บอลโลกกับกฎแฟร์เพลย์ ‘แฟร์’ พอหรือยัง?

นักเตะเซเนกัลโดนใบเหลืองมากกว่าญี่ปุ่น

ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียอาจจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่แค่การแข่งขันรอบแรก 48 นัด ก็มีเหตุการณ์ระดับ “ประวัติศาสตร์” รวมถึงสถิติใหม่ของทัวร์นาเมนต์เกิดขึ้นหลายอย่าง

ในจำนวนนี้คือการผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ของ ญี่ปุ่น หลังคว้าอันดับ 2 ของกลุ่มเอช โดยการใช้ กฎแฟร์เพลย์ เข้ามาตัดสินเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎนี้มา

เท้าความกันสักนิดว่า ในการแข่งขันฟุตบอลโลกหนนี้นั้น สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) กำหนดเงื่อนไขการจัดอันดับทีมในรอบแบ่งกลุ่มเอาไว้ตามเงื่อนไข ดังนี้

1.เรียงตามคะแนนจากเกมเตะทุกนัด

Advertisement

2.ถ้าคะแนนเท่ากันให้เรียงตามผลต่างประตูทุกนัด

3.ถ้าผลต่างประตูเท่ากันอีกให้เรียงตามจำนวนประตูยิงได้ของเกมทุกนัด

กรณีที่เรียงตาม 3 เงื่อนไขข้างต้นแล้วยังมีทีมที่เท่ากันทุกอย่าง ให้เรียงตามเกณฑ์ต่อไป ดังนี้

Advertisement

4.คะแนนเฉพาะแมตช์ที่ทีมซึ่งมีคะแนนเท่ากันเตะกัน (หมายถึง “เฮดทูเฮด” กรณีมี 2 ทีม หรือ “มินิลีก” กรณีมี 3 ทีม)

5.ผลต่างประตูเฉพาะเกมที่ทีมซึ่งมีคะแนนเท่ากันเตะกัน (มินิลีก)

6.จำนวนประตูยิงได้เฉพาะเกมที่ทีมซึ่งมีคะแนนเท่ากันเจอกัน (มินิลีก)

กรณีที่เรียงลำดับตามเงื่อนไขทั้งหมดข้างต้นแล้วยังมี 2 หรือ 3 ทีมที่มีสถิติทุกอย่างเท่ากันอีก (ถ้ามี 2 ทีมแสดงว่าแมตช์ที่เจอกันเสมอกัน) ก็ต้องใช้เกณฑ์ข้อต่อไปเป็นตัวตัดสิน นั่นคือ

7.คะแนนแฟร์เพลย์ โดยใบเหลืองทุกใบจะติดลบ 1 คะแนน, ใบแดงที่เกิดจากใบเหลืองที่ 2 ติดลบ 3 คะแนน, ใบแดงโดยตรง ติดลบ 4 คะแนน, ได้ทั้งใบเหลืองและใบแดงโดยตรง ติดลบ 5 คะแนน ทั้งนี้ นักเตะ 1 คน จะโดนหักคะแนนสูงสุดตามเกณฑ์ข้างต้นเพียงอย่างเดียวต่อ 1 แมตช์ (เช่น ได้ใบเหลืองแล้วมาโดนใบเหลืองที่ 2 ไล่ออกจากสนาม จะติดลบ 3 คะแนน ไม่ใช่เอาคะแนนติดลบ 1 จากใบเหลืองแรกมารวมด้วย)

หากเกิดความบังเอิญที่คะแนนแฟร์เพลย์ของทั้ง 2 ทีมยังเท่ากันอีก จะตัดสินด้วยวิธีสุดท้าย นั่นคือ

