ติวเข้มชาวนายุค 4.0 ทำนาแปลงใหญ่แก้ปัญหาความยากจน ทดลอง 30,000 ไร่ ในภาคอีสาน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่โรงแรมโฆษะ ถ.ศรีจันทร์ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น นายเมธี จันทร์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ได้มาเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา ทางเลือกทางรอด “ชาวนาบอกชาวนาปรับตัวอย่างไรในยุค 4.0” โดยมี นายระวี รุ่งเรือง ผู้ประสานงานองค์กรชาวนาเพื่อการปลดหนี้ ร่วมกับ กรมประชาสัมพันธ์ และ เครือข่ายองค์กรชาวนาเพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินการจัดให้มีการเสวนา เรื่อง “ทางเลือกทางรอดชาวนาบอกชาวนาปรับตัวอย่างไรในยุค 4.0” ซึ่งมีพิธีกร คือ ผศ.ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น นายทองคำ แจ่มใส ปราชญ์ชาวบ้าน ต.จันดุม อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บุคคลต้นแบบด้านการจัดการชีวิตและชุมชน, การสร้างคน สร้างความรู้ : กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ และผู้นำชาวนาภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีเกษตรกรทำนาใน 12 จังหวัดภาคอีสานเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 100 – 150 คน

สืบเนื่องจาก ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ อาชีพทำนาจึงมีความสำคัญกับประเทศไทยและผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของไทยมาแต่โบราณ ชาวนาจึงถือเป็นกระดูสันหลังของชาติรัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวนาไทยให้ดีขึ้น จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวนาไทยเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การเกษตรสมัยใหม่ เพื่อก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับการเกษตร และใช้แนวทางประชารัฐ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร และมีศักยภาพเป็นผู้นำข้าวในตลาดโลก

นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนาต้องรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็งเป็นเอกภาพ ภาครัฐต้องให้ชาวนามีส่วนร่วมในระดับนโยบายและการบริหารจัดการ โครงการนาแปลงใหญ่เพื่อการปลดหนี้เป็นสูญเป็นทางออกที่ดี รวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ “ตั้งเป้าว่าโครงการปลดหนี้เป็นสูญจะกระจายให้ได้ถึงล้านไร่ ขอให้ ธ.ก.ส. หรือรัฐบาลช่วยพักดอกเบี้ยในช่วง 5 ปี ส่วนชาวนาจะบริหารเรื่องปลดหนี้สินกันเอง โดยวางแผนว่า 5 ปี จะดำเนินการโครงการนี้ให้สำเร็จ

ด้านนายเมธี จันทร์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน กล่าวว่า ชาวนาต้องรวมตัวให้เข้มแข็ง ลดการพึ่งพาภาครัฐ กำหนดทิศทางของตนเอง ปลดหนี้ให้เป็นสูญ นอกจากนี้ชาวนาต้องแบ่งการผลิตเป็น 2 หลัก คือ ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยกินข้าวที่ตัวเองปลูก และอีกหลักหนึ่งคือ การทำนาแปลงใหญ่โดยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ปริมาณและคุณภาพควบคุมได้ ตั้งเป้าสำเร็จ

Advertisement

“เกษตรกรเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้เป็นชาวนาโดยอาชีพที่ประสบปัญหามากมาย และมีหนี้สินมากจนแก้ปัญหาไม่ได้ เกษตรกรจึงได้มีเวทีสัมมนาทางเลือกทางรอดในประเด็น ชาวนาบอกชาวนาปรับตัวอย่างไรในยุค 4.0 โดยเฉพาะหนี้ของชาวนาที่ต้องแก้ไขให้เป็นสูญ ดังนั้นชาวนาต้องตัดสินใจของเขาเองไม่ให้เป็นหนี้อีก ภาครัฐต้องมาช่วยจัดระบบเรื่องการทำนาของเกษตรกรทำนาใหม่ โดยให้ทำนาแปลงใหญ่ ซึ่งมีการทดลองทำนาแปลงใหญ่แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรทำนาใน 7 พื้นที่ ที่เป็นนาแปลงใหญ่ในภาคอีสาน คือ จ.สุรินทร์ ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา ภาคเหนือ จ.สุโขทัย จ.นครสวรรค์ ภาคกลาง จ.เพชรบุรี และ จ.นครปฐม โดยมีพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ โดยจะทดลงทำนาแปลงใหญ่ให้เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรที่ร่วมในโครงการได้ในเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งจะเกิดนาแปลงใหญ่ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ พร้อมกับใช้ประโยชน์กับนาแปลงใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรที่ร่วมโครงการทำนาแปลงใหญ่ให้มากที่สุด” ดร.เมธี จันทร์จารุภรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การสัมมนาทางเลือกทางรอด “ชาวนาบอกชาวนาปรับตัวอย่างไรในยุค 4.0” ได้สรุปทางออกของชาวนาไทย ว่า ชาวนาต้องปรับตัวให้เข้มแข็งจะสามารถยืนอยู่ได้ โดยยกระดับชาวนารายย่อยให้ก้าวทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของตลาดการค้า และสร้างมั่นคงในอาชีพ ทั้งการสร้างวิธีการจัดการใหม่ พันธุ์จำเพาะ วิธีการผลิตจำเพาะ สร้างผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น นอกจากนี้ต้องยกระดับการผลิตของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย ยกระดับทุ่งนาเป็นแหล่งพลังงานสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

นอกจากนี้ชาวนาจะต้องรวมกลุ่มกันผลักดันโครงการปลดหนี้เป็นสูญ ให้บริหารจัดการกันเอง โดยรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็ง และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายช่วยเหลือกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ธ.ก.ส.ต้องมีการปรับบทบาทใหม่ไม่คิดแต่จะให้ชาวนากู้เป็นหนี้อย่างเดียว แต่ต้องช่วยปลดล็อคหนี้ให้ได้และต้องตั้งธงที่ทำอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้อีก.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image