‘วิกฤต’ ร.ร.-มหา’ลัยเอกชน : ‘รอด-ไม่รอด’ วัดใจรัฐบาล??

“วิกฤต” ของสถานศึกษาเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ดูเหมือนจะ “รุนแรง” มากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

จนถึงขั้นสถานศึกษาเอกชนหลายแห่งต้องทยอย “เลิกจ้าง” ครู

แต่ในสถานศึกษาเอกชนขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่เกิดวิกฤตรุนแรง อาจไปไกลถึงขั้น “ยุบเลิก” กิจการ

เนื่องจากปัญหาที่เกิดต่อเนื่องมายาวนาน นั่นคือจำนวน “นักเรียน” และ “นักศึกษา” ในสถานศึกษาเอกชน “ลดลง” อย่างน่าใจหายในทุกระดับการศึกษา

Advertisement

ซึ่งเกิดจากจำนวนประชากรในวัยเรียนลดน้อยลงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

จากเดิมที่มีประชากรวัยเรียนอยู่ในระบบโรงเรียน อยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหลายล้านคน และจบชั้น ม.6 กว่า 1 ล้านคน

ถือเป็น “ยุคทอง” ของสถาบันการศึกษาเลยก็ว่าได้

Advertisement

ทำให้ทั้งรัฐ และเอกชน แข่งกันจัดตั้งสถาบันการศึกษา เพื่อรองรับเด็กในวัยเรียนที่มีจำนวนมหาศาล

แต่เมื่อยุคแห่งความเฟื่องฟูหมดไป ปัจจุบันมีนักเรียนที่จบชั้น ม.6 ลดลงกว่าครึ่ง

เหลือเพียง 5 แสนกว่าคน และเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐ และเอกชน เพียง 3 แสนกว่าคน

สถานศึกษาที่มีอยู่ จึงมากเกินกว่าความต้องการ

ทำให้การเปิดศึก “แย่งชิง” นักเรียน และนักศึกษา ระหว่างสถานศึกษารัฐ และเอกชน รุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

ถึงขั้นที่ผู้บริหาร “ไม่” มองหน้ากัน และไม่ยอมทำงานด้วยกัน

โดย “โรงเรียนเอกชน” ที่แม้เปิดภาคเรียนไปแล้วเป็นเดือน นักเรียนก็ยังทยอย “ลาออก” เพื่อไปเรียนโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

จนสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) สมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมการศึกษาเอกชนทั่วประเทศ

ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐบาลช่วยด่วน

เพราะโรงเรียนสังกัด สพฐ.แย่งเด็กไปไม่จบไม่สิ้น

ขณะที่ผู้บริหาร “วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน” ก็โอดครวญ ว่าตั้งแต่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

มีคำสั่งเรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ให้ย้ายไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

ก็ดูเหมือนจะประสบปัญหารอบด้าน และไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

ทั้งนักศึกษาลดลง ไม่มีสิทธิเข้าไปแนะแนวในโรงเรียนเหมือนสถานศึกษาอาชีวะของรัฐ และยังต้องเสียภาษีอีกมากมาย

ส่วน “มหาวิทยาลัยเอกชน” ไม่ต้องพูดถึง เพราะคร่ำครวญเกี่ยวกับปัญหานักศึกษาลดน้อยลงมานับ 10 ปีแล้ว

จนถึงขั้นต้องทำโปรโมชั่น ลด แจก แถม เพื่อดึงดูดคนเข้าเรียน

“ลดค่าเทอม”
ก็แล้ว
“แจกโน้ตบุ๊ก” ก็แล้ว
“แถมทุนการศึกษา” ก็แล้ว

แต่ก็ทำได้เฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น และแม้จะทำทุกวิถีทางแล้ว

ว่ากันว่ามหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เคยรับนักศึกษาได้ปีละกว่า 1 หมื่นคน ปีที่แล้วรับนักศึกษาได้เพียง 3,000 กว่าคน

ปีนี้คงไม่ต้องพูดถึง

ส่วนมหาวิทยาลัยขนาดเล็กคง “กระอัก” ไปตามๆ กัน

ปัญหาดังกล่าวเข้าขั้น “โคม่า” เกินกว่าที่ ศธ.จะแก้เพียงลำพัง

คงถึงเวลาที่ “รัฐบาล” ต้องออกโรงช่วยเหลือ

เพราะหากไม่เร่งแก้วิกฤตที่เกิดในขณะนี้

ท้ายที่สุด สถานศึกษาเอกชน..ทุกระดับ คง “ไม่รอด” !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image