ฝึกอาชีพคนจน 6.25 แสนคน 4 เดือนได้ตามเป้า = ปาฏิหาริย์

เกือบ 1 เดือน ที่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้รับมอบภารกิจจากรัฐบาลให้ดำเนิน โครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้งบประมาณ จำนวน 2,068 ล้านบาท จัดฝึกอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 625,120 คน

โครงการนี้เริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน มีกำหนดสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2561 ดำเนินการฝึกอาชีพในหลักสูตรต่างๆ ประกอบด้วย 1.การฝึกช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) จำนวน 81,000 คน ผู้สำเร็จการฝึกจะมีเครื่องมือประกอบอาชีพให้คนละ 1 ชุด สามารถปฏิบัติงานซ่อมระบบไฟฟ้า ประปา ประตูหน้าต่าง ผนัง กระเบื้องได้ และ 2.การฝึกอาชีพทั่วไป (อาชีพอิสระ) ทั้งประกอบอาหาร ทำขนม งานศิลปะประดิษฐ์ ตัดผม ฯลฯจำนวน 544,120 คน

แต่ในความเห็นนั้น งานนี้ถือเป็นการวัด “ฝีมือ” คนทำงานกันตั้งแต่ระดับ “ผู้บริหาร” ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน ยัน “ผู้ปฏิบัติงาน” คือ อธิบดีกรมฯ รวมไปจนถึงข้าราชการ เจ้าหน้าที่ กันเลยทีเดียว

แม้จะมีแรงจูงใจให้ทุกคนที่เข้าสู่การฝึกอบรมที่จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 180 บาท แล้วแต่จำนวนวันของหลักสูตรที่เข้าฝึก อีกทั้งกลุ่มฝึกช่างอเนกประสงค์จะได้เครื่องมือประกอบอาชีพติดมือกลับบ้านไปอีกคนละ 1 ชุดก็ตาม

Advertisement

เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะนำคนนับแสนตามรายชื่อที่ลงทะเบียนไว้ออกมาฝึกอบรม

อย่าลืมว่า โครงการนี้เป็นการใช้งบประมาณกลางปี และต้องดำเนินการให้สำเร็จภายในเดือนกันยายน 2561 หากนับกันจริงๆ ใช้เวลาเริ่มทำงานตั้งแต่ได้งบประมาณในกระบวนการต่างๆ ในเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากต้องการให้ตามเป้าจะต้องฝึกคนให้ได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 แสนคนเศษ

แต่ข้อเท็จจริง 1.เพียงแค่เดือนแรก ขณะนี้มีตัวเลขเข้าฝึกอบรมจริงแค่ 5 หมื่นคนเศษ ยังไม่ถึงเป้าหมายเฉลี่ยในแต่ละเดือนที่ควรจะฝึกได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนคน แต่การที่เจ้าหน้าที่จะลงไปตามหาคนเหล่านั้น ให้ตัดสินใจเดินออกจากบ้านไปฝึกอาชีพ หรือแม้แต่เลือกฝึกอาชีพใดอาชีพหนึ่งตามหลักสูตรที่จัดไว้ให้มากกว่า 50 หลักสูตร ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น

Advertisement

2.จะต้องจัดเตรียมทีมงานครูผู้ฝึกสอนอีก ซึ่งล่าสุดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการตามนโยบาย “ประชารัฐ” โดยการประสานไปยังสถาบันการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัย อาชีวะ และสถานประกอบการเอกชน ในการจัดหาวิทยากร จัดเตรียมสถานที่ฝึก นัดวันเวลาฝึก ก็ต้องใช้เวลา

3.ในการจัดฝึกอบรมครั้งนี้ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,068 ล้านบาท ถือว่าเป็นงบประมาณที่มากกว่างบประจำปีของกรมฯ และนับเป็นก้อนใหญ่มากที่สุดเท่าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเคยได้รับ และแม้โครงการนี้จะไม่เข้าข่ายต้องทำตัวชี้วัดในการใช้งบประมาณ แต่ระดับผู้ปฏิบัติงานต่างก็ต้องตกอยู่ในสภาพทำงานด้วยความเครียดหายใจไม่ทั่วท้องกันอยู่ดี เพราะนี่คืองานระดับนโบายของรัฐบาล

กระทรวงการคลังดำเนินการสำรวจคนจนทั่วประเทศ จำนวน 11.4 ล้านคน ต้องใช้คนทำงานและลงพื้นที่กว่า 1 หมื่นคน ใช้เวลาดำเนินการนานถึง 4 เดือน แต่พบว่ายังมีตัวเลขตกหล่นจนต้องขอขยายเวลา ขณะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการต่อใช้เวลาพอๆกัน แต่บุคลากรน้อยกว่าคือใช้ประมาณ 2,000 คน แต่ในการทำงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยากกว่าเพราะต้องไปค้นหาคนจากรายชื่อ พร้อมทั้งจะต้องหว่านล้อมทำให้คนเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม

วันนี้คนทำงานอาจไม่พูดอะไร แต่เชื่อว่าเสียงเดียวกันที่อยู่ในใจคือ “กังวล” ว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

เห็นทีโครงการนี้อาจจะต้องมีการขยายเวลา!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image