ขอมละโว้ เก่าสุดอยู่ไทย โอนขอมไปเขมร

อม เป็นคำภาษาไทย กลายจากภาษาเขมร ใช้เรียกกลุ่มคนพวกที่อยู่ตอนล่าง (ในไทย) บริเวณเป็นรัฐละโว้ (ลพบุรี) เมื่อเรือน พ.ศ. 1800 โดยไม่ระบุจำเพาะเผ่าพันธุ์ใด หลังจากนั้นอีกนานขอมจึงเลื่อนไปหมายถึงชาวเขมร (ในกัมพูชา)

ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ดังนั้นไม่เป็นชื่อชนชาติหรือเชื้อชาติ จึงไม่มีชนชาติขอม หรือเชื้อชาติขอม ฉะนั้นใครๆ ก็เป็นขอมได้เมื่อยอมรับนับถือวัฒนธรรมขอม

ขอมเป็นใคร? มาจากไหน?

ขอม โดยทั่วไปหมายถึง 2 อย่าง ได้แก่ คนกลุ่มที่ถูกเรียกว่าชาวขอม และวัฒนธรรมชุดที่ถูกเรียกว่าวัฒนธรรมขอม ดังนี้

วัฒนธรรมขอม

Advertisement

หมายถึง ประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายาน, เทวรูป, ปราสาทหินและอิฐ, บารายหรือสระน้ำ, เมืองรูปสี่เหลี่ยม เป็นต้น รวมถึงอักษร เขมร, ภาษาเขมร, นุ่งโจงกระเบน, ตัดผมสั้นเกรียน, เคี้ยวหมาก ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นต้นทางสำคัญของวัฒนธรรมไทย

โดยรวมๆ แล้วไทยยกย่องนับถือวัฒนธรรมขอมเป็นของสูง และศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิปาฏิหาริย์ (เช่น อักษรขอมใช้ลงอักขระในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ คนสมัยก่อนต้องเรียนรู้ “ขอมไทย” หมายถึง อักษรขอม ภาษาไทย แต่เพิ่งเลิกไปไม่ถึง 100 ปีมานี้)

พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 รูปสลักหินพบที่ปราสาทพิมาย ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย (ภาพจากมติชนทีวี)

ขอม, ชาวขอม

Advertisement

หมายถึง คนในวัฒนธรรมขอม (ไม่มีชนชาติขอมหรือคนเชื้อชาติขอม) แต่มีความหมายต่างกัน 2 ระยะ ดังนี้

ช่วงแรก ขอมเป็นชื่อที่คนอื่นเรียก (ในที่นี้คือพวกไต-ไท) ไม่ใช่เรียกตัวเอง

หมายถึง คนในวัฒนธรรมขอมที่อยู่รัฐละโว้ (ลพบุรี) บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยไม่ระบุชาติพันธุ์ จะเป็นใครก็ได้ถ้าอยู่สังกัดรัฐละโว้ในวัฒนธรรมขอม ถือเป็นขอมทั้งนั้น

หลังจากเมื่อมีรัฐอยุธยา คนพวกนี้กลายตัวเองเป็นคนไทย

ช่วงหลัง ขอม หมายถึง ชาวเขมรในกัมพูชาเท่านั้น แม้เปลี่ยนนับถือศาสนาพุทธเถรวาทก็ถูกคนอื่น (คือ ไทย) เรียกเป็นขอม แต่ชาวเขมรไม่เรียกตัวเองว่าขอม เพราะไม่เคยรู้จักขอม และภาษาเขมรไม่มีคำว่าขอม

[เคยมีผู้ใช้แนวคิดชาตินิยมคลั่งเชื้อชาติไทย ดูถูกเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเขมร ว่าขอมไม่ใช่เขมร เป็นคนละชาติพันธุ์ เพราะยกย่องวัฒนธรรมขอม แต่เหยียดหยามเขมร]

ขอมละโว้กลายเป็นไทย โอนชื่อขอมไปเขมร

ก่อนมีคนไทยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คนไต-ไท (ตอนบน) เรียกชาวละโว้ว่าขอมโดยไม่เกี่ยวกับชาวเขมรในกัมพูชา

ส่วนในกัมพูชาไม่มีชื่อขอม ชาวเขมรยุคนั้นไม่รู้จักขอม ไม่เรียกตัวเองว่าขอม

หลังมีคนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชาวขอมละโว้กลายตัวเองเป็นไทย เรียกตัวเองว่าไทย จึงโอนคำว่าขอมให้เขมรในกัมพูชา นับแต่นั้นก็เรียกเขมรว่าขอม