8.จับสลากหาทีมเข้ารอบ

สำหรับการจัดอันดับทีมในกลุ่มเอชในเวิลด์คัพหนนี้นั้น ลงล็อกตามเงื่อนไขพอดี เนื่องจากญี่ปุ่นและ เซเนกัล ตัวแทนจากทวีปแอฟริกา มีสถิติชนะ 1 เสมอ 1 แพ้ 1 มี 4 คะแนนเท่ากัน ยิงประตูได้ 4 ลูก เสียประตู 4 ลูกเท่ากัน และในการเจอกันเองก็เสมอกันมา 2-2 ทุกอย่างจึงเท่ากันหมด ต้องตัดสินด้วยกฎแฟร์เพลย์ซึ่งปรากฏว่า ญี่ปุ่นมีคะแนน -4 ส่วนเซเนกัล -6 เนื่องจากโดนใบเหลืองมากกว่า 2 ใบ ญี่ปุ่นจึงมีอันดับเหนือกว่า เป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม ตาม โคลอมเบีย แชมป์กลุ่มที่มี 6 คะแนน เข้ารอบไปในที่สุด

ตารางคะแนนกลุ่มเอช (เครดิตภาพ twitter @fifaworldcup)

ย้อนไปใน ฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังไม่ได้นำกฎแฟร์เพลย์มาประกอบการจัดอันดับทีม โดยถ้าถึงเงื่อนไขข้อ 6 คือเปรียบเทียบจำนวนประตูยิงได้เฉพาะแมตช์ซึ่งทีมที่มีแต้มเท่ากันเจอกันเองแล้วยังเท่ากันอีก ก็จะหาทีมเข้ารอบด้วยการจับสลากทันที

การใช้กฎแฟร์เพลย์มาประกอบการตัดสินใจเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่อง “น้ำใจนักกีฬา” ก่อนจะไป “วัดดวง” ด้วยการจับสลากเลยนั่นเอง

พิจารณาเผินๆ แนวคิดนี้ถือว่ายุติธรรมดี และเป็นการให้ความสำคัญกับทีมที่เล่นกันขาวสะอาดกว่า แต่กฎแฟร์เพลย์กลับมี “ช่องโหว่” ที่คาดไม่ถึงมากมาย

ประการแรกสุดคือ เงื่อนไขการจัดอันดับข้อ 1-6 ล้วนอยู่ที่ตัวนักเตะเป็นหลัก จะแพ้-ชนะ ยิงประตูได้มากน้อยขนาดไหนก็อยู่ที่ความสามารถของนักเตะทั้ง 2 ทีม แต่กฎแฟร์เพลย์นั้น อำนาจอยู่ที่ผู้ตัดสินว่าจะมองว่าจังหวะฟาวล์แต่ละครั้งสมควรเป็นใบเหลืองหรือใบแดงหรือไม่ บางทีถ้ามองไม่เห็นจังหวะนั้น (และกรรมการที่ห้องดู “วีเออาร์” ก็ไม่ได้ทักท้วง) ก็อาจจะไม่มีการลงโทษเกิดขึ้น วิจารณญาณของกรรมการก็ใช่ว่าจะถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ และปัจจัยรอบข้างหลายๆ อย่างก็อาจจะมีอิทธิพลกับการตัดสินใจแต่ละครั้งด้วย

เช่น ในสเปนเคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งว่า กรรมการมักจะแจกใบเหลืองให้นักเตะทีมเยือนมากกว่าทีมเหย้า ถ้าสนามแข่งขันนั้นไม่ใช่สนามกีฬาอเนกประสงค์ที่มีลู่วิ่งคั่นกลางระหว่างอัฒจันทร์กับสนามฟุตบอล หมายความว่า กรรมการอาจจะหวั่นใจลึกๆ ว่าถ้าตัดสินขัดใจแฟนบอลเจ้าถิ่นก็เสียวจะโดนแฟนที่ไม่พอใจกระโดดจากอัฒจันทร์ลงมาหาเรื่องในสนาม

