แรงงานไทยหนีสงครามลิเบีย 200 คน เดือดร้อนหนัก-หนี้สินท่วม ร้องรัฐช่วยเยียวยา

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมประจักษ์ศิลปาคม ศาลากลาง จ.อุดรธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิสิษฐ์ พึ่งกล่อม อายุ 51 ปี ตัวแทนแรงงานอุดรธานีที่เคยไปทำงานที่ประเทศลิเบีย พร้อมแรงงานกว่า 200 คน ที่ถูกส่งตัวกลับช่วงภาวะสงครามในประเทศลิเบีย เมื่อปี 2554 เดินทางเพื่อยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ขอให้เร่งรัดความช่วยเหลือ โดยมีนายธรพล จันทรนิมิ รอง ผู้ว่าฯ อุดรธานี นายอำพัน เอกทัตร แรงงาน จ.อุดรธานี นายอภิชาติ วงศ์กาฬสินธุ์ รักษาราชการ จัดหางาน จ.อุดรธานี ร่วมรับฟังความต้องการ

นายพิสิษฐ์ พึ่งกล่อม ตัวแทนแรงงาน เปิดเผยว่า แรงงานที่ถูกส่งกลับจากลิเบียช่วงสงคราม ยังคงได้รับความเดือดร้อน จากการเสียค่าหัวคิวถึงคนละ 90,000-200,000 บาท มีแรงงานหลายคนที่ทำงานไม่ถึงปี บางคนเพิ่งไปได้เพียงเดือนเศษ ต้องหนีกลับและถูกส่งตัวกลับไทย ทำให้ต้องเป็นหนี้สินมาจนถึงทุกวันนี้ จึงรวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือต่อ ผวจ.อุดรธานี เพื่อขอให้เร่งช่วยเหลือ

“ จากแรงงานเคยไปร้องเรียน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี แจ้งประสานส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงาน และศาลแรงงานกลาง ดำเนินการกับผู้จัดส่งแรงงาน แต่ก็ยังประสบปัญหา การยื่นเรื่องของแรงงานแต่ละคน จึงมาขอให้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ให้แจ้งประชาสัมพันธ์ถึงแรงงานที่เคยไปทำงานที่ประเทศลิเบีย แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือได้รับทราบ มาลงชื่อสำหรับการรับความช่วยเหลือ ”นายพิสิษฐ์กล่าว

Advertisement

นายอภิชาติ วงศ์กาฬสินธุ์ รักษาราชการจัดหางาน จ.อุดรธานี กล่าวว่าเป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในลิเบียปี 2554 ซึ่งมีทั้งที่ทำงานมานาน และที่เพิ่งเดินทางไป ยังไม่ได้ค่าจ้างงาน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้เมื่อเดินทางกลับจากภัยสงครามมา ทางกระทรวงแรงงานได้ช่วยเหลือรายละ 15,000 บาท และค่าพาหนะอีก 1,500 บาท รวมกว่า 2 หมื่นคน โดยเป็นชาวอุดรธานี 559 คน ซึ่งแรงงานที่มาวันนี้ก็ได้รับตามสิทธิไปแล้ว

“การเดินทางมาวันนี้ เพื่อต้องการใช้สิทธิตามกระบวนการทางศาล เรื่องของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ทางบริษัทฯจัดส่งเรียกเก็บเกิน ซึ่งในส่วนของกรมการจัดหางาน มีแกนนำส่วนหนึ่งจะมาขอรายชื่อแรงงานที่เคยไปทำงานที่ลิเบีย แต่ติดที่เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ทางกรมการจัดหางานจึงไม่สามารถให้รายชื่อไปได้ โดยเราได้แจ้งแกนนำให้รับทราบแล้ว แต่ทางแกนนำเป็นห่วงว่า รายชื่อจะต้องนำไปใช้ตามกระบวนการทางศาล อยากให้ทางจังหวัดนำรายชื่อแรงงานเหล่านี้ให้ ”

Advertisement

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่าจังหวัดจะให้นายอำเภอทั้ง 20 อำเภอ สั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้สำรวจรายชื่อแรงงานที่เคยไปทำงานที่ลิเบีย ส่งไปให้ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อที่จะส่งให้กับทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามขั้นตอน และจะส่งต่ออีกครั้งให้ทางนิติกรของศาลแรงงานกลาง เพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้กับแรงงานที่ไปทำงานที่ลิเบียต่อไป ตามสิทธิที่แรงงานจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงค้างจ่าย ค่าหัวที่เดินทางไป แต่ยังไม่ได้ทำงาน ซึ่งค่าหัวที่บริษัทฯจัดส่งเก็บเกินจากที่กฎหมายกำหนด ทางกรมการจัดหางาน ก็มีการดำเนินการทั้งพักใบอนุญาต

“เรื่องเหล่านี้ทางแรงงานจังหวัดรับเรื่องไปดำเนินการ แต่ขณะนี้ติดปัญหาที่สถานฑูตไทยที่ลิเบียเปิดไม่ได้ จึงไม่สามารถตามสิทธิประโยชน์กับทางนายจ้างให้ได้ และเรื่องดังกล่าวทาง สนช.มีมติออกมา ที่จะให้ความช่วยเหลือกับแรงงานเหล่านี้ จึงเกิดความหวังว่า จะได้รับความช่วยเหลือจากส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”นายอภิชาติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image