โชว์ตัวเลขบีทีเอสกำไรพุ่ง ท่ามกลางเสียงโอดคนกรุง ได้เวลาทบทวนสัมปทาน?

เราในฐานะผู้บริโภค เสียเงินเสียทองซื้อบริการโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะเป็นระบบขนส่งมวลชนทางเลือกที่เป็นหลักที่สุดของกรุงเทพฯ

อาจจะเรียกได้ว่ารถไฟฟ้าเป็นธุรกิจผูกขาดได้รับสัมปทานจากรัฐ ผู้โดยสารที่ซื้อบริการคงไม่จำเป็นต้องมารับรู้ว่าปัญหารถไฟฟ้าขัดข้อง ให้บริการไม่ได้ เกิดจากปัญหาระบบอาณัติสัญญาณ ถูกคลื่นรบกวน ทำให้ไม่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติในการเดินรถ ทำให้การเดินรถล่าช้ากว่าและเกิดผลกระทบต่อเนื่อง

เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ให้บริการต้องหาทางแก้ไข ลงทุนหาเครื่องไม้เครื่องมือมาแก้ปัญหา ไม่ใช่หาเหตุผลหรือตรรกะมาอธิบายต่อผู้บริโภค

หากปัญหานี้ควบคุมไม่ได้ หรือเกิดใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ ก็ยังพอให้อภัยได้ แต่เมื่อสืบค้นข้อมูลพบว่า ระบบการเดินรถขัดข้องเป็นปัญหาที่คนกรุงเอื้อมระอามานานนับปี

Advertisement

เท่าที่หาข้อมูลได้เฉพาะปี 2561 มีปัญหาจำนวน 28 ครั้ง มกราคม จำนวน 2 ครั้ง , กุมภาพันธ์ จำนวน 7 ครั้ง , มีนาคม จำนวน 4 ครั้ง , เมษายน จำนวน 3 ครั้ง ,พฤษภาคม จำนวน 3 ครั้ง และ มิถุนายน จำนวน 9 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 28 ครั้ง

สาเหตุหลักเกิดจากปัญหาขัดข้อง คือ ปัญหาประตูชานชาลา จุดสับราง ระบบอาณัติสัญญาณถูกคลื่นวิทยุสื่อสารรบกวน

หากย้อนข้อมูลไปไกลกว่านั้น พบว่า ระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2559 – 21 พฤศจิกายน 2560 รวม 1 ปี เกิดปัญหาขัดข้องทั้งสิ้น 52 ครั้ง เฉลี่ย 4 ครั้งต่อเดือน

Advertisement

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของคนกรุงให้บริษัทมีมาตรการเยียวยาชดเชย ค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส

เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผู้โดยสาร เพราะปัญหานี้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สวนทางกับค่าโดยสารที่นับวันจะแพงขึ้น

บีทีเอสมีการประกาศปรับราคาค่าโดยสาร ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 จากเดิมราคาเริ่มต้น 15 – 42 บาท เป็น 16 – 44 บาท

ซึ่งเหตุผลบริษัทอ้างในครั้งนั้น คือ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 20% เช่น ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น

การขึ้นค่าโดยสารเมื่อปีที่แล้ว ได้เกิด เสียงสะท้อนออกมาว่า ราคาค่าโดยสาร เทียบเท่าหรือแพงกว่าประเทศอื่นๆ แต่ไม่พัฒนาคุณภาพ

เมื่อเปิดค้นหาข้อมูลบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 60/61 มีกำไรสุทธิ 4,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.4%

จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,003.48 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้กำไรจากรายการที่เกิดขึ้นประจำ และกำไรพิเศษจากการปรับโครงสร้างในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

โดยบริษัทมีรายได้รวมในธุรกิจระบบขนส่งมวลชน จำนวน 9,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.1% หรือ 4,875 ล้านบาทจากปีก่อน

มีรายได้จากบริการรับเหมาติดตั้งและก่อสร้างและจัดหารถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 244.8%
มาจากการติดตั้งงานระบบและจัดหารถไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้และเหนือ

มีรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เพิ่มขึ้น 12.3% จากปีก่อน เป็น 1,865 ล้านบาท

จากการเพิ่มขึ้นตามสัญญาของรายได้ค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวปัจจุบัน และจากสถานีสำโรง (E15) ซึ่งเป็นสถานีแรกในโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้

รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาจำนวน 3,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7% หรือ 893 ล้านบาทจากปีก่อน

เห็นผลประกอบการของบริษัทที่มีกำไรพุ่งมากกว่าเท่าตัว สวนทางกับการบริการที่เกิดปัญหามากมาย

คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะจะมาทำเป็นทองไม่รู้ร้อนในความเดือดร้อนของชาวบ้านไม่ได้

ยิ่งเป็นธุรกิจผูกขาดได้รับสัมปทานจากรัฐก็ไม่ควรมุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไร แต่เพิกเฉยต่อการปรับปรุงบริการที่ดีต่อผู้บริโภค

ยิ่งเห็นข่าวกรณีรถร่วม ขสมก.เกิดปัญหาให้บริการแย่ๆ กับผู้โดยสาร ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจทั้งหลายทำหน้าขึงขังจะเอาเป็นเอาตาย

แต่พอเกิดกรณีรถไฟฟ้าถ้ามาทำเป็นนิ่งเฉย ก็เสียเที่ยวที่เป็นรัฐบาลจากรัฐประหาร…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image