กฎหมาย : หนทางสุดท้าย ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ…? : โดย นพดล ปกรณ์นิมิตดี

หากบางคนบอกว่า การไม่มีโรค เป็นลาภอันเป็นประเสริฐ กรณีของหนี้สินก็อาจกล่าวได้ว่า การไม่มีหนี้สิน เป็นสุดยอดแห่งความสุข ก็น่าจะกล่าวได้นะครับ คนมีเงินมีฐานะที่ดี เงินหมื่นเงินแสน ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยหากจะจับจ่ายใช้สอย หาความสุขให้กับชีวิต แต่สำหรับคนมีรายได้น้อย หากเป็นหนี้สินหลักหมื่น บางคนเป็นหนี้นับแสนบาท จากการผ่อนรถยนต์ จากการต้องเป็นผู้ค้ำประกันแบบภาคไม่สมัครใจ นั่นคือความทุกข์ยากลำบากของพวกเขา

ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลอันรวมถึงปัจจุบัน ก็มีการกล่าวถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วย
แต่ทำไมปัญหายังไม่ได้การแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จทั้งๆ ที่ ณ ปัจจุบัน การใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอาจทำได้มากกว่า หรือดีกว่าแต่ก่อน

ข่าวจากเว็บไซต์ prachachat.net 21 กุมภาพันธ์ 2560 ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “…ครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารออมสิน 5 พันล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 5 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 0.85 ต่อเดือน เงื่อนไขต้องไม่เป็นการ Refinance หนี้ในระบบ คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 2 แสนราย…”

บัดนี้ ระยะเวลาผ่านมาปีเศษแล้ว เราคงมีคำตอบในใจแล้วละครับว่าปัญหาหนี้นอกระบบคงยากจะหมดสิ้นไปจากประเทศ ซึ่งอาจต้องมีการทำวิจัยซ้ำเรื่อยๆ ในเรื่องนี้ อันที่จริงแนวทางการให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกรรายย่อย เพื่อต่อความสุข หรือโอกาสในการดำเนินชีวิตภายใต้สภาพการเป็นหนี้สิน บางคนอาจจะถึงระดับหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ขอตอบได้เลยว่า ถูกต้องแล้วและเห็นด้วยครับ รวมถึงความพยายามในการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้คนมีรายได้เพิ่มเติม ก็เป็นแนวคิดและวิธีการที่ถูกต้องเช่นกัน

Advertisement

แต่คำถามที่น่าคิดก็คือ มีใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากปัญหาหนี้สินนอกระบบหรือไม่ และประโยชน์ที่ว่านั้น เช่นดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนที่มากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คืออาหารที่มีกลิ่นหอม ยากที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบจบสิ้นไปได้ เพราะหากปัญหาหนี้สินนอกระบบหมดสิ้น

ใครละครับที่จะต้องเสียผลประโยชน์

พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว อันมีบทบัญญัติที่ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กำหนด 15% ต่อปี ที่มีโทษหนักขึ้น ทั้งปรับไม่เกิน 200,000 บาท จากเดิมที่มีโทษปรับ 1,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี จากเดิมจำคุกเพียงไม่เกิน 1 ปี

Advertisement

การออกกฎหมายของรัฐสภาฉบับนี้ถือได้ว่าถูกต้อง และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด คือ แก้ไขปัญหาที่ตัวเจ้าหนี้นั่นเอง แต่คำถามที่น่าคิดก็คือ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี พอสมควรแก่โทษที่เจ้าหนี้บางคนสมควรได้รับหรือไม่ อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ หากได้มีการส่งเสริมให้ลูกหนี้ได้ใช้กฎหมายนี้เพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองอย่างจริงจัง โดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใดๆ ก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้

เจ้าหนี้ในยุค 4.0 ทราบดีแล้วครับว่า หากคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี ตัวเองมีปัญหาแน่ เลยใช้วิธีการเดิมๆ คือ เอาดอกเบี้ยที่เกินร้อยละ 15 บวกเข้าไปในเงินต้น แล้วบังคับให้ลูกหนี้ลงนามในสัญญากู้ ซึ่งแน่นอนครับสัญญากู้ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยต้องต่ำกว่า 15% แน่นอน

