แรงงานข้ามชาติ สมัยกรุงศรีอยุธยา (ตอนที่3) : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาชุดแรกในปี พ.ศ.2205 คือคณะของสังฆราชแห่งเบริต ชื่อ เดอลาบ๊อต ลัมแปต์ โดยประสงค์จะใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่คริสต์ศาสนา และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯโดยได้รับการต้อนรับอย่างดี จนกระทั่งใน พ.ศ.2223 ฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าในกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงพระประสงค์เป็นมิตรกับฝรั่งเศสด้วยเหตุผลทางการเมืองเนื่องจากฝรั่งเศสสู้กับฮอลันดาในยุโรปและเป็นฝ่ายชนะ ในขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังถูกดันจากฮอลันดาพระองค์จึงหวังใช้ฝรั่งเศสเป็นกันชน สมเด็จพระนารายณ์ฯจึงทรงส่งทูตไปฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2223 โดยเรือสินค้าของฝรั่งเศสแต่ไปไม่ถึงเพราะเรืออับปางในมหาสมุทรอินเดียเสียก่อน อีกสามปีต่อมาจึงทราบว่าคณะทูตไปไม่ถึง

ในปี พ.ศ.2227 สมเด็จพระนารายณ์ฯได้ส่งทูตไปอีกและได้รับการต้อนรับจากฝรั่งเศสเป็นอย่างดี เมื่อเดินทางกลับทางฝรั่งเศสได้ส่ง เชอวาเลีย เดอโชมองต์ เป็นทูตมาเป็น
การตอบแทนและเพื่อส่งเสริมให้ศาสนาคริสต์แพร่หลายมากขึ้นถึงกับเข้าเฝ้าและทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ฯเปลี่ยนศาสนา

ใน พ.ศ.2228 ฝรั่งเศสได้ส่งคณะทูตมายังกรุงศรีอยุธยาอีก สมเด็จพระนารายณ์ฯ
ทรงให้การต้อนรับอย่างดีโดยให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) แสดงบทบาทสำคัญในการที่จะให้ฝรั่งเศสเผยแพร่ศาสนาคริสต์และขยายการค้าซึ่งเป็นที่พอใจของฝรั่งเศสเป็นอย่างยิ่ง

แต่การที่ทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ฯเปลี่ยนศาสนานั้นไม่เป็นผลสำเร็จ

Advertisement

ต่อมาใน พ.ศ.2229 สมเด็จพระนารายณ์ฯได้ส่งทูตไทยซึ่งมีออกพระวิสุทธสุนทร
(โกษาปาน) เป็นหัวหน้าคณะทูตไทยไปฝรั่งเศสพร้อมกับการกลับไปของคณะทูตเดอโชมองต์และได้พำนักอยู่ในฝรั่งเศสนาน 8 เดือน และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่พระราชวังแวร์ซายส์ตลอดทั้งได้ศึกษาถึงความเจริญในด้านต่างๆ ของฝรั่งเศสและเมื่อคณะทูตไทยกับฝรั่งเศสได้ส่งทหารจำนวนถึง 636 คน พร้อมทูตที่มีเดอลาบูแบร์เป็นหัวหน้าคณะ และในการมาครั้งนี้จะเห็นว่าฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีอำนาจในกรุงศรีอยุธยาด้วยการสนับสนุนของเจ้าพระยาวิชเยนทร์

พ.ศ.2231 ทูตฝรั่งเศสได้เดินทางกลับโดยมีขุนนางผู้น้อยกลุ่มหนึ่งของไทยเดินทางไปด้วย แต่กองทหารฝรั่งเศสยังอยู่ในไทยบริเวณเมืองบางกอก และเมืองมะริด ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวของทหารฝรั่งเศสและเจ้าพระยาวิชเยนทร์ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกรมพระคลังสินค้าเป็นสมุหนายกและกุมอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง และยังไปหว่านล้อมข้าราชการไทย จึงทำให้เกิดศัตรูขึ้นกับหมู่ข้าราชการไทยอย่างรุนแรงเพราะเห็นว่าฝรั่งเศสจะทำลายพระพุทธศาสนา และเอาบ้านเมืองเป็นของฝรั่งเศส ฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯสวรรคตใน พ.ศ.2231 จึงเกิดจลาจลขึ้น พระเพทราชา เจ้ากรมพระคชบาล (ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการสมุหกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2219 อันเป็นตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบดูแลความมั่นคงของบ้านเมือง และเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงพระประชวรใกล้สวรรคตได้ทรงมอบหมายให้ว่าราชการแทน) ชิงกระทำการรัฐประหารโดยทันที ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2231 โดยมี
หลวงสรศักดิ์หรือพระยาศรีสรศักดิ์ (ซึ่งต่อมาคือรัชสมัยที่ 29 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือเรียกกันว่าพระเจ้าเสือ) เป็นกำลังสำคัญ เสริมด้วยม็อบชาวบ้านและชาววัดในเขตเมืองและปริมณฑลเป็นตัวช่วย ได้ชิงยึดอำนาจขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินก่อนพวกฝรั่งเศส และจับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ฆ่า ส่วนบาทหลวงฝรั่งเศสถ้าไม่ถูกจับขังก็หนีกันกระเจิง

ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงสวรรคตเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231

Advertisement

ในรัชสมัยต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยา มีแรงงานที่เข้ามาประเทศไทยแบบที่สอง คือแรงงานที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา หลังจากการรบที่ได้รับชัยชนะในแต่ละครั้งกรุงศรีอยุธยาได้กวาดต้อนผู้คนที่ถูกพิชิตกลับมายังราชอาณาจักรจำนวนหนึ่ง อาทิ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (ตั้งแต่ พ.ศ.1893) มีหลักฐานว่ามีการนำทาสชายหญิงจากมะละกาเข้ามาขาย และซื้อคนชวามาเป็นทาส นอกจากนี้ ยังมีการกวาดต้อนชาวมลายูและปัตตานีเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีการทำสงครามปราบหัวเมืองมลายู (หนังสือ “The Suma Oriental” ของโตเม ปิเรส ระบุว่า พ่อค้าปัตตานี เคดะห์ กลันตัน ตรังกานู ค้าขายกับจีนและ
พวกมัวร์ (อาหรับ-เปอร์เซีย-อินเดีย)) โดยผ่านสยาม และยังระบุว่าสินค้าจากมะละกาที่เข้ามาค้าขายในสยาม ประกอบด้วยทาสหญิง และทาสชาย แสดงว่าพวกมลายูส่วนหนึ่งคงถูกขายเป็นทาส เพื่อนำมาใช้แรงงานในสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

นอกจากนี้ ยังมีพวกเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเนื่องจากสงครามระหว่างรัฐมุสลิม ในคาบสมุทรมลายู และสยาม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ชุมชนของประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูตั้งอยู่บริเวณคลองตะเคียน ซึ่งเป็นพื้นที่นอกกำแพงพระนคร แสดงว่าชาวมลายูมุสลิมได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยานานแล้ว และมิใช่เฉพาะที่กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น หากยังมีชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูเช่นกัน ตั้งชุมชนในคลองบางกอกใหญ่ ตั้งแต่ก่อนรัชสมัยที่ 21 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2153-2177) ทั้งนี้ สงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองมลายูนั้นเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยที่ 8 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ว่า “ศักราช 817 กุญศก แต่งทัพให้ไปเอา
เมืองมลากา”

แต่การศึกครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ

พ.ศ.1931-1938 ในรัชสมัยที่ 2 สมเด็จพระราเมศวรครองราชย์ครั้งที่สอง ได้กวาดต้อนครัวไทยวนจากเชียงใหม่ส่งไปไว้ยังจังหวัดพัทลุง, สงขลา, นครศรีธรรมราชและจันทบุรี และพ.ศ.2204 ในรัชสมัยที่ 27 สมเด็จพระนารายณ์ฯที่ทรงยกทัพไปตีล้านนาในปี

พ.ศ.2204 ได้เมืองลำปาง, ลำพูน, เชียงใหม่, เชียงแสนและได้กวาดต้อนมาจำนวนหนึ่ง โดยเหตุผลที่กวาดต้อนเข้ามาก็เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร

นอกจากแรงงานประเภทที่ถูกกวาดต้อนเข้ามายังมีแรงงานประเภทผู้ลี้ภัย เช่น มีชาวมอญอพยพเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (หลังเสียกรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2112) สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากชาวมอญไม่สามารถทนการบีบคั้นจากการปกครองของพม่าในช่วงราชวงศ์ตองอูจนในปี พ.ศ.2295 พม่าได้ปราบชาวมอญอย่างรุนแรง จึงมีการลี้ภัยเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก โดยชาวมอญในกรุงศรีอยุธยาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ เช่น บ้านขมิ้นริมวัดขุนแสน ตำบลบ้านหลังวัดนก ตำบลสามโคก และวัดท่าหอย

บรรดาแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ที่เข้ามาทำงานอยู่ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ล้วนแต่เคยเข้ามาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วทั้งสิ้น นักโบราณคดีท่านหนึ่งกล่าวว่า ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรือง กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เชลยที่ถูกกวาดต้อนตลอดจนถึงชาวเอเชียและชาวตะวันตกที่เข้ามาเพื่อการค้าขาย ปรากฏในกฎมนเทียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยาที่ได้เรียกชื่อชนพื้นเมืองต่างๆ ได้แก่ “แขกขอมลาวพม่าเมงมอญมสุมแสง
จีนจามชวา นานาประเทษทั้งปวง”

คงไม่ต้องสงสัย แรงงานข้ามชาติมีบทบาทอย่างยิ่งต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วและคงจะอยู่กันต่อไปอีกนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image