[เพิ่งพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ว่า คนกลุ่มหนึ่งบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง เรียกตัวเองว่าไทย, คนไทย ราวหลัง พ.ศ.1800 (ก่อนหน้านั้นมีคนพูดตระกูลภาษาไต-ไท ไม่เรียกตัวเองว่าไทย, คนไทย แต่เรียกตามชื่อกลุ่มต่างๆ กัน เช่น ลื้อ, ลาว, จ้วง เป็นต้น)]

คำว่าขอม

ขอม ดั้งเดิมเริ่มแรกเป็นคำของคนในวัฒนธรรมลาว (หรือคนตระกูลไต-ไท ลุ่มน้ำโขง และสาละวิน) ใช้เรียกคนกลุ่มหนึ่งที่ชำนาญงานหิน ผู้ทรงภูมิรู้ทางศิลปวิทยาการ และมีบ้านเมืองใหญ่โตอยู่ดินแดนข้างล่างทางทิศใต้ลงไป หมายถึงบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่เมืองละโว้ (ลพบุรี)

ขอม พบคำนี้เก่าสุดเป็นภาษาไทย อักษรไทยในจารึกวัดศรีชุม (สุโขทัย) ทำขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1800 แสดงว่ามีใช้เป็นที่รู้จักนานมากแล้วก่อนนั้น แต่ไม่เคยพบคำนี้ในกัมพูชา

หลังจากนั้นพบบ่อยๆ ในจารึกบริเวณบ้านเมืองลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เมื่ออ้างปีนักษัตรเทียบระหว่างแบบขอม (อยู่ทางใต้) กับแบบไต-ไท (อยู่ทางเหนือ) มีคำคล้องจองว่า “ขอมพิสัย ไทภาษา”

ผู้รู้ทางอักษรศาสตร์ อธิบายว่าขอมในภาษาไทย กลายคำจากภาษาเขมร ว่า กรฺอม (เพราะ กรฺ ออกเสียงได้เป็น ข) คนล้านนาแต่ก่อนออกเสียงว่า กล๋อม แปลว่า ต่ำ, ข้างล่าง หมายถึงคนกลุ่มที่มีหลักแหล่งอยู่ที่ราบลุ่มต่ำ

[ชาวกัมพูชาทุกวันนี้ เรียกคนที่ราบสูง บริเวณลุ่มน้ำมูล ทิวเขาพนมดงเร็ก ว่า แขฺมร์เลอ แปลว่า เขมรสูง เรียกคนที่ราบลุ่ม บริเวณโตนเลสาบ ว่า แขฺมร์กรฺอม แปลว่า เขมรต่ำ]

ปราสาทพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา (ภาพจากเมืองพิมาย ของธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2535)

พิมาย เครือญาติรัฐละโว้-อโยธยา
เมืองบรรพชน ต้นตระกูลขอม

เมืองพิมาย อยู่ที่ราบสูง ลุ่มน้ำมูล เป็นถิ่นเดิมบรรพชนกษัตริย์กัมพูชา ที่สร้างนครวัด, นครธม และเป็นเครือญาติรัฐละโว้-อโยธยา (กรุงศรีอยุธยา) เลยถูกเหมารวมเป็นเมืองต้นตระกูลขอม มีความเป็นมาย่อๆ ดังนี้

1.คนที่ราบสูง (ไทย, ลาว) กับคนที่ราบลุ่ม (ไทย, กัมพูชา) ส่วนใหญ่เป็นคนพวกเดียวกัน ไปมาหาสู่เป็นเครือญาติชาติพันธุ์และชาติภาษา ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

อาจมีแตกต่างกันบ้างทางวัฒนธรรม ได้แก่ กลุ่มเกาะที่โยกย้ายขึ้นไปตั้งหลักแหล่งบนที่ราบชายฝั่ง ซึ่งมีไม่มาก (เมื่อเทียบจำนวนคนอยู่ดินแดนภายใน)

2.ศาสนาพราหมณ์-พุทธจากอินเดีย ถึงที่ราบลุ่มราวหลัง พ.ศ.1000 แล้วขยายขึ้นที่ราบสูง ผ่านช่องเขาต่างๆ ทางลพบุรี-นครราชสีมา-ชัยภูมิ, และสระแก้ว-บุรีรัมย์ ฯลฯ