ตัวหนังสือลายลักษณ์อักษรอันปรากฏตามสัญญาจึงไม่ผิดตามนิตินัย แต่โดยพฤตินัยควรจะผิดชัด
แม้จะเป็นวิธีการแบบเก่าๆ แต่ปัจจุบันก็ยังมีเจ้าหนี้นิสัยชอบเอาเปรียบลูกหนี้หลายคนยังใช้วิธีการนี้อยู่

ลูกหนี้บางคนกู้แล้วกู้อีก จากเจ้าหนี้นอกระบบ จากยอดเงินต้นเพียง 3-5 ล้าน ที่ทยอยรับเป็นงวดๆ กลายเป็นหนี้สินของลูกหนี้ 30 ล้านบาท โดยมีเอกสารเป็นสัญญากู้นับสิบฉบับที่เจ้าหนี้เก็บไว้เพื่อใช้ฟ้องลูกหนี้ (เพราะทำสัญญาเปลี่ยนตัวเลขกันอยู่เรื่อย กรณีผิดนัดจ่ายดอกเบี้ย) แล้วเจ้าหนี้ตามตัวอย่างนี้ก็ไปฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ด้วย เพราะหวังจ่ายค่าธรรมเนียมศาลให้น้อยที่สุดด้วยซิครับ

พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560
มาตรา 4 บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้

(2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือ

(3) กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน

บางคนอาจมีข้อโต้แย้งในใจว่า หากเจ้าหนี้กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้ ดังตัวอย่างข้างต้น ก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว คำตอบก็คือ ใช่ครับ แต่จะพิสูจน์ความผิดเจ้าหนี้ ง่ายหรือยากครับ เพราะเจ้าหนี้อ้างความถูกต้องของเอกสาร เอกสารก็ลงลายมือชื่อลูกหนี้จริง และชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเจ้าหนี้หน้าเลือด ส่วนใหญ่อยากได้เงินกู้ มากกว่าที่จะสนใจ หรือกังวล ห่วงต่อเอกสารที่จะเก็บไว้ใช้เอาผิดเจ้าหนี้ ด้วยซิครับ

หากเรายังเชื่อว่า คนที่มาศาลต้องมาด้วยมือที่บริสุทธิ์ เจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้ยังสมควรได้รับสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมของศาลอยู่อีกหรือไม่ครับ

ท้ายสุดนี้ หากอุปทานในเรื่องการปล่อยเงินกู้นอกระบบ โดยหวังดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ลดน้อยลงหรือหายไปได้ แล้วลดอุปสงค์คือ ความต้องการใช้เงินที่มากเกินรายได้ โดยการให้ลูกหนี้ใช้จ่ายพอประมาณกับรายได้ที่ตนเองมี หากรายได้ไม่พอก็มีอาชีพเสริม เช่นแนวทางที่รัฐกำลังสนับสนุน ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีและถูกต้องอย่างมากนะครับ

กู้ง่ายก็ใช้ง่าย แก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ ก็อย่าลืมแก้ไขปัญหาของพวกเจ้าหนี้นอกระบบ ที่อยากได้ดอกเบี้ยเกินสมควรด้วย โดยการแก้ไขกฎหมายให้เข้มงวดขึ้นกับบรรดาเจ้าหนี้นอกระบบ ข้อเสนอที่อยากให้กรุณาพิจารณาก็คือ

พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (2) ควรจะแยกบัญญัติโทษทางอาญาไว้ต่างหาก เพราะเกี่ยวกับเอกสารปลอม เอกสารเท็จ โดยโทษทางอาญาควรสูงและมากกว่าประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ก็น่าจะเป็นการดี ด้วยเหตุเพราะเป็นกฎหมายพิเศษ ที่มีเจตนารมณ์ในการบังคับใช้กับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเฉพาะ และไม่ควรไปมองว่าเรื่องหนี้นอกระบบเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชนนะครับ เป็นหนี้เขาควรต้องจ่ายคืนถูกต้องครับ แต่เจ้าหนี้ก็สมควรติดคุก หากหวังดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จริงไหมครับ

ฉะนั้นการใช้กฎหมายเพื่อบังคับ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกหนี้และเจ้าหนี้ควรจะเป็นหนทางสุดท้ายจริงๆ แล้วกระมัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image