กรวดน้ำกันทำไม : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

 

แฟนคอลัมน์นี้ท่านหนึ่ง อยากทราบความมุ่งหมายและวิธีการที่ถูกต้องของการกรวดน้ำ เพื่อปฏิบัติอย่างสะดวกใจต่อไป ตอนนี้ไม่ค่อยสะดวกใจ เพราะภรรยากรวดน้ำไม่เหมือนกับที่ตนเคยรู้และปฏิบัติกันมา ว่าอย่างนั้น

ท่านผู้นี้เล่าว่า ภรรยาของท่านได้รับคำแนะนำจากหลวงพ่ออายุเกือบร้อยแล้วว่า หลังจากใส่บาตรแล้วให้เอาถังพลาสติกใบเบ้อเร่อใส่น้ำให้เต็ม แล้วอ่านคำสวดอุทิศให้แก่ใครที่ตนต้องการอุทิศให้ ยาวเป็นหน้าๆ (เพราะมีกันมากมายก่ายกอง) แล้วก็เอาขันน้ำไปราดกลางสนามหญ้า ราดเสร็จแต่ละขัน ก็เริ่มร่ายคาถาอุทิศยาวเป็นหน้าๆ อีก กว่าจะทำพิธีกรวดน้ำเสร็จก็กินเวลาครึ่งค่อนวัน

ครั้นท่านผู้นี้ไปเรียนถามหลวงพ่อ เจ้าตำรับกรวดน้ำที่เปลืองน้ำรูปนี้ว่า เท่าที่ทราบมาการกรวดน้ำคือการตั้งจิตอุทิศบุญกุศล โดยใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์หรือเป็นสื่อเท่านั้น กรวดเสร็จก็เอาน้ำไปเทรดต้นไม้ก็เป็นเสร็จพิธี ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นถังๆ และสวดอุทิศหลายรอบ เปลืองน้ำ เปลืองเวลาอย่างนี้มิใช่หรือ หลวงพ่อท่านว่า โยมไม่รู้อะไร รู้หรือเปล่า พวกผี เปรต สัตว์นรก เขามาคอยรับส่วนกุศลจากผู้ใจบุญอยู่ พวกนี้เขาไม่สามารถขึ้นมาจากใต้ดิน เขาขึ้นมาได้มากที่สุดประมาณ 1 ศอกก่อนจะถึงผิวดิน โยมใช้น้ำราดเพียงเล็กน้อยน้ำจะซึมหายไปหมด ถ้าใช้น้ำมากๆ น้ำจะซึมลึกลงไปถึงตัวพวกผี พวกเปรต พวกสัตว์นรก เหล่านั้นได้ พวกนั้นจึงจะได้รับส่วนบุญ ท่านว่าอย่างนั้น

Advertisement

ผมไม่ถามละว่าหลวงพ่อวัดไหน ท่านว่าได้วิธีกรวดน้ำที่ว่านี้มาจากคัมภีร์เล่มไหน ขี้เกียจตามไปหาอ่าน อ่านเฉพาะคัมภีร์พระไตรปิฎกของพระพุทธเจ้าก็ยังไม่ค่อยจะจบดีเลย เพราะมีเรื่องมากมายที่จะต้องจดต้องจำนำไปปฏิบัติ

ฟังเรื่องที่เล่านี้แล้ว นึกถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ีนายพันเอก (หรือพันตำรวจเอก ผมก็ลืมไปแล้ว) ท่านหนึ่ง สลบไปฟื้นขึ้นมา ฝันไปว่าคนที่ใส่บาตรไม่ได้ใส่น้ำด้วย ตายไปแล้วจะได้กินแต่ข้าวและอาหารที่ใส่ น้ำไม่ได้กิน เพราะไม่ได้ “ทำเอาไว้” ท่านว่าท่านตายจริงๆ แล้วฟื้นขึ้นมา ประชาชนก็แตกตื่นเป็นการใหญ่ แตกตื่นเฉยๆ ไม่เท่าไรดอกครับ แต่ทำให้พระท่านลำบากไปด้วย

คุณป้าคุณลุง คุณตาคุณยายทั้งหลาย เวลาใส่บาตรก็เอาน้ำใส่ถุงพลาสติกใส่ไปด้วย บางคนเอาน้ำใส่ขวดแล้วใส่ลงในบาตรพระ บางคนชอบกินน้ำอัดลม ก็เอาน้ำอัดลมชนิดนั้นใส่ด้วย หวังจักได้กินชาติหน้า พระท่านก็จำต้องอุ้มบาตรที่เต็มด้วยน้ำกลับวัด บางครั้งน้ำในถุงพลาสติกแตก ข้าวในบาตรกลายเป็นข้าวแช่ไปเลยแหละเจ้าประคุณเอ๋ย