มาร์ก แคลทเทนเบิร์ก อดีตเชิ้ตดำชื่อดังของพรีเมียร์ลีก เปิดเผยกับสำนักข่าว บีบีซี ว่า ในเกมบิ๊กแมตช์ระหว่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ กับ เชลซี เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2016 ซึ่งลงเอยด้วยผลเสมอ 2-2 เป็นแต้มสำคัญที่ทำให้สเปอร์สหมดลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก และเป็น เลสเตอร์ ซิตี้ ที่เข้าวินนั้น ตนเลี่ยงที่จะไม่แจกใบเหลืองที่ 2 ให้นักเตะสเปอร์ส 3 คน เพราะไม่อยากตกเป็น “แพะ” โดนสื่อและแฟนบอลรุมจวกว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้สเปอร์สชวดแชมป์

มาร์ก ฮัลซีย์ อดีตเชิ้ตดำเมืองผู้ดีอีกรายเล่าให้ ซีเอ็นเอ็น ฟังว่า ระหว่างทำหน้าที่ในเกมพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 2011 เคยมีนักเตะคนหนึ่งเข้ามาของร้องให้แจกใบเหลืองให้ตัวเองเพื่อจะได้ติดโทษแบนพลาดเกมเตะวันอังคาร เพราะหากไม่โดนใบเหลืองในเกมนั้นแล้วไปโดนลงโทษในแมตช์วันอังคารแทน เขาก็จะพลาดลงสนามเกมดาร์บี้แมตช์ในวันเสาร์ ตนเลยบอกให้เล่นถ่วงเวลา และแจกใบเหลืองให้ ซึ่งหลังจบเกมวันนั้นนักเตะคนดังกล่าวก็เข้ามาขอบคุณ

นี่ยังไม่รวมประเด็นที่หลายสื่อมองว่าบ่อยครั้งนักเตะจากทวีปแอฟริกาก็มักตกเป็นเป้า “อคติ” จากกรรมการและแฟนๆ มากกว่า อาจจะด้วยจุดเด่นที่ตัวใหญ่ เลยดูเหมือนฟาวล์หนัก รวมทั้งไม่อาจปฏิเสธได้ว่ายังมีปัญหาการเหยียดผิวในหลายๆ พื้นที่ของวงการลูกหนังด้วย

อีกหนึ่งประเด็นเกี่ยวกับกฎแฟร์เพลย์ที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ ระหว่างการแข่งขันนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอช ซึ่งเตะพร้อมกัน 2 สนาม สกอร์ฝั่งญี่ปุ่นตามโปแลนด์ที่ตกรอบไปแล้ว 0-1 ส่วนเซเนกัลตามโคลอมเบีย 0-1 เช่นกัน ตอนนั้นแข้งปลาดิบรู้ดีว่าพวกเขาได้เปรียบเซเนกัลตรงจำนวนใบเหลือง ช่วงท้ายเกมกุนซือ อากิระ นิชิโนะ จึงสั่งให้ลูกทีมเคาะบอลกันไปมา ไม่บุกและไม่ปล่อยให้โปแลนด์ได้บอล จนโดนแฟนบอลโห่ และโค้ชทีมซามูไรต้องออกมาขอโทษในภายหลัง

กลายเป็นว่า กฎแฟร์เพลย์ที่ควรส่งเสริมน้ำใจนักกีฬา กลับทำให้นักเตะขาดสปิริตและจิตวิญญาณของกีฬาฟุตบอลอย่างที่ควรจะเป็น

เดือดร้อนถึงฟีฟ่าต้องออกมาปกป้องระบบของตัวเอง โดยยืนยันว่าตัวกฎหรือแนวคิดเบื้องหลังไม่มีอะไรเสียหาย แต่อาจจะมาพิจารณาในรายละเอียดของการใช้งานอีกครั้ง

เพื่อให้กฎแฟร์เพลย์มัน “แฟร์” สมเจตนารมณ์นั่นเอง

แข้งปลาดิบเข้ารอบท่ามกลางเสียงวิจารณ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image