เช็กชื่อนายกฯสายทหาร-ใครบ้างมาจากการยึดอำนาจ

 

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และ เริ่มมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรก ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งแรก และหลังจากมีการเลือกตั้ง โดยพ้นจากตำแหน่งจากการรัฐประหาร

ปัจจุบันประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี ทั้งสิ้น 29 คน เป็นทหารทั้งสิ้น 13 คน ประกอบด้วย

1.พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็น 1 ในคณะราษฎร ที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมทั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย ตั้งแต่ปี 2476-2481 รวมระยะเวลา 5 ปี

Advertisement

2.จอมพล ป. พิบูลสงคราม 1 ในคณะราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมติของสภาผู้แทนราษฎร และดำรงตำแหน่งนายกฯครั้งแรก 2 สมัย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2481-2487 เป็นระยะเวลา 6 ปี

ต่อมาจอมพล ป. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในปี 2491 หลังจากที่มีคณะรัฐประหาร บังคับให้ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ลาออก และจอมพล ป. เข้ารับตำแหน่งนายกฯแทนทันที

และในการดำรงตำแหน่งครั้งนี้  จอมพล ป. เป็นนายกฯถึง 6 สมัย ตั้งแต่ปี 2491-2500 รวมระยุเวลา 9 ปี และถูกรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน 2500

Advertisement

ดังนั้นหากรวมระยะเวลา การดำรงตำแหน่งของจอมพล ป. ทั้งสิ้น 15 ปี และเป็นนายกฯ ถึง 9 สมัย ซึ่งเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ นานที่สุด

3.พ.ต.ควง อภัยวงศ์ หนึ่งในคณะราษฎร เป็นนายกฯ ต่อจากจอมพล ป. ในครั้งที่ 1 หลังจากจอมพล ป. ลาออก เมื่อปี 2487-2488

และเป็นายกฯสมัยที่ 2 หลังจากมีการเลือกตั้งในวันที่ 31 มกราคม ปี 2489 แต่เพียง 2 เดือนเท่านั้น พ.ต.ควง ได้ประกาศลาออก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2589 เนื่องจากแพ้มติสภาเรื่อง พ.ร.บ.ที่รัฐบาลรับไม่ได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 พ.ต.ควง ได้เริ่มก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น

4.และต่อมา วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายทหารคน ที่ 4 ที่ได้เป็นนายกฯ 2 สมัย ในปี 2489-2490

จากนั้นคณะทหารแห่งชาติ ได้มีมติแต่งตั้ง พ.ต.ควง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งนายกฯในสมัยที่ 3 ในเวลา  4 เดือน ก่อนที่จะลาออกเพื่อจัดการเลือกตั้งในัวนที่ 21 กุมภาพันธ์ 2491 ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ผ่านไปเพียง 2 เดือน ในวันที่ 8 เมษายน 2491 จอมพล  ป.เข้ายึดอำนาจ (ตามข้อ 2) พ.ต.ควง จึงได้เป็นนายกฯ 4 สมัย ในระยะเวลา ไม่ถึง 2 ปี

5. จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯในวันที่ 1 มกราคม 2501 หลังจากที่ จอมพลสฤษดิ์ ยึดอำนาจ จอมพล ป. และทูลเกล้าฯเสนอชื่อ นายพจน์ สารสิน มาเป็นนายกฯชั่วคราว และจัดให้มีการเลือกตั้ง โดย จอมพลสฤษดิ์ ได้ก่อตั้งพรรคชาติสังคม โดยมี จอมพล ถนอม เป็นรองหัวหน้า และได้แต่งตั้งให้เป็นนายกฯ

แต่บริหารประเทศได้เพียง 8 เดือน จอมพลสฤษดิ์ ได้ทำการปฏิวัติจองพลถนอม และยกเลิกพรรคชาติสังคมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

6.จากนั้น จอมพลสฤษดิ์ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกฯ หลังจากยึดอำนาจได้ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 โดยดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ 4 ปี ก่อนที่จะถึงอนิจกรรม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506

ต่อมา จอมพลถนอมได้ดำรงตำแหน่งนายกฯต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ในสมัยที่ 2 และต่อมาในการเลือกตั้ง 7 มีนาคม 2512  จอมพลถนอมได้จัดตั้งพรรคสหประชาไทย และชนะการเลือกตั้ง พร้อมทั้งกลับมาเป็นนายกฯสมัยที่ 3

จากนั้น จอมพลถนอม ได้ปฏิวัติตัวเอง และได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง  ในปี 2514 จากนั้น ได้เป็นนายกฯอีก 1 สมัย เป็นสมัยที่ 4 ในปี 2515 กระทั่ง 14 ตุลาคม 2516 เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา จนมีการปฏิวัติในที่สุด

ในปี 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในสมัยที่ 3 ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ถูกปฏิวัติเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดย พล.อ.สงัด ชลออยู่ และ มีการแต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 8 ตุลาคม 2519-20 ตุลาคม 2520 ก่อนที่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จะปฏิวัติอีกครั้ง

7. คณะปฏิวัติของ พล.ร.อ.สงัด ได้มีมติแต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2520-12 พฤษภาคม 2522  และดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้ง 12 พฤษภาคม 2522-3 มีนาคม 2523 และ ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากวิกฤตน้ำมัน

8.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมติสภาผู้แทนราษฎร หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ลาออกจากตำแหน่ง และเป็นต่อเนื่องยาวนานถึง 3 สมัย ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2523-4 สิงหาคม 2531 พร้อมทั้งยุบสภาเพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป

9.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นำพรรคชาติไทย ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นนายกฯ 2 สมัย ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2531 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก่อนที่ จะมีการปฏิวัติ โดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ จากนั้น ได้มีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นายกฯ และจัดให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 7 เมษายน 2535

10.พล.อ.สุจินดา คราประยูร 1 ในคณะปฏิวัติของ พล.อ.สุนทร ที่ประกาศไม่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในภายหลัง คณะปฏิวัติขณะนั้น ได้จัดตั้งพรรคสามัคคีธรรม และได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล โดย พล.อ.สุจินดา เป็นายกฯ

เป็นที่มาของคำว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จนเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน และเกิดเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ขึ้น จน พล.อ.สุจินดา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯเพียงเดือนเศษ  พร้อมทั้งมีการแต่งตั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นนายกฯรักษาการ 

11.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 และยุบสภา ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 และลาออกจากตำแหน่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นนายกฯในเวลา ไม่ถึง 1 ปีเต็ม

12.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากมีการรัฐประหาร รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นนายกฯ 2 สมัย  โดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ  ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549-29 มกราคม 2551 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

และ 13.ลักกี้นัมเบอร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ โดยการรัฐประหาร รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 และถูกรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ บริหารประเทศ  เพียง 2 ปีกว่า

ขณะที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ได้ยึดอำนาจ และบริหารประเทศ มาเป็นเวลา 4 เต็ม พร้อมทั้งรัฐบาลให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นไปตามโรดแมปที่ได้กำหนดไว้

จึงเห็นได้ว่า จากนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 29 คน เป็นทหาร 13 คน มีการรัฐประหารทั้งสิ้น 10 ครั้ง และมีนายกฯที่เป็นทหารและมาจากการรัฐประหารจำนวน 8 คน ส่วน พล.อ.สุจินดา มีการเลือกตั้งก่อน แต่ก็เป็นต้นเหตุให้เกิดการนองเลือดในที่สุด

ขณะที่ พล.อ.ชาติชาย และ พล.อ.ชวลิต มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ทีมงานการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image