดของเจมส์ เวบบ์ ทำให้องค์การนาซามีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงที่เขาตำรงตำแหน่งนั้น องค์การนาซาได้ทุ่มงบประมาณไปกับการส่งยานอวกาศไร้คนขับขึ้นสู่อวกาศเป็นการนำร่องก่อนที่จะส่งนักบินอวกาศตามไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการส่งยานอวกาศไปยังดาวอังคาร และศุกร์ ทำให้วงการดาราศาสตร์ได้เห็นพื้นผิวดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ระยะใกล้เป็นครั้งแรก

เจมส์ เวบบ์ เป็นผู้ดูแลโครงการเมอร์คิวรี (Project Mercury) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบโลกและโครงการเจมิไน (Project Gemini) ที่ส่งนักบินอวกาศออกไปสู่อวกาศด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น รวมทั้งพยายามให้นักบินอวกาศการปฏิบัติภารกิจต่างๆนอกยานอวกาศให้ได้ ซึ่งทั้งสองโครงการสำเร็จไปได้ด้วยดี

ในช่วงปี ค.ศ.1965 เจมส์ เวบบ์ ได้เสนอว่าองค์การนาซาจะต้องสร้างและส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศขนาดใหญ่เพื่อการสำรวจเอกภพให้ได้ กล่าวได้ว่าการประกาศปณิธานในครั้งนั้นส่งผลต่อองค์การนาซาอย่างมาก

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.1969 องค์การนาซาส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์สำเร็จอย่างงดงามและเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก แต่ในตอนนั้น เจมส์ เวบบ์ ได้พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการไปแล้วราวสองสามเดือน

พันธกิจที่เขาวางไว้ได้ผลิดอกออกผลเป็นภารกิจอวกาศมากมาย ทั้งยานอวกาศที่ถูกส่งไปศึกษาดวงอาทิตย์ กาแล็กซีอื่นๆ ตลอดจนวิจัยสภาพภูมิอากาศของโลก

เจมส์ เวบบ์ เป็นผู้อำนวยการคนที่สองของนาซาต่อจาก Keith Glennan ซึ่งในยุคก่อนเจมส์ เวบบ์ ก็มีการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานอยู่แล้ว แต่เจมส์ เวบบ์ นั้นไม่ได้ทำตามสิ่งที่เคยมีมาก่อน แต่ยังช่วยผลักดันบทบาทของนักวิทยาศาสตร์มากกว่าเดิม ด้วยการสร้างระบบให้นักวิทยาศาสตร์มีอำนาจในการตัดสินใจและควบคุมภารกิจทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังสร้างองค์การนาซาให้เป็นองค์กรด้านการศึกษา กล่าวคือ ทั้งให้ทุนเรียนมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษา ทุนวิจัยและสร้างห้องทดลองทันสมัยให้กับมหาวิทยาลัย รวมทั้งสนับสนุนให้ทางมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมกับโครงการอวกาศต่างๆ ขององค์การนาซาด้วย

ทิ้งท้ายไว้ด้วยเรื่องน่าสนใจคือ เจมส์ เวบบ์ เคยทำงานด้านการบริหารจัดการ อัยการ นักธุรกิจ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และทำงานเป็น Undersecretary of State ของ North Carolina ฯลฯ จะเห็นได้ว่าเจมส์ เวบบ์ ไม่ใช่ทั้งนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร

แต่กลับสร้างนโยบายที่เข้าใจหัวอกนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไม่แพ้ใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image