Advertisement

หันมาว่าเรื่องกรวดน้ำครับ “กรวด” เป็นคำเขมรแปลว่าริน “กรวดน้ำ” ก็คือ รินน้ำ เวลาชาวพุทธทำบุญทำกุศลแล้ว ตั้งจิตอุทิศบุญกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับ (ญาติพี่น้อง บิดามารดา เป็นต้น ตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย) ก็ใช้น้ำเป็นสื่อแทนน้ำใจรินลงในภาชนะสำหรับรองรับ เสร็จแล้วนำน้ำไปเท จะเทที่ไหนก็ได้ แต่โบราณาจารย์ท่านนิยมให้เทที่โคนต้นไม้ ก็เพื่อเป็นการรดต้นไม้ไปด้วยนั่นแหละ

ถ้าเรานิมนต์พระฉันที่บ้าน หลังพระฉันเสร็จ พระท่านจะ “ยถาสัพพี” (นี่พูดภาษาชาววัด) หมายถึง พระท่านจะสวดอนุโมทนา หรืออวยพรเจ้าภาพ เวลาพระหัวแถวท่านสวดรูปเดียวว่า ยถา วาริวหา ปูรา… โยมก็เตรียมรินน้ำที่เตรียมไว้ก่อนแล้ว ลงในภาชนะสำหรับรองรับ พร้อมตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลให้ใครๆ ตามที่ต้องการ พอท่านว่าจบลง พระทั้งหมดจะสวดขึ้นพร้อมกันว่า “สัพพีติโย วิวัชชันตุ…” รีบรินน้ำที่เหลือให้หมด แล้วประนมมือรับพร พอท่านให้พรเสร็จ เราก็นำน้ำไปเท เท่านั้นก็เสร็จพิธีกรวดน้ำ ทำกันง่ายๆ ไม่เปลืองน้ำเป็นถังๆ ไม่เปลืองเวลาค่อนวันครึ่งวัน

เวลารินที่เอานิ้วรอน้ำ ก็เพื่อให้น้ำมันค่อยๆ ไหล มิใช่เป็นกฎบังคับต้องทำและไม่จำเป็นต้องล้อมวงกันกรวดน้ำยังกับตั้งวงไพ่ รินคนเดียวพอ คนอื่นนั่งประนมมือเฉยๆ เท่าที่เห็นส่วนมาก นั่งล้อมวง บางคนหันก้นให้พระอีกด้วย ล้อมไม่ล้อมเปล่า ต่างก็แหย่นิ้วเข้าไปจิ้มถาดน้ำ คนที่แหย่นิ้วไม่ถึงก็จิ้มสีข้างหรือพุงคนที่อยู่ข้างหน้า ถ้าเกิดมีใครสักคนบ้าจี้ คงทำให้วงแตกจนได้สักวัน ไม่ต้องถึงขนาดนั้นดอกครับ ประนมมือฟังพระสวดไปเถอะ ปล่อยให้หัวหน้าหรือใครสักคนรินน้ำคนเดียวพอ

ถ้าถามว่า กรวดน้ำไปให้แล้ว เขาผู้ที่เราอุทิศให้นั้นจะได้รับหรือเปล่า ขออ้างพระพุทธพจน์ว่า ได้รับก็มี ไม่ได้รับก็มี ถ้าผู้ตายไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นเทวดา สัตว์นรก เขาก็มีอาหารการกินในภพนั้นๆ ของเขาแล้ว ไม่ได้รับ แต่ถ้าไปเกิดเป็น “ปรทัตตูป-ชีวีเปรต” (เปรตประเภทที่ยังชีพด้วยส่วนบุญที่คนอื่นอุทิศให้) เท่านั้น จึงจะได้ส่วนบุญที่ว่านี้ได้ พระพุทธพจน์มีดังนี้ครับ

เป็นอันว่า เราก็ทำ “เผื่อๆ ไว้” เท่านั้นเอง เพราะญาติโยมของเราไม่จำเป็นต้องไปเกิดเป็น “ปรทัตตูปชีวีเปรต” ทุกคนเสียเมื่อไหร่ ใช่ไหมครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image