3.ต้นวงศ์กษัตริย์กัมพูชามีหลักแหล่งอยู่ต้นลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1600 เป็นเครือญาติกษัตริย์รัฐละโว้ (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา)

ต่อมาได้สร้างปราสาทขึ้นอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ ปราสาทพิมาย บนที่ราบสูง และปราสาทนครวัด บนที่ราบลุ่ม (หลังจากนั้นอีกนานจึงสร้างปราสาทบายน ที่นครธม)

ประตูชัย (ด้านทิศใต้) เมืองพิมาย ตรงกับทางเข้าปราสาทพิมาย (ภาพจากโดรน มติชน)

ยุคนั้นไม่มีชื่อขอม

คำว่า ขอม มีครั้งแรก หลัง พ.ศ.1800 ในจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (แสดงว่าคำนี้มีใช้ก่อนนานแล้ว)

หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งในรัฐละโว้ (ลพบุรี) ที่ส่วนมากพูดภาษาเขมร โดยไม่จำแนกชาติพันธุ์เป็นพวกใดพวกหนึ่ง แต่ให้ความสำคัญการนับถือศาสนาพราหมณ์กับพุทธมหายาน (ซึ่งมีพิธีกรรมใกล้เคียงกัน)

ขณะนั้นไม่พบหลักฐานคำว่าขอมในกัมพูชา ดังนั้นเขมรในกัมพูชาสมัยแรกๆ จึงไม่เรียกตัวเองว่าขอม

แต่ต่อไปข้างหน้าจะถูกเหมารวมเป็นขอม ทั้งในกัมพูชาและเมืองพิมาย ตลอดลุ่มน้ำมูล

 


 

ขอม

โดย จิตร ภูมิศักดิ์

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า :

กล๋อม-ขอม เปนชื่อที่ใช้โดยคนหลายถิ่นหลายภาษา เพื่อเรียกชนชาติหลายถิ่นหลายภาษาด้วยกัน, หาใช่ชื่อเรียกชนชาติหนึ่งใดเพียงชนชาติเดียวโดยยึดสายเลือดหรือเชื้อชาติเปนเกณฑ์ไม่.

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า :

กล๋อม-ขอม มิใช่ชนชาติที่ใครจะคิดผสมสายเลือดขึ้นเปนชนชาติใหม่ได้ เหมือนการผสมน้ำยาเคมีในห้องทดลองวิทยาศาสตร์; จะนำเอาความหมายของกล๋อม-ขอมในภาษาต่างๆ มาบวกกันเข้าแล้วหารเฉลี่ยเปนชนชาติลูกผสมขึ้นหาได้ไม่. เช่นเดียวกับคำ ข่า เปนคำเรียกชนชาติในตระกูลมอญ-เขมรด้วย ตระกูลชวา-มลายูด้วย และตระกูลพะม่า-ทิเบต ด้วย, จะเอาเชื้อชาติทั้งสามรวมเข้าด้วยกัน แล้วเอาสามหาร เฉลี่ยเปนชนชาติ ข่า ขึ้นหาได้ไม่.

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า :

กล๋อม-ขอม ในภาษาอื่นๆ และถิ่นอื่นๆ หมายถึงชนชาติหลายชาติตามความแตกต่างของภาษา; แต่เฉพาะในภาษาไทยพายัพ, ไทยภาคอีสาน, ไทยภาคกลาง และไทยภาคใต้ ในประเทศไทยแล้ว ขอม หมายถึงชนชาติเขมรอย่างแน่ชัดมาแต่โบราณ, ปรากฏหลักฐานในเอกสารทางราชการสมัยสุโขทัย, อยุธยา และรัตนโกสินทร์, มิใช่ในนิยายปรัมปราอย่างเรื่องขอมดำดิน. แม้ในนิยายโบราณของไทยที่ใช้คำว่า ขอม เรียกชาวเขมรในประเทศกัมพูชานั้น ก็เปนคำที่ใช้อย่างถูกต้องตามความหมายที่แท้จริงของความรับรู้ของคนไทยอยู่นั่นเอง, หาใช่คำที่เหลวไหลเข้าใจผิดไม่.

 

[จากหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2547 หน้า 146-147]

 


 

คลิกอ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ : เสกสรรปั้นแต่ง ประวัติศาสตร์ไทยแบบอาณานิคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image