“โทษประหาร” มิติที่ซับซ้อนระหว่าง “ความรู้สึก” กับ “ความเข้าใจ”

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ “โทษประหาร” ในประเทศไทย เคสรายล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 18 มิถุนายก 2561 ธีรศักดิ์หรือ มิก หลงจิ เป็นนักโทษรายที่ 7 ขึ้นสู่หลักประหารด้วยการถูกฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกาย เป็นรายแรกในรอบ 9 ปี ทำให้ข้อตกลงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ให้ยกเลิกโทษประหารไปทันทีต้องหยุดลง  ตามที่ระบุต้องไม่มีการประหารภายใน 10 ปี (เริ่มนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 ที่มีการประหารชีวิตครั้งหลังสุดในประเทศไทยไปจนถึงสิงหาคม 2562)

เมื่อกล่าวถึงกฎหมายของประเทศไทยในหมวดระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ. 2546 ที่ประกาศเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ได้ปรับแก้กฎหมายเดิมที่เป็นคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ปี 2478 วางระเบียบการประหารชีวิตนักโทษ โดยการยิงด้วยปืนตามนัย มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477

ส่วนเนื้อหาใหม่ในพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546 ได้แก้ไข มาตรา 19 เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการเอาไปยิงเสียให้ตาย เป็นให้ฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย  ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ. 2546 มีทั้งหมด 19 ข้อ ที่ลำดับรายละเอียดตั้งแต่นักโทษถูกตัดสินประหารชีวิตไปจนถึงขั้นตอนวิธีการประหาร

ขณะนั้น มีความเห็นเรื่องของวิธีประหารว่า การปล่อยยาเข้าสู่เส้นเลือดอย่างเป็นขั้นตอน ทำให้ผู้ถูกประหารไม่รู้สึกทรมานใดๆ แต่วันนี้ สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไป ไม่ได้มองแค่ประหารอย่างไร แต่อยากให้เลิกการประหาร มุมมองความเห็นของประเทศไทยเกิดความเห็นมากมายสุดแล้วแต่หลักการและเหตุผลที่จะสนับสนุนแนวคิดของตนเอง

Advertisement

แนวคิดที่จะปรับปรุงโทษประหารในส่วนของภาครัฐสำหรับประเทศไทยแล้ว ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ก็มีความพยายามเช่นกัน แต่เป็นไปอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง อ้างจากบทความหนึ่งของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หัวเรื่อง “การรณรงค์เปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต” ที่นำลงเว็บไซด์เมื่อ 7  มิถุนายน 2560 มีรายละเอียดน่าสนใจ จึงขอนำมาถ่ายทอดต่อ

ในบทความกล่าวถึงแผนงานของกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต อันเป็นผลสืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอแนะนโยบายการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและหลักสิทธิมนุษยชนเสนอเข้ามา ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม เร่งจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำรายงานผลการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ให้ครบถ้วนส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

กระทรวงยุติธรรมมอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรมศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ก่อนชงประเด็นเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ครั้งที่ 2/2559 เมื่อ 1 มีนาคม 2559 และคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ครั้งที่ 2/2559 เมื่อ 7 เมษายน 2559

Advertisement

ที่ประชุมทั้งสองมีมติเห็นชอบกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต แบ่งเป็น 3 ระยะด้วยกัน

ระยะที่ 1 ปรับอัตราโทษความผิดบางประเภทจากที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียวเป็นโทษอัตราขั้นสูงสุดประหารชีวิต เพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจที่จะลงโทษประหารชีวิตได้โดยไม่จำเป็นต้องวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวเท่านั้น

ระยะที่ 2  ยกเลิกโทษประหารชีวิตในบางฐานความผิด โดยเฉพาะในความผิดที่ไม่เกี่ยวกับชีวิต หรือเป็นความผิดที่ไม่ส่งผลถึงความตายของผู้อื่น เช่น การลักพาตัวผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เป็นต้น

ระยะที่ 3 ยกเลิกโทษประหารชีวิตในฐานความผิดที่เหลือทั้งหมด

ข้อเสนอถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อ 26 กรกฎาคม 2559 ครม.รับทราบและเห็นชอบข้อเสนอ  ทางปลัดกระทรวงยุติธรรมจึงมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนำข้อเสนอมาดำเนินการต่อ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตตามมติครม.ต่อไป

บทความเดียวกันยังบอกว่า ก่อนปี 2558 มี 55 ฐานความผิด แต่ต่อมา มีการตรากฎหมายขึ้นใหม่ 3 ฉบับ กำหนดอัตราโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมายอีก 8 ฐานความผิด ส่งผลให้ปัจจุบันมีฐานความผิดที่มีอัตราโทษประหารชีวิต รวมถึง 63 ฐานความผิด

ที่งอกขึ้นใหม่ดังกล่าวมาจากกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558

กล่าวสำหรับจุดลงเอยของความเห็นหรือแผนการเหล่านี้ยังไม่มีการตกผลึกในเร็ววัน เพราะการยกเลิกหรือไม่ยกเลิกโทษประหาร ยังมีมิติทางความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปมากมาย ซับซ้อนเกินกว่าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมเข้าใจตรงกันได้

ดั่งที่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง ให้ความเห็นผ่านเว็บไซต์ข่าวสดเมื่อเร็วๆนี้ว่า “เราจะเอาความรู้สึกไปตัดสินไม่ได้ คนกระทำผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว แต่เราสามารถตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมได้ว่ามีช่องโหว่ตรงไหนหรือไม่”

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image